มาถึงช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 นับว่าเป็นอีกปีที่มีความผันผวนด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจในไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และยากจะควบคุม อย่างล่าสุด "ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด" ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีก 0.75% ถือเป็น ครั้งที่ 4 ที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตรานี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไปแตะที่ 4% และมีแนวโน้มที่เฟด จะคงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้อีกในการประชุมนัดหน้า ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม ยิ่งเป็นปัจจัยกดดัน ค่าเงินทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้หลายฝ่ายมองว่า วิกฤติครั้งนี้จะลุกลามต่อเนื่อง ไปจนถึงปีหน้าหรือไม่?

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ให้มุมคิดต่อเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ  ผ่านเวที "อัปเดตเศรษฐกิจ จับทิศลงทุน 2023" โดยระบุว่า  เศรษฐกิจไทย ในปี 2566 จะเป็นปีที่ผันผวนต่อจาก ปี 2565 เพราะปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งการปราบเซียน เป็นปีที่มีการผันผวนของการลงทุนตลอดทั้งปี และมีวิกฤติเกิดขึ้นกับการลงทุนเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น คริปโต พันธบัตร ทองคำ และค่าเงิน แต่ในทางกลับกัน ปี 66 ก็ยังเป็นปีแห่งโอกาสในการลงทุนได้

“วิกฤติ คือ โอกาส ทุกครั้งที่มีวิกฤติ โอกาสจะเกิดขึ้นเสมอ เราจะต้องประคองตัวให้ได้ ถ้าเราประคองตัวไม่ได้ โอกาสจะผ่านเลยไป”

ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  และ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

...

ความท้าทายในระบบเศรษฐกิจโลก

ตั้งแต่ตั้นปี เราเจอกับ “มรสุม Perfect Storm ในระบบเศรษฐกิจโลก” ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เกิดวิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" เกิดความขัดแย้งระหว่าง "สหรัฐฯ และจีน" เกิด "วิกฤติพลังงาน" ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เกิดวิกฤติอาหารโลก คนต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น สิ่งเหล่านี้ คอยเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดความผันผวนของตลาดทุนทั่วโลก และจะต่อเนื่องไปถึงปี 2566 และที่สำคัญ เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก จากการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ รวมถึงมีโอกาสเกิดวิกฤติในประเทศตลาดที่เกิดใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิกฤติที่กำลังคุกคามทุกคนอยู่ในขณะนี้

จับตาเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 5-6%

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยราว 3-4 % ก็จะจบ แต่เมื่อมาถึงวันนี้สิ่งที่หลายคนพูดกันก็คือ 5-6%

นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์และจับตาว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะไปจบที่ตรงไหน? ซึ่งมีข้อมูลพบว่า อาจขึ้นไปถึง 5.87% ซึ่งก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการประชุมเฟดครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก่อนการประชุมมีการคาดการณ์ว่า เฟด อาจขึ้นดอกเบี้ยเก็บ 0.5% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ก็ขึ้นไปที่ 0.75%

เมื่อดูข้อมูลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดย้อนหลัง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีการขึ้นดอกเบี้ยที่สำคัญ 2 ช่วง คือช่วงปี ค.ศ.1999 ถึงปี ค.ศ.2000 ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 6.5% และอีกช่วงก็คือในปี ค.ศ.2005 ถึงปี ค.ศ.2007 ขึ้นไปที่ 5.25% ซึ่งในตอนนั้นเป็นการสู้เงินเฟ้อที่ระดับประมาณ 4% แต่ในปีนี้ ขึ้นดอกเบี้ย สู้เกิดเฟ้อ 8-9% ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า เฟด จะขึ้นดอกเบี้ย 5-6% หรืออาจจะมากกว่านั้น

เมื่อหันมามองที่บ้านเรา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ก็คงขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปี จะไปอยู่ที่ประมาณ 1.25% ซึ่งเป็นที่จุดสำคัญ เพราะหากมองกลับไปในช่วง "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ดอกเบี้ยลงไป ต่ำที่สุด อยู่ที่ 1.25% ในช่วงโควิด-19 ระบาด ลดลงมาอยู่ที่ 0.5% ซึ่งหากปลายปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย  ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง จะกลับที่ระดับเดิม คือ 1.25% และปีหน้าก็อาจจะขึ้นได้อีก 1-2 ครั้ง หากเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แบงก์ชาติต้องมาทบทวนว่าจะขึ้นต่อหรือไม่

...

ส่วนการดูแลเงินเฟ้อในไทย เป้าหมายที่ 3% “ดร.กอบศักดิ์” ระบุว่า ยังอยู่ที่ 3.12% เริ่มทรงตัวและใกล้เคียงเป้าหมาย นั้นหมายความว่า แบงก์ชาติก็จะปล่อยให้เงินเฟ้อค่อยๆ ลงมาเอง เมื่อปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น น้ำมัน ปรับตัวลง เงินเฟ้อจะค่อยๆ ลง เข้าสู่เป้าหมายโดยที่แบงก์ชาติไม่ต้องออกแรง ในขณะที่ต่างประเทศขึ้นดอกเบี้ยไปสูงมาก ขณะที่ไทยเรา ขึ้นดอกเบี้ย 1-1.5% ทำให้บริษัทในไทยไม่ต้องรับภาระของต้นทุนการเงินเยอะเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กดดันบาทไทย

"ค่าเงินผันผวน บาทอ่อนต่อเนื่อง" ปัจจัยหลักๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์ จากการที่เฟด ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว กดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ ขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่ก็ยังวิ่งตามเฟดไม่ทัน ความต่างนี้ทำให้เกิดช่องว่างของดอกเบี้ยขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ จะเป็นตัวดึงดูดเม็ดเงินจากประเทศอื่นๆ เข้ามา ซึ่งขณะนี้ 4 ประเทศ ใหญ่ๆ ของโลก ทั้ง อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน กำลังใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกันทั้งหมด

...

ฝั่งอเมริกาเองก็ขึ้นดอกเบี้ยอย่างฮึกเหิม ยุโรปเองก็ก็มีประเด็นขัดแย้งกับรัสเซีย  ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องหนี้ภาครัฐ มีการกดดอกเบี้ย ส่วนจีน ที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็อยากจะลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เมื่อมีความแตกต่างของดอกเบี้ย ทำให้เงินไหลไปสู่ประเทศที่มีดอกเบี้ยสูง หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนเงินดอลลาร์ก็จะถูกดันอยู่แบบนี้อีกระยะหนึ่ง ทำให้เกิดการผันผวนในค่าเงินทุกสกุล รวมถึงเงินบาทของไทยด้วย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เงินบาท เทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 30 บาท หลังจากนั้น 2 ปีต่อมาขึ้นมาถึง 38 บาท และอาจจะอ่อนค่ามากกว่านี้ด้วย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาค่าเงิน ยังกดดันทุกประเทศ และยังผันผวน

ไทยได้โอกาสจากการเป็นประตูสู่เอเชีย

การกลับเข้าลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ มีความสำคัญ หลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทุกคนเปิดประเทศไม่มีข้อจำกัดของการเข้า-ออก ทำให้นักธุรกิจเริ่มเดินทางอีกครั้ง เห็นได้จากมีนักลงทุนต่างชาติ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน เข้ามาลงทุนทำโรงงานในไทย แม้กระทั้งบริษัทแอมะซอน ก็เข้ามาลงทุนทำระบบคลาวด์ในไทย และคงมีอีกหลายรายตามมา

...

"อาเซียน กำลังกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะเป็นประตูเปิดรับการลงทุนเข้าสู่เอเชีย" เมื่อมองดูประตูรอบเอเชียทั้ง 4 ด้าน จะพบว่า สถานการณ์ปัจจุบันประตูด้านทิศเหนือ อย่าง "รัสเซีย" ก็มีปัญหาเรื่องสงครามกับ "ยูเครน" 

ส่วน "จีน" ก็มีประเด็นพิพาทกับ "อเมริกา" นักลงทุนจึงมองว่า เมื่อนำเงินไปลงทุนจะได้ผลตอบแทนกลับมาหรือไม่ ทำให้หลายคนคิดว่าจีนไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมกับการนำเงินไปลงทุน ในช่วงนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาว ที่ค่อยๆ ทยอยนำเงินลงทุนออกมาจากจีน

ด้านทิศตะวันตก อย่าง "อินเดีย" การเข้าไปลงทุนก็ไม่ได้ง่าย เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละเมือง มีกฎเกณฑ์เป็นของตัวเอง ทำให้เหลือประตูที่จะผ่านเข้าสู่เอเชียเพียงด้านเดียว นั้นก็คือผ่านทาง “อาเซียน” ซึ่งเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุน โดยมีจุดแข็ง คือ มีต้นทุนการผลิตที่กำลังดี และมีกำลังซื้อที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงทุนในไทย และแถบอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศจีน ทั้งรถ และรถไฟได้ และยังสามารถเชื่อมไปยังอินเดีย ผ่านเมียนมา และบังกลาเทศ  ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 

"จึงไม่น่าแปลกที่การลงทุนจะหลั่งไหลเข้าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค" ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียน จะได้รับการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทน การก่อสร้างถนนหนทาง นี่จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาเซียนสามารถยกระดับขึ้นมาและมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะตามมาจากการลงทุน.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง