#เด็ก18ฆ่าเด็ก13 กลายเป็นแฮชแท็กที่มีการวิจารณ์พฤติกรรมวัยรุ่นอายุ 18 ปี ซึ่งบุกมาที่บ้านรุ่นน้องวัย 13 ปี ใน จ.ระยอง เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุได้ทำร้าย จนผู้ตายมีอาการชักกระตุก แพทย์พยายามยื้อชีวิตถึง 3 วัน ก่อนเสียชีวิตด้วยสาเหตุเลือดออกในสมอง จากนั้นผู้ก่อเหตุได้ประกันตัว แต่ยังมีพฤติกรรมข่มขู่ญาติผู้ตาย โดยประเด็นการทำร้ายร่างกายของผู้ก่อเหตุ ยังถกเถียงกันถึงพฤติกรรม ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่?

วันเกิดเหตุช่วงบ่ายวัยรุ่นอายุ 18 พร้อมเพื่อนขับมอเตอร์ไซค์มาที่บ้านผู้ตาย ที่เคยมากินอยู่ในบ้านหลังนี้ ก่อนมีปากเสียงรุนแรง สาเหตุมาจากช่วงหลังผู้ตายไปอยู่กับวัยรุ่นอีกกลุ่ม ที่ไม่ถูกกับผู้ก่อเหตุ แต่เรื่องราวกลับบานปลาย เมื่อวัยรุ่นอายุ 18 ปี ทำร้ายผู้ตายด้วยการถีบอก แล้วใช้สายไฟฟาดผู้ตาย

แม้คนในบ้านเกิดเหตุจะห้ามปราม แต่วัยรุ่นอายุ 18 กลับมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น โดยผู้ตายเข้าไปในบ้านหยิบชะแลง แต่ได้แต่ง้างขู่ ซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะผู้ตายมีอาการหน้าซีด ก่อนร่างกายจะชักเกร็งลงกับพื้น ตาลอย ไร้สติ จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่อาการทรุดหนัก จากนั้น 3 วัน ได้เสียชีวิต โดยระบุว่าเสียชีวิตจากเลือดออกในสมอง

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุวัย 18 ที่มีการข่มขู่ญาติผู้ตายหลังได้รับการประกันตัว แต่ก็มีคำถามถึงพฤติกรรมการทำร้ายร่างกายในลักษณะนี้ สามารถทำให้ถึงแก่ความตายได้หรือไม่?

...

“ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” สอบถามไปยัง “รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ว่า จากคำให้การของพี่ชายผู้ตายระบุถึงพฤติกรรมของผู้ต้องหาในการใช้สายไฟที่มีอะลูมิเนียมอยู่ภายใน ฟาดไปบนร่างกายของผู้ตาย ทำให้เพิ่มความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะและใบหน้า จนส่งผลต่อสมองทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

มีข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่า ผู้ก่อเหตุได้ใช้แขนรัดบริเวณลำคอของผู้ตาย อาจทำให้สมองขาดออกซิเจนในช่วงขณะหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิต

ด้านนิติเวชศาสตร์ แม้ผู้ก่อเหตุจะอ้างว่าทำเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากผู้เสียชีวิตพยายามจะทำร้าย ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจพิสูจน์ร่างกายของผู้ก่อเหตุว่ามีร่อยรอยของการต่อสู้หรือไม่ เช่น บาดแผลที่เกิดจากของมีดคม เพราะการพิจารณาว่ากระทำเพื่อป้องกันตัวเอง ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่ามีภัยเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ หากมีรอยบาดแผล พนักงานสืบสวนต้องลงไปในที่เกิดเหตุ เพื่อหาหลักฐานว่า เป็นรอยบาดแผลจากอาวุธประเภทใด และมีมูลความจริงหรือไม่

“อีกปัจจัยการเสียชีวิตอาจมาจากการถูกกระทบกระเทือนรุนแรงบริเวณคอ เพราะเป็นจุดสำคัญที่มีเส้นเลือดที่ควบคุมการทำงานของหัวใจและการหายใจ ถ้าหากจุดนี้ได้รับการกระแทกรุนแรง จะทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น นักกีฬาคาราเต้ ถูกแขนของคู่ต่อสู้ฟันเข้าไปที่ต้นคอจนเสียชีวิตมาแล้ว จึงมีการออกกฎการแข่งขันใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดลักษณะนี้อีก”

ด้วยความที่ขณะนี้พนักงานสอบสวนแจ้งความผิดวัยรุ่นอายุ 18 ปี ฐานความผิดพยายามฆ่าผู้อื่น ตามกฎหมายถือว่าเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ส่วนว่าเจตนาหรือไม่ ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป เพราะการนำสายไฟที่มีวัสดุของแข็งอยู่ภายในเสมือนการเอาไม้หน้าสามตีผู้ตาย ซึ่งปกติคนทั่วไปย่อมทราบว่าการนำวัสดุประเภทนี้ไปทำร้ายผู้อื่นอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเรื่องราวทั้งหมดยังต้องติดตามการหาพยานหลักฐาน และการต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป.