แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ “น้ำท่วม” ในหลายๆ พื้นที่เริ่มคลี่คลายไปแล้ว เนื่องจากฝนหยุดตก น้ำไหลผ่านไปแล้ว แต่...ก็มีบางจังหวัด และหลายพื้นที่ ยังระทมทุกข์จากปัญหาน้ำท่วมอยู่...
และเมื่อตรวจสอบกับภาพถ่ายดาวเทียมของ “จิสด้า” หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จะเห็นได้ชัดว่า หลายจังหวัดก็ยังมีสภาพน้ำท่วมขัง โดยที่เห็นเด่นชัดได้แก่ พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ในขณะที่ทางภาคอีสานก็ยังมีท่วมขังอยู่หลายจุด หลายจังหวัดทีเดียว....
จากความเดือดร้อนที่ยังไม่จางหาย คำถามคือ.... เมื่อไหร่ถึงจะดีขึ้น?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ร่วมพูดคุยหาทางออกกับ นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ บอกว่า จากกราฟจำลอง คาดว่า ชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดที่มีพื้นที่ต่ำในภาคกลาง อาจจะต้องทนจนถึง 25 พ.ย. (ในพื้นที่ลุ่มต่ำมาก) หรือ อีกเกือบ 1 เดือนเต็ม ในขณะที่ ชาวอุบล หรือ พื้นที่อีสานบางพื้นที่ ต้องทนถึงประมาณวันที่ 15 พ.ย.
นายชวลิต ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่มีการระบายน้ำล่าช้าในพื้นที่ภาคกลาง มีหลายปัจจัย ประกอบด้วย
...
ปัจจัยที่ 1 สภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น พิจิตร พระนครศรีอยุธยา
จังหวัดเหล่านี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำจึงไหลลงมาก่อน เรียกว่า โดนน้ำท่วมก่อนที่อื่น เมื่อถึงเวลาระบายน้ำ พื้นที่เหล่านี้ก็จะแห้งทีหลัง บวกกับส่วนหนึ่งต้องเก็บน้ำไว้ เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งมีการร่วมกันบริหารน้ำโดยกรมชลประทาน
“พื้นที่เหล่านี้ เขาเจอน้ำท่วมมา 3 เดือนแล้ว และจากการคำนวณในพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่ที่อยู่ต่ำมากๆ กว่าจะแห้ง น่าจะยาวถึงวันที่ 25 พ.ย.”
ปัจจัยที่ 2 ความสามารถในการระบายน้ำของ “คลอง”
คนที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้มานาน จะเข้าใจว่า การระบายน้ำกว่าจะไปถึงลำคลองสายหลัก จึงทำได้ล่าช้า จะเอาเครื่องสูบน้ำไปสูบออกก็ทำได้ยาก จะเปิดประตูระบายน้ำให้กว้างก็เดิม ก็ระบายได้เท่าเดิม เพราะปริมาณน้ำที่ค้างอยู่ในส่วนที่วัดได้ เวลานี้ มากกว่า 900,000-1,000,000 ลบ.ม. นี่แค่เฉพาะพื้นที่ควบคุมได้
สิ่งที่ทำได้ในเวลานี้ คือรอน้ำจาก อ.สามง่าม อ.บางมูลนาก (พิจิตร) ไหลลงมาให้หมดก่อน ไหลมายัง นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณการไหล ก็ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จาก 2 พันกว่า ลบ.ม./วินาที ค่อยๆ ลดลงวันละ 100-200 ลบ.ม./วินาที โดยหลายๆ จังหวัด เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี ระบายได้ช้า เพราะขนาดของคลอง....
“โมเดลที่ได้มา ถือเป็นการลงพื้นที่จำลอง การไหลของน้ำ ซึ่งทำกันมากกว่า 20 ปีแล้ว”
ปัจจัยที่ 3 การสร้างถนน บดบังเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมหนักกว่า ปี 54 (บางจุด)
นายชวลิต ยังบอกอีกว่า ปัจจัยที่สำคัญอีกข้อ จากการลงพื้นที่ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า เวลานี้มีการสร้างถนนที่ถือเป็นการบดบังเส้นทางไหลของน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมบางจุดหนักหนาสาหัสกว่า ปี 2554
“ทำให้การระบายของน้ำเวลานี้ ช้ากว่าปี 2554 ซึ่งก็ต้องมาดูว่า 11 ปีที่ผ่านมา ใคร...ทำถนนขวางทางน้ำ ทำให้พื้นที่เหนือกว่านั้น ระบายน้ำช้าลง”
ผมถามเจ้าหน้าที่ว่า “เปิดการระบายน้ำให้เร็วกว่านี้ได้ไหม...”
“ผมก็เปิดการระบายเต็มที่แล้วนะ...มันได้เท่านี้”
...
นายชวลิต อธิบายว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านเดือดร้อนเวลานี้ เป็นเหมือนปี 2554 เลย โดยในที่ลุ่มย่อย ที่มีพื้นที่ก่อสร้างขวางทางน้ำ ก็จะเดือดร้อนหนักกว่าปี 2554
เมื่อถามว่า ในการก่อสร้างถนน แต่ละพื้นที่ ไม่มีการคำนึงถึงเส้นทางน้ำหรือ? กูรูด้านการจัดการน้ำ สะท้อนว่า สิ่งที่แพงที่สุดในการก่อสร้างถนน คือ “ทางระบายน้ำ” บางพื้นที่ที่เป็นทุ่งรับน้ำ จำเป็นต้องใช้ “สะพาน” ก็ไม่มีงบที่จะก่อสร้าง วิธีการทำจึงเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า งบในท้องถิ่น เช่น อบต. หรือ อบจ. ก็จะเจอข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงทำได้เท่านั้น เรียกว่า ตัดงบสร้างสะพานทิ้ง ใส่ท่อลอด ท่อสี่เหลี่ยม หรือ ท่อกลม ไปก่อน..?
การก่อสร้างลักษณะนี้ ส่งผลต่อความสามารถในการระบายน้ำผ่าน เรียกว่า “เทียบกันไม่ได้” แค่กิ่งไม้ไปติดก็ทะลวงท่อกันยากแล้ว...
อนาคต หากโครงการคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก แล้วเสร็จ ซึ่งถือเป็นการขยายเพิ่มการระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากสร้างแล้วเสร็จ ก็ถือเป็นการทะลวงการระบายน้ำได้ดีขึ้น
...
ปล่อยน้ำเข้ากรุงฯ แบ่งเบา ช่วยเร่งระบายน้ำเหนือ...
ทีมข่าวฯ ถามกูรูด้านการจัดการน้ำ ว่าสิ่งที่มีอยู่ทุกวันนี้ สามารถทำอะไรเพื่อช่วยชาวบ้านภาคกลาง ที่กำลังระทมทุกข์ในเวลานี้ได้บ้าง นายชวลิต กล่าวว่า ก็ต้องปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯ บ้าง ซึ่งเวลานี้ก็ทำอยู่บ้าง ด้วยการปล่อยเข้าฝั่งธนบุรี เข้าคลองทวีวัฒนา ภาษีเจริญ ระบายต่อลงต่อแก้มลิง สนามไชย ซึ่งต้องทยอย
การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ มีอีกหนทางหนึ่งคือระบายน้ำจากพื้นที่หลุมต่ำทุ่งเจ้าเจ็ด ผ่านคลองลากข้าว เข้ามาลงยังคลองพระพิมล แล้วระบายน้ำ โดยใช้ประตูน้ำบางบัวทอง ระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำลง และช่วยสูบน้ำ ที่ประตูบางบัวทอง ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในบางช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง เรื่องนี้ กรมชลประทาน ควรประสานงานมาทางจังหวัดนนทบุรี และเทศบาลบางบัวทอง ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
“เราต้องเห็นใจ และเข้าใจ ชาวบ้านที่โดนน้ำท่วมมาแล้ว 3 เดือน อย่างชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำ เจอน้ำท่วมก่อน แห้งทีหลัง บางพื้นที่น้ำท่วมมากกว่าปี 2554 เนื่องจากมีการสร้างถนนขวางน้ำ ทำให้น้ำอาจจะยังท่วมอยู่ถึงวันที่ 25 พ.ย. ไม่ว่าจะเป็นคนอุบลฯ อำนาจเจริญ หรือ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอาจจะแห้งเร็วกว่า นิดหน่อย คือ หลังวันที่ 15 พ.ย. จะดีขึ้น ยังไงอยากให้หน่วยงานภาครัฐ และ เอกชน มาช่วยกัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน...” กูรูด้านบริหารจัดการน้ำ กล่าวทิ้งท้าย...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...