การบุกเข้าช่วยเหลือหมาและแมว ที่บ้านหลังหนึ่ง ในเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เมื่อ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คงเป็นภาพสะเทือนจิตใจกับคนรักสัตว์ไม่น้อย เมื่อหมาและแมวกว่าร้อยชีวิต ถูกเจ้าของซึ่งเปิดเพจรับบริจาคช่วยเหลือหมาและแมวบังหน้า แต่กลับปล่อยทิ้งไว้ จนบางตัวอยู่ในสภาพเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ขณะที่ภายในบ้านยังพบซากสุนัขและแมวจำนวนมากส่งกลิ่นเหม็น ขณะที่บางซากก็เหลือแต่กระดูก

“เราเจอปัญหาแบบนี้ไม่เคยหยุด และลักษณะแบบนี้ไม่ใช่บ้านที่เป็นรายย่อย แต่เป็นบ้านที่ไปเอาแมวมา แล้วรับแมวมาดูแล ส่วนบางพื้นที่ก็จะมีการเช่าบ้าน เมื่อก่อนอาจจะมีรายได้ดี บางคนพบว่ามีการผ่อนบ้านเอาไว้หลายหลังเลย เพื่อทำแบบนี้” นี่เป็นคำยืนยันของ "คุณแสงเดือน ชัยเลิศ" ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่ตอกย้ำว่า ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ยังเกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะขบวนการรับเลี้ยงหมาและแมวเพื่อหวังเงินบริจาค

แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม
แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

...

กลุ่มคนเหล่านี้ มักจะมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน เรียกตัวเองว่า “จิตอาสา” เข้าไปช่วยหมาและแมว ที่ถูกทิ้ง ถูกขังตามบ้าน รับไปเลี้ยงดู ก่อนจะนำมาเปิดช่องทางระดมทุน เมื่อคนสงสารก็แห่กันมาบริจาค หรือบางครั้งแอบแฝงมาในรูปแบบการขายของ เช่น พวงกุญแจ และขายในราคาที่แพง ค้ากำไรเกินควร ชิ้นละ 100-200 บาท แต่ก็มีคนยอมซื้อ เพราะเชื่อว่า เงินจะถูกนำไปช่วยสัตว์

“กลุ่มที่หากินกับแมว จะเลือกรับเคสแมวที่เจ็บหนักๆ บางครั้งทะเลาะกันแย่งเคสอาการหนัก เคสดัง เพราะจะได้มีคนบริจาคเยอะ" เมื่อสังคมเลิกสนใจก็จะนำไปฝากเลี้ยงที่อื่น ซึ่งให้ค่าเลี้ยงตัวละ 2,000 บาท และจ่ายรายเดือนตัวละ 500 บาท แต่วันดีคืนดีกลับไม่ยอมจ่ายเงิน ส่วนคนที่รับเลี้ยงก็ดูแลบ้าง ไม่ดูแลบ้าง บางวันก็ไปนำแมวออกมา ถ่ายรูป โพสต์ให้คนที่บริจาคดูว่า แมวยังสบายดี

ในบางเคสที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรณีล่าสุดในบ้านหลังหนึ่ง พบเลี้ยงแมวกว่า 400 ตัว เจ้าของถึงกับซื้อบ้าน เพื่อแบ่งแมวไว้บ้านแต่ละหลัง เช่น หลังที่ 1 สำหรับถ่ายภาพอัปเดต โชว์แม่ยก แต่ถ้าหากตัวไหนป่วย จะย้ายไปที่บ้านหลังที่ 2 แล้วปล่อยให้ตาย

ทั้งหมดนี้ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พยายามฉายภาพให้เห็นขบวนการของนักบุญที่หาประโยชน์หมา แมว หลังจากติดตามพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มานาน โดยเฉพาะเคสชาวต่างชาติ ที่เข้ามาเปิดรับบริจาค ทำหมันหมา แมว ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ปี 54 ได้เงินบริจาคกว่า 14 ล้าน สุดท้ายหนีออกนอกประเทศ จนถึงขณะนี้ยังตามตัวไม่ได้ หรือ บางคนที่พบ มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถหรู ซื้อที่ดิน

“ถ้าหากเป็นคนที่รักหมา แมวจริงๆ จะไม่มีเงินเหลือเก็บเลย แถมเป็นหนี้ เราไม่ได้กำไรจากตรงนี้เลย เมื่อนำหมา แมว มาเลี้ยงมีแต่รายจ่าย บางคนเลี้ยงเยอะๆ แล้วมีรถหรูขับ มันก็น่าสงสัยว่า มีเงินซื้อรถหรูขับ แล้วหมา แมวที่เลี้ยงไว้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่”

สถานสงเคราะห์สัตว์เถื่อนผุดเป็นดอกเห็ด

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ที่มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เข้าช่วยเหลือหมาและแมว ที่ถูกทิ้งไว้ตามบ้านพักพิง สถานสงเคราะห์ ถูกทิ้งในจำนวนมาก บางแห่ง มีหมาและแมวรวมๆ ตั้งแต่ 100-400 ตัว และเจอปัญหาแบบนี้ไม่ได้หยุดหย่อน จนตอนนี้ที่มูลนิธิฯ รับดูแลหมา แมว ที่รอดชีวิตไว้กว่า 3,000 ตัว ยังไม่นับรวมที่ตายไปแล้วด้วย

เมื่อถามว่า ทำไมปัญหาหมาและแมวถูกทิ้งในสถานสงเคราะห์ถึงแก้ไม่จบไม่สิ้น? ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ตรวจสอบว่า สถานสงเคราะห์สัตว์เหล่านี้ มีการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์หรือไม่ จึงทำให้สถานสงเคราะห์ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งในความหมายก็คือ สถานสงเคราะห์เถื่อน ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ใครอยากจะเปิดก็เปิดได้ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่า มีไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง และถ้าหากคิดเป็นทั้งประเทศคาดว่า มีไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง

“ที่สถานสงเคราะห์ ไม่ยอมขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เพราะกลัวถูกตรวจสอบทางการเงิน เนื่องจากการขึ้นทะเบียนจะต้องทำระบบ ส่งรายชื่อ, จำนวน, รายรับรายจ่าย, การรักษา, แผนการดูแลสัตว์ และสวัสดิภาพสัตว์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ยอมขึ้นทะเบียน เข้าระบบ พยายามเลี่ยงไม่ให้ถูกตรวจสอบ”

...


เสนอใช้กฎหมายเข้ม แก้ขบวนการนักบุญหมา-แมว หาประโยชน์เข้าตัว

แม้ปัจจุบันจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เมื่อถามว่า กฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ และการจัดสวัสดิภาพได้หรือไม่? ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม บอกว่า หากคะแนนเต็ม 10 ให้เพียง 2 คะแนนเท่านั้น เพราะหน่วยงานที่เป็นคนบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าว ยังมีความรู้ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างบางครั้งไปแจ้งความ แต่พนักงานสอบสวนไม่รู้จะเอาผิดในข้อหาไหน ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด ค่อนข้างน้อย ทำให้คนไม่เกรงกลัว

การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่สุด เพราะกฎหมายที่เข้มงวด จะช่วงปิดประตูไม่ให้มีช่องโหว่คนเปิดบ้านพักพิง สถานสงเคราะห์เถื่อนอีก แล้วค่อยๆ เรียกคนกลุ่มนี้มาลงทะเบียน โดยหน่วยงานหลัก เช่น กรมปศุสัตว์ต้องสร้างแรงจูงใจ ด้วยการเข้าไปสนับสนุนงบประมาณ เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาต้องมาจากระดับนโยบายของภาครัฐ

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ตรวจสอบข้อมูลพบว่า การจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ถูกระบุไว้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อสนับสนุนการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ให้ผู้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือไม่แสวงหากำไร หรือ นำรายได้มาแบ่งปันกัน มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานสงเคราะห์สัตว์ต่อนายทะเบียน ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียน อาจได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์ การควบคุมปริมาณสัตว์และการป้องกันโรคระบาดสัตว์ภายในสถานสงเคราะห์สัตว์ การอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์

...

ในกรณีที่ปรากฏว่าสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้ขึ้นทะเบียน ดำเนินกิจกรรมในลักษณะทางการเมืองหรือแสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ทารุณกรรมสัตว์หรือไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ และกำหนดระยะเวลาให้สถานสงเคราะห์สัตว์ปฏิบัติให้ถูกต้องและเหมาะสม หากสถานสงเคราะห์สัตว์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนการขึ้นทะเบียนของสถานสงเคราะห์สัตว์นั้นได้


ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะพบว่า การจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ตามกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีสภาพบังคับให้ผู้จัดตั้งต้องขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก “นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์” ที่ปรึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีสถานสงเคราะห์สัตว์มากกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ที่มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์เพียง 60 แห่ง ซึ่งที่มาขึ้นทะเบียนไว้ ทางกรมปศุสัตว์ก็สามารถเข้าไปดูเรื่องการจัดสวัสดิภาพได้ กฎหมายก็เป็นการมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งการป้องกันโรคและการควบคุมปริมาณ “ไม่ใช่กฎหมายที่ไปควบคุมการเกิดขึ้นของสถานสงเคราะห์สัตว์ เพราะฉะนั้นใครก็ได้ ที่อยากจะตั้ง ก็มาขอขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ แต่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องของการเมืองและการหาประโยชน์จากรายได้ หรือประกอบธุรกิจ”

นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์  ที่ปรึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์  กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ที่ปรึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์

...

เร่งอุดช่องสถานสงเคราะห์สัตว์ไม่ขึ้นทะเบียน

เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ กรมปศุสัตว์ก็ให้ความสำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ มีการร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปเสนอคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เป็นการเพิ่มรายละเอียดการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปดูแลและตรวจสอบได้ทั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ขอขึ้นทะเบียน และไม่ได้ขึ้นทะเบียน ให้การจัดสวัสดิภาพสัตว์เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันประกาศนี้มีการร่างเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมเพื่อเสนอกระทรวง และให้นักวิชาการตรวจดูอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศได้ 6 เดือนหลังจากนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนี้เกิดช่องว่างของกฎหมาย แต่หากประกาศมีผลบังคับใช้จะเป็นการรัดกุมมากขึ้น

ไม่ขึ้นทะเบียนเลี่ยงถูกตรวจสอบ

นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ ยอมรับว่า สถานสงเคราะห์สัตว์บางแห่ง มีวิธีการเลี้ยงและการดูแลสัตว์ที่อาจจะไม่เหมาะสม ก็เลือกที่จะไม่ขอขึ้นทะเบียน เพื่อไม่ให้ถูกตรวจสอบ และอีกประเด็นที่สำคัณคือ สถานสงเคราะห์เหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค ซึ่งบางแห่งหากไม่มีเงินบริจาคก็ไม่สามารถดูแลสัตว์ได้ มีการแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปดูแลสัตว์ และอีกส่วนหนึ่งก็ไม่รู้อยู่ในกระเป๋า หยิบไปใช้จ่ายอะไรก็ไม่รู้ จึงไม่อยากทำบัญชี ก็กลัวว่าจะถูกตรวจสอบ แต่ทางกรมปศุสัตว์เพ่งเล็งไปที่สวัสดิภาพสัตว์มากกว่า

กรมปศุสัตว์มีภารกิจในการดูแลหลายด้าน ทั้งงานด้านปศุสัตว์ งานด้านโรคระบาด รวมถึงงานด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จึงได้ขอความร่วมมือกับมูลนิธิและองค์กรเอกชนที่ดูแลเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เข้าไปช่วยเป็นคนแจ้งเบาะแส และบางครั้งมีการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกัน และมีการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมของสถานสงเคราะห์สัตว์อยู่ตลอดเวลา

“สัตว์มันพูดไม่ได้เพราะฉะนั้นคนคุ้มครองก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ เราทำหน้าที่แทนสัตว์ที่ถูกทารุณกรรม การฟ้องร้องกล่าวโทษเหมือนการฟ้องร้องแทนสัตว์ที่ถูกทารุณกรรม”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ขอบคุณภาพจาก Save Elephant Foundation - มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง