ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันถึงความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ล่าสุดการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้เจรจากับกลุ่มทรู จนยินยอมให้ทีวิดิจิทัลช่องอื่น ถ่ายทอดสดร่วมกันแบบคู่ขนาน ในการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้ง 16 คู่
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีปมวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ในการที่กลุ่มทรู สามารถเลือกคู่ถ่ายทอดสดได้ โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไป 300 ล้านบาท ร่วมกับเอกชนรายอื่นรวม 700 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีเงินสมทบจากกองทุนของ กสทช. อีก 600 ล้านบาท เลยมีคำถามถึงความเท่าเทียม ที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด
“สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการนโยบาย สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ข้อมูล “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า การที่กลุ่มทรู ยอมให้ทีวีดิจิทัลรายอื่น ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบคู่ขนานอีก 16 คู่ ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ยังต้องจับตาประเด็นอื่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเท่าเทียมมากที่สุด เพราะเงินกองทุนที่ กสทช. จ่ายไปเป็นเงินที่ได้จากประชาชน
การใช้เงินของ กสทช. 600 ล้านบาท ถือเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่มีการอ้างว่าเพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสเข้าถึง แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับมีเงื่อนไขในการเข้าถึงการถ่ายทอดสด เช่น ไม่สามารถดูได้ผ่านอินเทอร์เน็ตของผู้บริการรายอื่น ดังนั้นการสร้างเงื่อนไขของเอกชน จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
...
อีกความผิดพลาดของ กสทช. เป็นการสร้างความแตกแยกในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมระยะยาว เพราะ กสทช. เหมือนให้เงินเปล่า โดยไม่มีการสร้างเงื่อนไข เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเท่าเทียม
“การที่ กสทช. เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ โดยให้เงินแล้วจบกันแบบนี้ไม่ได้ ขณะเดียวกันการกีฬาแห่งประเทศไทย ควรแสดงท่าทีเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เพราะเงิน 600 ล้านบาท ที่มาขอสนับสนุนจาก กสทช. เป็นเงินจากประชาชน โดยเงินเหล่านี้ต้องใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น แม้ช่องทีวีที่ไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม แต่พวกเขามีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุน เพราะเงินกองทุนส่วนหนึ่ง มาจากช่องทีวีเหล่านี้ด้วย”
อีกประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงในกลุ่มผู้บริโภค คือการให้ช่องที่มีความคมชัดแบบ HD ถ่ายทอดสดมากขึ้น เพราะช่องทีวีของรัฐ เช่น ช่อง NBT (เอ็นบีที) หรือช่องไทยพีบีเอส สามารถถ่ายทอดสดแบบระบบ HD ได้ ส่วนช่อง HD ของเอกชนที่สนใจ ควรมีการเจรจา เพื่อตกลงกันอย่างเป็นธรรมมากที่สุด
“ตราบใดที่ กสทช. ยังไม่เซ็นเช็ค 600 ล้านบาท ควรสร้างแพ็กเกจการถ่ายทอดสดที่เป็นธรรม โดยต้องเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และควรมีองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ดังนั้นขณะนี้ยังไม่ถือว่าสายเกินไป แต่ กสทช. ควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการเปิดโต๊ะเจรจามากกว่านี้ เพราะขณะนี้ทีวีของไทยไม่ได้อยู่ในยุคของสัมปทานเหมือนเก่า แต่อยู่ในยุค กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
วิกฤติความเป็นธรรมครั้งนี้ หาก กสทช. ไม่สร้างความเป็นธรรมที่ชัดเจน อาจมีปัญหาในการฟ้องร้องตามมาได้ เพราะที่ผ่านมากลุ่มทีวีดิจิทัลเคยรวมกลุ่มกันฟ้องร้องมาแล้ว และจะส่งผลกระทบต่อธรรมาภิบาล ที่เป็นผลต่อภาพรวมในอุตสาหกรรมได้
“ฝั่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบ 100% แต่การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมมากเกินไป และต่อจากนี้ควรมีการเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมทีวีของไทยในอนาคตต่อไป”.