วันนี้ (8 พ.ย.) ถือเป็นวันพิเศษ คือ นอกจากจะเป็น วันลอยกระทง ในคืนวันเพ็ญแล้ว เรายังได้มีโอกาสชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในประเทศไทย จะเริ่มสังเกตการณ์ได้เมื่อดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 17.44 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งเป็นช่วงคราสเต็มดวงพอดี จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐจนถึงเวลา 18.41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที
หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วน และค่อยๆ ออกจากเงามืดของโลก และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วนในเวลา 19.49 น. จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจากความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มาให้ความรู้เกี่ยวกับจันทรุปราคาเต็มดวง ส่งผลต่อโลก และมนุษย์ อย่างไร...
...
ดร.ศรัณย์ เกริ่นว่า คนไทยเคยเห็นกันมาบ้าง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่อ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ มาเรียงกันในแนวเส้นตรง...เหตุการณ์ จันทรุปราคาไม่ได้เกิดขึ้นทุกวันเพ็ญ เพราะการเรียงระหว่างโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มีการทำมุมที่เอียง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ทุกเดือน แต่จะเกิดทุกๆ 6 เดือน ในที่ใดที่หนึ่งในโลก
“จันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ขณะนั้น จะทำให้เราเห็นดวงจันทร์ได้ยาก แต่ที่ยังเห็นอยู่...และเป็น “สีแดง” เพราะแสงอาทิตย์ ที่ทะลุบรรยากาศโลกไป แสงสีแดงมันเลี้ยวเบน ด้ดีกว่าแสงสีฟ้า ฉะนั้นเราจึงเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นแสงสีแดง เพราะแสงบางส่วนของดวงอาทิตย์ไปตกบนดวงจันทร์ได้...”
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลอีกว่า ความจริงวันนี้การเต็มดวงของจันทรุปราคาเกิดขึ้นก่อนที่ดวงจันทร์จะขึ้นขอบฟ้าของไทยเสียอีก เพราะประเทศฟิลิปปินส์จะขึ้นมาก่อนเมืองในประเทศไทย
สำหรับเมืองไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 17.44 น. จากนั้นเวลา 18.41 น. เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดง ส่วนหนึ่งสีขาว เทาๆ ส่วนหนึ่ง จากนั้นอีกสักพักดวงจันทร์ก็จะออกจากเงามืด และสิ้นสุดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง”
มนุษย์ โลก และจันทรุปราคาเต็มดวง
ดร.ศรัณย์ กล่าวย้ำว่า “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ไม่มีผลใดๆ ต่อโลก หรือ ชีวิตคนบนโลก เพราะถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้กี่พันล้านครั้ง ตลอดอายุของโลก
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการเกิดจันทรุปราคาช้าหรือเร็วขึ้นเกิดจากอะไร ดร.ศรัณย์ ให้ความรู้ว่า ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เราสังเกตปรากฏการณ์ ถ้าเราอยู่แถวทางตะวันออกที่เห็นดวงจันทร์ขึ้นก่อน ก็จะเห็นได้นานกว่า เพียงแต่ในประเทศไทยกว่าเราจะเห็นคือ มันเข้าสู่เงามืดแล้ว ดังนั้นช่วงที่กำลังจะเข้า เราจึงไม่เห็น...
“ระยะเวลาการเห็นแต่ละครั้งที่ไม่เท่ากัน เพราะเงาโลกใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าดวงจันทร์เข้าไปส่วนไหนของเงาโลก ถ้าสมมติว่าดวงจันทร์เคลื่อนผ่ากลางเงาโลก ระยะเวลาในการเห็นก็จะนานกว่า”
การเกิดจันทรุปราคาในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) หรือวันจันทร์ดับ (แรม 15 ค่ำ) ชาวทะเลรู้อยู่แล้วว่ามีผลทำให้น้ำขึ้นสูงสุด น้ำลงต่ำสุด ซึ่งน้ำขึ้นน้ำลงจะสัมพันธ์กับตำแหน่งของดวงจันทร์อยู่แล้ว แต่...ไม่เกี่ยวข้องกับ “จันทรุปราคา” ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้มันเกิดขึ้นพร้อมกัน
“หากมันเกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อน อาจจะกลายเป็นข่าวลือว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ แต่ความจริง น้ำขึ้นน้ำลง กรมอุทกศาสตร์ก็มีการแจ้งเตือนบอกอยู่แล้ว ซึ่งน้ำท่วมก็เกิดจากหลายปัจจัยทั้ง ทั้งฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน”
ดร.ศรัณย์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เกิดขึ้น “หมอดู” จะไปทำนายอะไรก็เป็นเรื่องของ “หมอดู” แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็คือ ไม่มีผลใดๆ กับมนุษย์ ส่วนใครอยากดู ก็สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าได้เลย เพราะ “จันทรุปราคา” ไม่มีอันตรายใดๆ สามารถใช้กล้องถ่ายรูปได้ หรือซูมถ่ายก็ได้ แตกต่างจาก “สุริยุปราคา” ที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือป้องกัน เพราะแสงจะสว่างมากกว่า
...
“อยากให้ประชาชนได้ดูปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างมีคำอธิบายได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อไหร่ ส่วนตัวไม่อยากให้นำเรื่องเหล่านี้ไปผูกกับความเชื่อ เพราะการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ วิทยาศาสตร์มีคำตอบ..”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ