การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการนับหนึ่ง การปลดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด แต่ยังคงควบคุมสารสกัดจากกัญชาที่มีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% ยังถือว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งหลังจากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ทำให้หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความกังวล เนื่องจากเป็นการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด โดยที่ยังไม่มีกฎหมาย ในการควบคุมที่ชัดเจนมารองรับ จนกลายเป็นสุญญากาศ ถึงขั้นมีการตั้งคำถามว่า  ประเทศไทย เป็นประเทศ "กัญชาเสรี" หรือไม่?

แม้ในขณะนั้น จะมีการเร่งผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง" คู่ขนานไปพร้อมๆ กัน แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภา ทำให้เกิดกระแสข้อถกเถียงเรื่อง ผลดี ผลเสีย ของกัญชา เกิดขึ้นแบบรายวัน โดยเฉพาะ ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาได้อย่างเสรี   

เมื่อการซื้อ-ขาย กัญชา กลายเป็นกระแสทันทีหลังการปลดล็อก ทั้งการนำกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เกิดธุรกิจซื้อ-ขาย การสูบกัญชาเพื่อสันทนาการมีให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวและย่านธุรกิจ รวมถึงเกิดความกังวลว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย เป็นประตูบานแรกในการก้าวขาไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่น และมีการเรียกร้องให้นำกัญชา ย้อนกลับไปสู่การเป็นยาเสพติดเช่นเดิม

...

ส่วนฝั่งที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา ก็มีทั้งฝั่งที่สนับสนุน การใช้กัญชาทางการแพทย์ และการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแปรรูป รวมทั้งกลุ่มที่ใช้เพื่อสันทนาการ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีการลงทุน ลงแรง ปลูกกัญชาและเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

เมื่อกระแส การใช้ “กัญชา” ถูกจุดติดและมีการใช้มากขึ้น ทำให้หลังจากการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดได้ไม่นาน มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ให้กัญชาทุกส่วน รวมถึงสารสกัดจากกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไปสามารถครอบครองใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่าย แต่ห้าม สูบกัญชาในที่สาธารณะ ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายกับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

แม้จะมีประกาศฉบับนี้ออกมา ก็ยังไม่ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการใช้กัญชาหมดไป  ทำให้สถานที่ราชการ สถานประกอบการ  ห้างร้าน ภาคธุรกิจ ต่างออกข้อปฏิบัติของตัวเอง เพื่อจำกัดการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลเสียต่อสังคมส่วนรวมได้

กระทั่ง 5 เดือนถัดมา "นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข" ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 11 พ.ย.65 และได้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 ฉบับเก่า เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เป็นสมุนไพรควบคุมแล้ว ยังเห็นว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ควรมีการควบคุมไมให้นำกัญซา โดยเฉพาะ ช่อดอก ไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์  

โดยสาระสำคัญที่เพิ่มเติมประกาศฉบับเดิม คือ การเปลี่ยนจากพืชสมุนไพรควบคุมทุกส่วน มาควบคุมเฉพาะส่วนดอกของกัญชา ผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือ แปรรูป ต้องได้รับอนุญาตและจัดเก็บข้อมูล แจ้งแหล่งที่มาและการนำไปใช้ ห้ามจำหน่ายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร และห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ห้ามสูบสมุนไพรควบคุมในสถานประกอบการ และห้ามขายผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ รวมทั้งการข่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ และห้ามโฆษณา รวมทั้งห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม ในสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก

...

แม้จะมีการ ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับใหม่ เพื่อหวังควบคุมการใช้กัญชา โดยเฉพาะส่วนช่อดอก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มีสารออกฤทธิ์อยู่จำนวนมาก ไม่ให้นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ทางอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็ยอมรับว่า ประกาศฉบับนี้ ที่ควบคุมช่อดอกกัญชา จะบังคับได้เฉพาะผู้ที่มาขออนุญาตเท่านั้น แต่กรณีที่มีการปลูกเองตามบ้าน ยอมรับว่า ประกาศฉบับนี้ ยังเข้าไปบังคับไม่ได้ ทำให้ประเด็นนี้ เกิดคำถามตามมาว่า อาจกลายเป็นช่องโหว่ให้ไปหาช่อดอกกัญชาจากแหล่งที่ไม่ได้ขออนุญาตหรือไม่?

...

ขณะเดียวกัน การเกิดความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ที่จะมาควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทำให้มีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการเรียกร้องให้เร่งคลอดกฎหมายที่มีรายละเอียดชัดเจน ในการควบคุมการใช้กัญชาในทุกมิติ อย่าง "แนวร่วมเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย" ที่ได้แสดงจุดยืน เรียกร้องไม่ให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และประเด็นสำคัญ คือ ต้องเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ขณะนี้ ยังอยู่ในสภา ให้มีการบังคับใช้เร็วที่สุด เพื่อเป็นกลไกการควบคุมกัญชา

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิก : varanya.p

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง