ชื่อของ "กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส." ถูกพูดถึง และจับตามอง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกองทุนแห่งความหวังของคอฟุตบอลชาวไทย เพราะถือเป็นแหล่งเงินทุนตั้งต้น 600 ล้านบาท จากที่ "การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท." ขอไป 1,600 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อลิขสิทธิ์ “ฟุตบอลโลก 2022” มาให้คนไทยได้ชม
กองทุน กทปส. จัดตั้งขึ้นมีหน้าที่อะไร? และมีเงินมากมายขนาดไหน? ทำไม กกท.จึงได้ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้สูงถึง 1,600 ล้านบาท!! ?
“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ตรวจสอบข้อมูลพบว่า "กทปส." เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560
...
ตั้งกองทุน กทปส.เพื่ออะไร?
1.ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชน และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน
2.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัย และพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
3.ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลาการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กร ซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทาง จริยธรรมของการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
4.สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
5.สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
6.สนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสนับสนุนการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่มีผู้ได้รับอนุญาตไป เพื่อนํามาจัดสรรใหม่ และสนับสนุนการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้คลื่นความถี่
แหล่งที่มาของเงินทุน กทปส.มาจากไหน?
- ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
- เงินที่ได้รับการจัดสรรจากรายได้สํานักงาน กสทช.
- เงินค่าปรับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม
- เงิน หรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
- เงินที่ส่งเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ผู้รับใบอนุญาต
- เงินที่ส่งเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมร้อยละ 2.5 ของรายได้ผู้รับใบอนุญาตโทรคมนาคม
- เงินรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับคืนภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว
- ดอกผลและรายได้ของกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
- เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน
ข้อมูลจากรายงานแสดงประสิทธิภาพและประสิทธิผลกองทุน ประจำปี 2564 ระบุว่า กองทุนได้รับเงินจำนวน 15,166.15 ล้านบาท ประกอบด้วย
- เงินจากการจัดสรรจากสำนักงาน กสทช. 1,100.00 ล้านบาท
- เงินสมทบจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 7,387.14 ล้านบาท
- ดอกผลจากกองทุน 410.64 ล้านบาท
- เงินรับจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 691.54 ล้านบาท
- เงินได้รับคืนจากสำนักงาน กสทช.ยืม 5,514.34 ล้านบาท
- อื่นๆ 62.48 ล้านบาท
...
เมื่อตรวจสอบรายได้ของกองทุน พบว่า ปี 2564 กองทุนมีรายได้ 8,826.26 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 2,919.42 ล้านบาท ฐานะการเงินมีสินทรัพย์รวม 113,990.21 ล้านบาท หนี้สินรวม 69,639.04 ล้านบาท
ปี 2563 กองทุน มีรายได้ 41,089.60 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 8,535.87 ล้านบาท ฐานะการเงินของกองทุน มีสินทรัพย์รวม 105,396.36 ล้านบาท หนี้สินรวม 66,952.03 ล้านบาท
ปี 2562 กองทุนมีรายได้ 15,401.71 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 3,012.71 ล้านบาท ฐานะการเงินของกองทุน มีสินทรัพย์รวม 67,165.10 ล้านบาท หนี้สินรวม 61,274.50 ล้านบาท
ขณะที่ สถานะ "เงินคงเหลือ" ของกองทุนย้อนหลัง จากรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน พบว่า
เมื่อ 31 ธันวาคม 2562 กองทุนมีเงินคงเหลือ 49,629.51 ล้านบาท
31 ธันวาคม 2563 มีคงเงินเหลือ 54,876.36 ล้านบาท
31 ธันวาคม 2564 มีเงินคงเหลือ 64,376.83 ล้านบาท
และ ณ 31 สิงหาคม 2565 กองทุน กทปส. มีเงินคงเหลือ 63,246.97 ล้านบาท
...
กทปส.ใช้เงินทำอะไรบ้าง?
จากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนที่ต้องการให้เกิดการวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กองทุนจึงเปิดให้มีการยื่นโครงการเพื่อขอรับทุน โดยแบ่งโครงการ 4 ประเภท
ประเภทที่ 1 โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงิน กทปส.
เปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนสามารถยื่นข้อเสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนได้ โดยครอบคลุมด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ในการส่งเสริม สนับสนุนภาคประชาชน ชุมชน การพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้ อาทิ กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสนับสนุน ส่งเสริม และการคุ้มครองผู้บริโภค
ประเภทที่ 2 โครงการที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด
ประเภทที่ 3 โครงการที่ กสทช. ประกาศกำหนด เช่น การให้ทุนเพื่อสนับสนุนให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม การส่งเสริมชุมชนและ สนับสนุนผู้ประกอบการบริการชุมชน การส่งเสริมองค์กรที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามกฎหมาย
ประเภทที่ 4 สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ทุนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 52(5)
...
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2564 มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุน กทปส. ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และท่ีแก้ไขเพิ่มเติม จํานวน 286 โครงการ รวมเป็นเงิน 49,324.39 ล้านบาท
หากดูจากจำนวนเม็ดเงินที่ กองทุน "กทปส." ได้อนุมัติให้กับโครงการต่างๆ ที่ยื่นเสนอขอไปแล้ว มีตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลักหมื่นล้าน ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ กกท.จะขอรับการสนับสนุนเงินเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ "ฟุตบอลโลก 2022" สูงถึง 1,600 ล้านบาท หากแต่ที่มีเสียงทักท้วง! ก็คงเป็นเพราะการอนุมัติเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ "ฟุตบอลโลก 2022" ครั้งนี้ยังตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่า เงิน 600 ล้านบาทที่อนุมัติไปนั้น ตรงกับวัตถุประสงค์ข้อใดของกองทุน?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง