“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ปชป. คนปัจจุบัน ที่กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก จากสถานการณ์ที่สมาชิกหลายคนไหลออกไปอยู่พรรคใหม่ เปรียบเสมือนเรือที่กำลังเผชิญมรสุมและลูกเรือกำลังทยอยสละเรือ จนเป็นที่จับตามองว่า จากประสบการณ์ และประวัติของ “จุรินทร์” ที่เป็นนักการเมืองลูกหม้อของพรรคเก่าแก่แห่งนี้ จะนำพาพรรคให้ผ่านพ้น เพื่อพบกับคลื่นลมที่สงบนิ่งและแล่นต่ออย่างมั่นคงได้หรือไม่

หากย้อนดูประวัติ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นั้นเพิ่งรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 นับเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ของพรรคการเมืองที่มีอายุถึง 76 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 เป็นพรรคที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญไม่เคยถูก “ยุบพรรค” แม้จะมีบางครั้งฉิวเฉียดก็ตามที

ที่สำคัญพรรคที่มีสัญลักษณ์เป็นแม่พระธรณีบีบมวยผมนี้ ยังเป็นโรงเรียนสร้างนักการเมืองฝีปากกล้ามาแล้วหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกรัฐมนตรี “ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” และ “วีระ มุสิกพงศ์” หรือรุ่นกลางอย่าง “พีรพันธุ์ พาลุสุข” “จาตุรนต์ ฉายแสง” และ “สุชาติ ตันเจริญ” หรือรุ่นใหม่อย่าง “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ต่างก็เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กันทั้งนั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคเพียง 8 คนเท่านั้น ไล่เรียงตั้งแต่คนแรกคือ “ควง อภัยวงศ์” ตามมาด้วย “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช”, พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์, พิชัย รัตตกุล, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และล่าสุดคือ “จุรินทร์” หลังจาก “อภิสิทธิ์” อดีตหัวหน้าพรรค แสดงความรับผิดชอบผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อปี 2562 ที่กวาดจำนวน ส.ส. ได้เพียง 52 ที่นั่ง น้อยกว่าพรรคเกิดใหม่ในปีนั้นอย่าง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่

...

ภาพในอดีตเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในการโชว์วิสัยทัศน์ของผู้ลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ไล่เรียงจากซ้ายไปขวา คือ พีรพันธ์ุ อภิรักษ์ กรณ์ และจุรินทร์
ภาพในอดีตเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในการโชว์วิสัยทัศน์ของผู้ลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ไล่เรียงจากซ้ายไปขวา คือ พีรพันธ์ุ อภิรักษ์ กรณ์ และจุรินทร์

จนมีการเลือกหัวพรรคใหม่ "จุรินทร์" ชนะคู่แข่งอย่าง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แบบคะแนนขาดลอยจากผู้มีสิทธิ์โหวต 309 คน ที่ “จุรินทร์” มาอันดับ 1 กวาดคะแนนไปกว่า 50.59% “พีระพันธุ์” ได้ 37.21% กรณ์ 8.48% และอภิรักษ์ 3.69%

หากย้อนดูวิสัยทัศน์ อันนำมาซึ่งคะแนนท่วมท้นจนได้นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคของ “จุรินทร์” ที่เคยกล่าวไว้นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยถ้อยความที่ว่า

“ถ้าได้เป็นหัวหน้าพรรค จะหยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนที่ทำงานหนักเพื่อพรรค โดยไม่จำเป็นว่าท่านจะอยู่ฝ่ายไหน หรือเป็นเด็กของใคร ถ้าเลือกผม ประชาธิปัตย์ ต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีต้องรักษา อะไรไม่ดีต้องเปลี่ยน อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องไม่เปลี่ยน อุดมการณ์การทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต้องไม่เปลี่ยน แต่นโยบายวิสัยทัศน์ต้องเปลี่ยน และระบบบริหารจัดการต้องเปลี่ยน ระบบ Big Data และ AI ต้องถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจทั้งในทางบริหารและการเมือง

หมดยุคซุปเปอร์แมนแล้ว ยุคต่อไปต้องเป็นยุคของอเวนเจอร์ส ซุปเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องมาร่วมมือกัน จับมือกันเป็นอเวนเจอร์ส กรณ์ อภิรักษ์ และพีระพันธุ์ จะเป็นซุปเปอร์ฮีโร่หนึ่งในทีมอเวนเจอร์สนี้”

แต่ปัจจุบันนี้สมาชิกพรรค ที่ “จุรินทร์” เอ่ยชื่อถึงนั้น โบกมือลาประชาธิปัตย์ไปหมดแล้ว

จุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกรรมการบริหารพรรค ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562
จุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกรรมการบริหารพรรค ร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2562

...


เลือดไหลออก จากกลุ่ม 10 มกรา 2522 ถึงปี 2565

เรียกว่าเป็นการคำประกาศที่น่าจะได้ใจและสร้างความหวังให้สมาชิกพรรค แต่กลายเป็นว่า เลือดเริ่มไหลออก แม้จะไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์ของกลุ่ม 10 มกรา ที่ก่อตั้งโดย “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” ในปี 2522 ที่ช่วงนั้นยกพลลาออกจากพรรคไปถึง 40 คน จากความไม่พอใจหัวหน้าพรรคที่ชื่อ “พิชัย รัตตกุล” ก็ตามที แต่ดูเหมือนในยุค “จุรินทร์” นี้ แม้ไม่ยกโขยงลาออก แต่หลายคนก็ถือว่าเป็นคนสำคัญของพรรค ไม่ว่าจะเป็น “สมชัย ศรีสุทธิยากร” รวมถึงสมาชิกกลุ่มนิวเด็ม ภายใต้การนำของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ หลาน “อภิสิทธิ์” ตามมาด้วยอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” และ “อุเทน ชาติภิญโญ”

ที่สำคัญและทำให้พรรคสะเทือนมากยิ่งขึ้น เพราะ “อเวนเจอร์ส” ทั้งหลายที่ “จุรินทร์” เคยประกาศไว้ในการขอผู้นำเหล่าฮีโร่ไม่ว่าจะเป็น “กรณ์” หรือ “พีระพันธุ์” ต่างก็ตบเท้าออกเช่นกัน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ถูกเอ่ยอ้างว่าอยู่ในทีมอเวนเจอร์ส แต่ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพรรคทั้ง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” และล่าสุดคือ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” ที่อยู่กับพรรคจนเสมือนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ก็โบกมือลาแล้ว

ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่ “จุรินทร์” รับเข้ามาและหวังปลุกปั้นให้เป็น “เสาหลัก” อย่าง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” บุตรชายของ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก อดีตลูกหม้อประชาธิปัตย์ก็ต้องมีข่าวฉาวไม่มีทางเลือกต้องยุติบทบาททั้งหมด และแม้ล่าสุดจะพยายามปลุกปั้น “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” หรือ ดร.เอ้ และ “วทันยา บุนนาค” หรือมาดามเดียร์ เพื่อหวังฟื้นความนิยมของคนกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อเทียบชั้นกับผู้ที่โบกมือลาจากพรรคไปแล้ว ก็ต้องบอกว่าคนละเกรดเหมือนเส้นเลือดแดงใหญ่กับเส้นเดือดแดงฝอยอย่างไรอย่างนั้น

...

ประวัติ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” บนเส้นทางการเมืองที่เติบโต

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังถ่ายเลือด แต่ “จุรินทร์” ยังคงมั่นคง และเติบโตในเส้นทางการเมือง ในวัย 66 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2499

“จุรินทร์” นั้นเรียกได้ว่ามีฐานที่มั่นในพื้นที่อย่างยิ่ง เพราะเกิดและเติบโตใน อ.ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เขาเป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง 9 คน ของ “วีระ” และ “สุรางค์ ลักษณวิศิษฏ์” เรียนชั้นประถมศึกษา และจบมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนศิริราษฎร์วิทยา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา สอบได้ที่ 1 ของจังหวัด ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี “สิงห์แดง” รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ในมุมที่คอการเมืองรู้จักกันดี คือ เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษา “จุรินทร์” เป็นนักเขียนการ์ตูนการเมือง ใช้นามปากกาว่า "อู๊ดด้า" ซึ่งเป็นฉายาที่มักเรียกจนติดปากมาจนทุกวันนี้ ส่วนชีวิตครอบครัวนั้น สมรสกับ “อรอนงค์ ลักษณวิศิษฏ์” มีบุตรี 2 คน คือ กันต์กวี ลักษณวิศิษฏ์ (ไอซ์) และ อรจรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (เอ๊ะ)

เริ่มทำงานการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็น ส.ส.พังงา สมัยแรก เมื่อปี 2529 และถูกโหวตเป็น ส.ส.ดาวรุ่ง จากสื่อมวลชนสายรัฐสภา และเป็นเจ้าของพื้นที่ ส.ส.พังงา มาแล้ว 6 สมัย ก่อนย้ายไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในปี 2544 โดยเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับต้นๆ มาแล้ว 6 สมัย และเป็นรองหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี 2546 มานานถึง 16 ปี

...

ในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย 1 ปี 2535 ได้รับความไว้วางใจให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถือว่าเป็นรัฐมนตรีดาวรุ่ง และน่าภูมิใจไม่น้อย เพราะหากถามถึงช่วงเวลานั้น “จุรินทร์” ก็จะบอกได้ว่า “ตอนนั้นอายุแค่ 36 ปีเท่านั้นเอง” จากนั้นหากประชาธิปัตย์ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไร “จุรินทร์” ก็ได้นั่งเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีเสมอ ซึ่งต่อจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาในรัฐบาลชวน สมัยที่ 2 ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนโยกไปเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเลือกตั้งปี 2562 "จุรินทร์" ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้วยฐานะความมั่งคั่งที่แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ไว้นั้น มีทรัพย์สิน 39,786,785.63 บาท และหนี้สิน 8,268,247.03 บาท

รองนายกฯ จุรินทร์ เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมประชุมครม.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
รองนายกฯ จุรินทร์ เดินเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อร่วมประชุมครม.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เดิมพันพาประชาธิปัตย์กลับมา
การเป็นนักการเมืองที่ต้องเจอเรื่องราวมากมาย และอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย ยิ่งต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์เพื่อฐานเสียงที่มั่นคง ทำให้ทุกวันนี้ “จุรินทร์” พยายามลงพื้นที่พบปะผู้คน ที่ไม่เพียงพี่น้องเกษตรกร แต่ยังหาพันธมิตรกลุ่มนักธุรกิจอีกด้วย แม้จะบอกกับคนรอบข้างว่า เหนื่อย ถึงขั้นที่พูดว่าตอนนี้มีเวลาพัก ก็คือการนอนหลับเท่านั้น แต่นี่คืองานการเมืองที่เขาต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า “จุรินทร์” ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.ที่เก่าแก่ที่สุดคงต้องทำงานอย่างหนักกว่าที่เห็น นอกจากต้องต่อสู้กับพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคที่ไม่เผาผีระหว่างกันอย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคอนาคตใหม่” แล้ว ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันอย่าง ภูมิใจไทย ที่ถึงขนาดที่ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี แทบจะไม่มองหน้ากัน หันไปคนละทิศจนคอเคล็ดกันไปตามๆ แล้ว ยังต้องมาเจอการแข่งขันกับคนเคยกินข้าวหม้อเดียวกันที่ย้ายไปตั้งพรรคใหม่อีกมากมาย

สำคัญกว่าสิ่งใดยังเดิมพันสูง ที่ยังไม่ต้องมองไกลถึงเป้าหมายเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวัดพลังว่า พรรคเก่าแก่นี้จะได้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต หรืออาจกลายเป็นเพียงพรรคระดับกลางค่อนไปทางเล็ก และเล็กที่สุด และแน่นอนว่าจะส่งผลพลิกผันให้มีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคคนใหม่อีกก็เป็นได้

เพราะดูเหมือนว่าบทบาทของ “จุรินทร์” ที่เคยประกาศว่า จะเป็นผู้นำอเวนเจอร์สทั้งหลาย ตอนนี้เริ่มกลับกลายเป็น “ธานอส” ที่ดีดนิ้วแล้วทำให้เหล่าฮีโร่ทั้งหลายหายไปกับสายลม แม้แต่กลุ่มที่เคยเป็นพวกเดียวกัน