แม้บอร์ด กสทช. จะมีมติโดยเสียงข้างมากอนุมัติวงเงิน 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ก็ยังไม่พอจ่ายค่าลิขสิทธิ์ “ฟุตบอลโลก 2022” ตามที่ “การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท.” ขอรับการสนับสนุน 1,600 ล้านบาท แม้จะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่หวัง แต่ก็เป็นเงินจำนวนมากพอที่ถูกตั้งคำถามมากมาย และมีคนเรียงคิวรอตรวจสอบเรื่องนี้ แม้แต่ในวงการออกเสียงของคนอนุมัติเงินอย่าง บอร์ด “กสทช.” ยังถูกตั้งคำถามว่า การอนุมัติเงินก้อนนี้ ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพราะครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ กสทช. ใช้เงินจากกองทุน กทปส. เพื่อแก้ปัญหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก นับตั้งแต่มีการประกาศ "กฎ Must Have" มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 มกราคม 2556 เพื่อต้องการให้คนไทยมีโอกาสได้รับชมกีฬาที่อยู่ในความสนใจอย่างเท่าเทียม 7 รายการ คือ โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชียนพาราเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก จนเกิดกรณีการฟ้องร้องกับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2014” ด้วยการบังคับให้ถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี จนที่สุด!! ต้องควักเงินกองทุน กทปส. จ่ายชดเชยกว่า 427 ล้านบาท
“กสทช. อยู่กับปัญหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาแล้ว 8 ปี ใช้เงินในการแก้ไขปัญหากับประกาศฉบับเดียวที่มีเนื้อหาเพียงแค่ 3 หน้ากระดาษ ไปแล้ว 1,000 ล้านบาท” เป็นประเด็นที่ "ดร.สิขเรศ ศิรากานต์" นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน สะท้อนกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ถึงปัญหาการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในช่วงที่ผ่านมา
...
"ดร.สิขเรศ" ระบุว่า ปัญหาเกิดจากประกาศของ กสทช.เอง หรือ “กฎมัสต์แฮฟ (Must Have)” ถือว่าเป็นการล้มละลายทางระบบคิดของ กสทช.เองด้วย ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อว่า เป็นการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาหรือไม่? แทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา คือเรื่องของกฎ Must Have จากครั้งแรก ปัญหาเกิดขึ้นกับ บริษัท อาร์เอส ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดใน "ฟุตบอลโลก 2014" ก็ใช้เงินกองทุนชดเชยให้กับอาร์เอสกว่า 427 ล้านบาท เมื่อรวมกับครั้งนี้มีการอนุมัติเงินจากกองทุน กทปส. ให้ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ "ฟุตบอลโลก 2022" อีก 600 ล้านบาท รวมใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาจากประกาศ Must Have ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท
คีย์สำคัญอยู่ที่ว่า เงิน 1,000 ล้านบาท แลกกับการได้เวลาการออกอากาศการถ่ายทอดสดฟุตบอลไม่ถึง 2 เดือน แต่หากนำเงินส่วนนี้ไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการให้เข้าถึงบริการ ซึ่งชื่อกองทุนก็บอกอยู่แล้วว่า "เป็นกองทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาฯ" รายได้ของกองทุนส่วนหนึ่งมาจากภาคกิจการโทรทัศน์ หรือการประมูล และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ประมูล หรือขอใบอนุญาตต้องจ่าย ก็ควรนำไปพัฒนาคุณภาพของกิจการโทรทัศน์ให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน กสทช. ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะใช้อะไรมาเป็นตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ ว่าการถ่ายทอดฟุตบอลโลกเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามวัตถุประสงค์ของกองทุน “เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่าใช้เงินในการแก้ไขปัญหา ด้วยการใช้เงินเพื่อซื้อเนื้อหารายการประเภทเดียว คุ้มค่าหรือไม่?”
เมื่อถามว่า ถึงขั้นต้องยกเลิกกฎ Must Have เลยหรือไม่? "ดร.สิขเรศ" ให้แนวทางในการแก้ไขกับเรื่องนี้ไว้ 3 แนวทาง
1. ยกเลิกไปเลย ซึ่งสามารถทำได้ และปล่อยให้กลไกการตลาดเป็นไปแบบเสรี โดยใช้กฎระเบียบและกฎหมายข้ออื่นๆ ของ กสทช. ในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
2. ปรับปรุงแก้ไข ให้กฎ Must Have เข้ากับบริบททางการตลาด และระบบนิเวศของสื่อ ณ ปัจจุบัน โดยมี กรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีข้อยกเว้นหรือมีระเบียบวิธีการ เพื่อให้ตลาดไปได้ เช่น อังกฤษ มีกฎหมายในลักษณะนี้เหมือนกัน และมีประเภทของรายการมากกว่าบ้านเราด้วย โดยเลือกโฟกัสกับรายการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นหลัก เช่น กีฬาฟุตบอล เทนนิส แข่งม้า และรักบี้ เป็นวัฒนธรรมของคนอังกฤษ ขณะที่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ก็มีกฎคล้ายของบ้านเราเช่นกัน แต่จะระบุไว้ว่า รายการนั้นต้องเป็นการแข่งขันที่นักกีฬาทีมชาติของตนเองเข้ารอบ
...
ส่วนไทยไม่มีคำตอบกับคำถามที่ว่า “ทำไมฟุตบอลโลก ถึงต้องเป็นกีฬาที่อยู่ในกฎ Must Have” หากจะแก้ไข ก็สามารถกำหนดได้ว่าให้ถ่ายทอดเฉพาะนัดพิธีเปิด รอบก่อนรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อลิขสิทธิ์ทั้ง 64 นัด หรือคนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็สามารถทำธุรกิจได้ เช่น ระบุเงื่อนไขให้จำนวนนัดที่ถ่ายทอดฟรีตามกฎข้อบังคับของ กสทช. นอกจากนั้นอยู่ที่ความสมัครใจ ส่วนนัดที่เหลือก็สามารถนำไปทำธุรกิจ
3. คงสภาพไว้ เป็นกรณีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะเกิดการใช้วิธีพิเศษในการแทรกแซงเข้ามาใช้งบประมาณจากฝ่ายการเมืองอยู่ตลอดเวลา และทำให้มูลค่าที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากครั้งที่แล้วที่ต้องใช้เงินกองทุน กทปส. 400 กว่าล้านบาท มาครั้งนี้เพิ่ม 600 ล้านบาท ซึ่งในครั้งหน้าก็อาจจะแพงขึ้นมากกว่านี้
เมื่อถามว่า เป็นการใช้การเมืองเข้ามาล้วงเอาเงินจากกองทุนหรือไม่? "ดร.สิขเรศ" ระบุว่า “พูดได้เลยว่า เป็นการแทรกแซงทางการเมือง และการแทรกแซงทางการตลาด หรือพูดอีกแนวหนึ่งก็คือ การแทรกแซงทางกลไกเศรษฐศาสตร์การเมือง” อย่าง จากกรณีที่ กสทช.แพ้คดีและต้องชดเชยเงินให้กับ บริษัท อาร์เอส ฟุตบอลโลก 2014 ก็มีการใช้อำนาจทางการเมืองจาก คสช.เข้ามาแทรกแซงจนต้องจ่ายเงินชดเชย เป็นการคืนความสุขให้กับคนในชาติผ่านการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
...
เงินรัฐตั้งต้น 600 ล้าน รอเอกชนร่วมโต๊ะแชร์
มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามในการนำเงินของรัฐส่วนหนึ่งมาเป็นลักษณะเงินดาวน์ หรือเปรียบเทียบลักษณะคล้ายกับเป็นเงินโต๊ะจีน จากนั้นก็หาเอกชนมาร่วมลงขันออกเงิน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นลักษณะของโต๊ะแชร์ แล้วก็มีรายใหม่เข้ามาเพื่อจะได้ลดภาระ ประเด็นนี้ประชาชนก็สามารถตั้งคำถามได้ว่า มีคำมั่นสัญญากับภาคการเมืองเอาไว้หรือไม่?
มีเงิน แต่ปัญหายังไม่จบ
นอกจากเรื่องเงิน ยังต้องตั้งคำถามต่อว่า กระบวนการในการจัดสรรช่องทางในการถ่ายทอดกับช่องทีวีดิจิตอลจะทำอย่างไร เนื่องจากเงินซื้อลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณกองทุนจากรัฐ และอีกส่วนเป็นเงินของผู้ประกอบ จะจัดสรรทั้ง 64 นัดอย่างไร หรือจะมีแค่ 3 ช่อง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ อาร์เอสโมเดล หรือควรจะหารเท่าๆกันทุกช่อง เพราะเป็นเงินจากกองทุน กทปส. มันคือเงินหลวง ทีวีบริการสาธารณะแต่ละช่องก็มีสิทธิ์เช่นกัน
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร? "ดร.สิขเรศ" มองว่า นี่เป็นจุดเริ่มของอะไรหลายๆ อย่าง กระบวนการตรวจสอบทุกแง่มุม ต้องไปสู่ กสทช. กกท. และภาคการเมือง เพราะมีการใช้เงินรัฐแล้ว อย่างน้อย สตง.ต้องเข้าไปตรวจสอบ ต้องมีการนำเสนอรายงานสู่รัฐสภา เมื่อใช้เงินหลวง กลไกของ ส.ส.ไม่ว่าจะพรรคไหน และกรรมาธิการด้านการสื่อสารต้องเข้าไปตรวจสอบ ครั้งนี้ไม่เหมือนการคืนความสุข "ฟุตบอลโลก 2014" ที่ คสช.ใช้มาตรา 44 แต่ครั้งนี้ไม่มี
“นี่อาจจะเป็นกระบวนการประชานิยมได้ในระดับหนึ่ง เพราะอีกไม่นานก็กำลังจะมีการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจก็สามารถนำไปเป็นผลงานชิ้นโบแดง หาดอกผลในทางการเมืองได้”.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง