เหตุการณ์ฝูงชนเบียดเสียดกันถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตในย่านอิแทวอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงยามราตรีในกรุงโซล เกาหลีใต้ ในการฉลองวันฮาโลวีน เบื้องต้นมีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 151 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น จากการสันนิษฐานเบื้องต้น พบว่าผู้เสียชีวิตมีภาวะขาดอากาศหายใจ โดยประเทศไทยเคยเกิดเหตุลักษณะนี้ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ
“รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า การขาดอากาศหายในเหตุชุลมุน มีสาเหตุมาจากการอยู่ในพื้นที่แออัด ทำให้มีการกดทับ เช่น พื้นที่เป็นซอยแคบขนาบข้างด้วยตึกและกำแพง เมื่อเกิดการแออัดมากๆ ทำให้เกิดการกดทับบริเวณทรวงอก ทำให้หน้าอกขยายออกไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้ระบบการหายใจไม่เป็นปกติ หลังจากนั้นจะเกิดอาการหมดสติ และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ
“การถูกกดทับบริเวณหน้าอกเป็นเหตุผลสำคัญทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก กรณีเดียวกับเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมตากใบ ที่นำคนไปทับกันบนรถทหาร จนทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะคนที่อยู่บนรถหายใจไม่ออก เนื่องจากทรวงอกขยายออกไม่ได้”
เมื่อทรวงอกไม่สามารถขยายออกได้ปกติ จะเกิดอาการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในร่างกาย 1 – 2 นาที จะหมดสติ และต่อจากนั้นอีก 4 นาที หากยังไม่สามารถช่วยเหลือให้หายใจได้เป็นปกติจะเกิดภาวะสมองตาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต
“มีบางกรณีที่นำผู้เสียชีวิตถูกมัดมือไขว้หลังและนอนคว่ำไว้ ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ เพราะร่างกายมนุษย์มีน้ำหนักตัวเป็นแรงกดทับบริเวณทรวงอก ดังนั้นการที่หน้าอกไม่สามารถขยายตัวในระหว่างการหายใจได้ เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิต”
...
ส่วนอีกปัจจัยของการเสียชีวิต มาจากการถูกเหยียบทับในเหตุชุลมุน เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพราะผู้ตายจะมีลักษณะเหมือนถูกกระทืบซ้ำๆ จนร่างกายบอบช้ำ และเกิดภาวะหายใจไม่ได้เป็นปกติ จนทำให้เกิดการเสียชีวิต
ปกติการขาดอากาศหายใจในเหตุชุลมุน แม้สถานที่นั้นโล่งแจ้งก็เกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด ลักษณะ “หน้าชนหน้า หลังชนหลัง” จะทำให้ทรวงอกไม่สามารถขยายได้เป็นปกติ จนเป็นสาเหตุของการหมดสติเสียชีวิต
การเอาตัวรอดหากไปอยู่ในพื้นที่แออัดแล้วเกิดเหตุชุลมุน ควรตั้งสติ หาช่องทางที่จะออกจากพื้นที่ ส่วนอีกวิธีคือการป้องกัน โดยพยายามยกขึ้นมาบริเวณหน้าอก เพื่อให้มีช่องว่างที่หน้าอกสามารถขยายตัวได้ขณะหายใจ กรณีนี้จะพอช่วยได้ในขณะที่ถูกผลักหรือเบียดจากคนรอบข้าง
“สัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด คือ เมื่อใดที่เกิดการเบียดจนตัวชิดติดกันกับคนอื่น ควรพาตัวเองออกมาจากพื้นที่นั้น เพราะถ้าเกิดเหตุชุลมุนขึ้น มีโอกาสที่จะขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้”
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องเคลื่อนย้ายร่างมาในที่โล่งแจ้ง ปลดกระดุมหรือเข็มขัดให้ผู้ประสบเหตุ เพื่อระบายความร้อนจากร่างกาย ให้หายใจได้สะดวก และทำการปั๊มหัวใจในรายที่หมดสติ ส่วนผู้ที่ยังมีสติควรให้นั่งพัก หรือให้ออกซิเจน ช่วยให้การคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายลดลง.