ถือเป็นเรื่องใหญ่และสังคมให้ความสนใจ สำหรับคดีจับยาเสพติด ปาร์ตี้ คาราโอเกะ ใน “ผับจินหลิง” ซึ่งพบชาวจีนหลักร้อยคน กินเหล้า มั่วยา กันอย่างเมามัน ก่อนที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. จะเฉลยด้วยการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา สรุปใจความว่า การจับกุมผับดังกล่าว ถือเป็นการขยายผลจากการตรวจค้น 3 จุดที่พัทยา ก่อนจะตามเชื่อมโยง อายัดทรัพย์กว่า 300 ล้านบาท เป็นเงินสด 42 ล้านบาท รถหรูมากกว่า 10 คัน
ถือเป็นยุทธการ “ล้มไม้ค้ำ ลิดกิ่งก้าน” เกี่ยวข้องกับ “ทุนจีน” ที่หันมาลงทุนในธุรกิจสีเทา หรือสีดำ ทั้งผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมไปถึง “บ่อนการพนัน”
จากนั้นก็มีการเปิดวอร์ ซัดกันนัวระหว่าง “นักแฉ” กับ “อดีตตำรวจคนดัง”
โดยนักแฉ ออกมาเปิดข้อมูล “5 เสือมาเฟีย” ทุนจีนบุกไทย จาก “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” แปลงร่าง เป็น “ผับศูนย์เหรียญ” หรืออาจจะมี “บ่อนศูนย์เหรียญ” เพิ่มเติม...
...
อารมณ์ เหมือนหนัง “เจสัน บอร์น” จาก “เทรดสโตน” กลายร่างเป็น “แบล็กไบอาร์”
งานนี้คงต้องตามกันต่อ ว่าทุนจีนที่ว่า จะสาวไปถึงที่ไหน ปัญหาจากทัวร์ศูนย์เหรียญ จะถูกอัปเกรดเป็นอะไรต่อนั้น แต่รับรองงานนี้งานใหญ่แน่นะวิ!
“การที่คนเหล่านี้จะทำอะไรแบบนี้ได้ ย่อมมีคนอำนวยความสะดวก”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เอ่ย...ก่อนกล่าวต่อว่า หากเป็นคนจีนทั่วไป คงไม่มีน้ำยาอะไรทำแบบนี้ได้ จำเป็นต้องมีคนใหญ่คนโตอยู่เบื้องหลัง... ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับอดีต “บิ๊กตำรวจ” ที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายทุนจีนรายนี้ก็เคยมีคดี ตั้งแต่ปี 2550 แต่สุดท้ายก็หลุดรอดมาได้
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การอำนวยความสะดวก ก็ใช้อิทธิพลที่เคยมี โดยที่ “ตำรวจ” ในพื้นที่ก็ไม่อยากยุ่ง เพราะไม่กล้า... และการเลือกพื้นที่ ปริมณฑล มันทำให้การดำเนินการง่ายกว่า ทำใน กทม. เพราะ “เคลียร์ตำรวจ” ง่ายกว่า
“ก่อนจะทำผิดกฎหมาย สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ “ซื้อตำรวจ” เพราะ “ตำรวจ” คือ “ผู้รักษากฎหมาย” ส่วนจะซื้อด้วยรูปแบบใดนั้น ก็แล้วแต่คน แล้วแต่วิธีการ อาทิ พยายามเข้ามาทำตัวสนิทสนม การใช้เงิน หรือแม้กระทั่งการ “ผูกเครือญาติ” ด้วยการแต่งงานกับลูกหลาน...”
ทีมข่าวฯ ถามว่าเพราะอะไรต้องเอาเงินมาลงทุนในธุรกิจประเภท ผับ บาร์ คาราโอเกะ เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่า ธุรกิจสีเทาและสีดำเหล่านี้เกี่ยวข้องกันหมด ทั้งบ่อนการพนันและยาเสพติด เพราะเป็นสถานที่อาจเป็นแหล่งอาชญากรรม หากลองสืบลึกลงไป ในส่วนของ “บ่อนสุทธิสาร” นี่ก็เกี่ยวข้องกับทุนจีน... ซึ่งเดิม แอบตั้งในอาบอบนวดแห่งหนึ่ง แต่เนื่องจากพื้นที่คับแคบ จึงขยายมาตั้งเป็น “บ่อนสุทธิสาร” คนเช่าคนไทย ก็อาจจะเป็นแค่ “นอมินี”
ทุนเหล่านี้ ก็จะลงทุน ขยายไปเรื่อยๆ ซึ่งในโลกความเป็นจริง เขาไม่เรียกธุรกิจสีเทา มีแต่ธุรกิจถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย กับ “ชอบด้วยกฎหมาย” เช่น ธุรกิจ “อาบอบนวด” ถามจริงๆ ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เรียกภาษาบ้านๆ ว่า “ซ่อง” ทำไมยังมีเต็มบ้านเต็มเมือง ส่วนผับบาร์ คาราโอเกะ ก็คล้ายกับ “ตลาดยาเสพติด” เป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้มาเจอกัน ถึงแม้เป้าหมายหลัก จะเป็นคนจีน พามาเที่ยว หรือ อาจจะเลยเถิดเกิดเหตุลักพาตัวกันก็ตาม
...
พ.ต.อ.วิรุตม์ ที่ปัจจุบัน กำลังทำงานในด้านปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ย้ำว่า สังคมที่ดี ต้องไม่มีคำว่า “กวาดล้างอาชญากรรม” เพราะถ้ากวาดล้างจริงๆ เราต้องไล่จับคนที่ปล่อยให้คนพวกนี้ทำแบบนี้มาด้วย หากมอง ช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทยมัน “เน่าสนิท” เพราะเรามีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ไปจับกุมคนที่ทำผิดกฎหมาย ทำให้สิ่งเน่าเหม็นในสังคมถูกหมักหมม
ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการปลดล็อก เปิดช่องต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาลงทุน แต่ก็เป็นความคิดที่ตื้นเขิน คิดแค่ว่าอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยว หรือนักลงทุน โดยไม่นึกถึงผลเสียที่จะตามมาภายหลัง
“สาเหตุที่กลายเป็นเช่นนี้ เพราะระบบการบังคับใช้กฎหมายของบ้านเราอ่อนแอ เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ จึงกลายเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับพวก 'เหล่าอาชญากร' และคนจีนบางคนจึงพูดกันว่า ขอแค่มีเงิน อยู่เมืองไทย ทำอะไรก็ได้...”
...
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นอบายมุข ถือเป็นต้นตอที่ทำให้สังคมเสื่อม...บางคนที่เป็นถึงอดีตตำรวจใหญ่ กลับมาพูดว่า บ่อนการพนัน ทำให้ประเทศเจริญ ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ควรจะเป็นผู้รักษากฎหมาย สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการปฏิรูปตำรวจ ระบบการสอบสวนคดีอาญา
“ตราบใดที่ยังมีตำรวจภาคอยู่ เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่ต้องทำ คือต้องยุบหน่วยตำรวจภาคเสีย แล้วให้อำนาจกับผู้ว่าราชการในการช่วยแก้ปัญหา อำนาจของตำรวจ ควรอยู่ที่จังหวัด และขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด แม้ภาพลักษณ์ของผู้ว่าฯ บางแห่งจะไม่ดีนัก แต่เมื่อเทียบกับตำรวจแล้ว...ตำรวจน่าจะหนักกว่า!” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ