ในปี 2565 ได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ที่รับรู้แรงสั่นไหว) แล้วเกือบ 10 ครั้ง แต่ที่ยังโชคดีคือ แต่ละครั้งมีความรุนแรงไม่มาก อยู่ระหว่างที่ 3-4 แมกนิจูด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

4 เม.ย. 65 เวลา 03.35 น. แผ่นดินไหว ขนาด 3.3 ที่ ต.ไผ่ล้อม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์  (17.512°N , 100.055°E )

5 เม.ย. 65 เวลา 03:47 น. แผ่นดินไหว ต.ไผ่ล้อม อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ (17.512°N , 100.048°E) มีอาฟเตอร์ช็อกตามมา

14 เม.ย. 65 เวลา 14.04 น. แผ่นดินไหว ขนาด 3.2 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (18.581°N , 98.342°E)

28 เม.ย. 65 เวลา 15.26 น. แผ่นดินไหว ขนาด 3.2 ต.นายาง อ.สบปราบ จ.ลำปาง (17.936°N , 99.298°E)

26 พ.ค. 2565 เวลา 10:58 น. แผ่นดินไหว ขนาด 2.9 ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย (19.756°N , 99.683°E) อาคารมากกว่า 1 ชั้น รู้สึกถึงการสั่นไหว เก้าอี้สำนักงานสั่น

29 พ.ค. 65 เวลา 02:58 น. แผ่นดินไหว ขนาด 2.6 ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย (19.580°N , 99.735°E) บ้านเดี่ยว 1 ชั้น: บ้านสั่นแรงและรู้สึกสั่นไหวที่ ต.ป่าหุ่ง ต.เมืองพาน และ อ.พาน จ.เชียงราย

...

จากนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนสิงหาคม ได้เกิดแผ่นดินไหวในเมียนมาต่อเนื่อง และรุนแรง 13 ครั้ง โดยแรงสั่นไหว รับรู้ได้ถึงประเทศไทย โดยมีขนาด ความรุนแรง ตั้งแต่ 3.6 จนถึง 6.4 โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด เกิดในวันที่ 22 ก.ค.65 เวลา 00.07 น. (21.219°N , 99.851°E)



กระทั่งล่าสุดได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว อีก 3 ครั้ง ในวันเดียวกัน วันนี้ (20 ต.ค.65) ในเวลา 01.39 น. แผ่นดินไหว ขนาด 3.7 ต.แม่ปาน อ.ลอง จ.แพร่ (18.041°N, 99.886°E) แผ่นดินไหว ขนาด 4.1 จุดศูนย์กลางที่ ตำบลแม่คือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (18.790°N , 99.106°E) และ เวลา เวลา 05:16 น. แผ่นดินไหว ขนาด 2.9 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ (18.054°N , 99.906°E)

สำหรับแผ่นดินไหว ครั้งล่าสุด ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า วันนี้แผ่นดินไหวหลายครั้ง และ รุนแรงที่สุดในขนาด 4.1. ศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลแม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ละติจูดที่ 18.790 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 99.106 องศาตะวันออก ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 2 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน และแตกตื่นวิ่งหนีออกจากบ้าน

รองอธิบดีกรมอุตุฯ บอกว่า การเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง มักเกี่ยวโยงกับรอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งส่วนมากจะอยู่จะอยู่ฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ โดยปกติแล้ว แผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่บางครั้งเราเองไม่รับรู้ถึงแรงสั่นไหว ที่รับรู้ได้จริงๆ แต่ละปี จะเกิดขึ้นไม่มาก และสำหรับประเทศไทย มักจะเกิดแผ่นดินไหว ไม่เกิน 5 แมกนิจูด

แผ่นดินไหว ครั้งล่าสุด เกิดจากรอยเลื่อนแม่ทา ศูนย์กลางอยู่ ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด เวลา 04.36 น. ขนาด 4.1 ซึ่งแน่นอน ตอนที่เกิด ย่อมทำให้รู้สึกถึงการสั่นไหว โดยเฉพาะ อ.สันกำแพง อ.สันทราย และดอยสะเก็ด

“สาเหตุเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนหลัก ผสมกับรอยเลื่อนย่อยๆ อย่าง ดอยสะเก็ด ด้วย ทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตร ได้รับรู้การสั่นไหว ซึ่งการรับรู้การสั่นไหวของคนเรา จะเริ่มรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 3 แมกนิจูด ส่วนการเกิดแผ่นดินไหว ขนาดเล็กๆ อย่าง 2 หรือ 1 แมกนิจูด เกิดขึ้นแทบทุกวัน”

...

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การเกิดแผ่นดินไหวในวันนี้ สังเกตว่า จะมีการเกิดขึ้นหลายจุด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะมีการขยับของพลังงาน เชื่อว่า หลังจากเร็ววันนี้ อาจจะไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรงแล้ว ถ้ามีความแรงก็จะลดลง...

เมื่อถามว่า เราต้องติดตามเฝ้าระวังรอยเลื่อนไหนเป็นพิเศษ รองอธิบดีกรมอุตุฯ อธิบายว่า ทุกรอยเลื่อนในประเทศไทย เราต้องติดตามทั้งหมด ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก นอกจากนี้ ก็ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เพื่อนบ้านด้วย เพราะเคยเกิดขึ้นที่ประเทศลาว และได้รับผลกระทบมาถึงไทย

“รอยเลื่อนทุกแห่งล้วน “มีพลัง” ส่วนจะมากหรือน้อย ก็คงต้องเฝ้าระวังทุกแห่ง”

ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแล้ว เมื่อรอยเลื่อนหนึ่งขยับ รอยเลื่อนใกล้ๆ ก็อาจจะมีการขยับตาม แต่...เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า จะมีการเกิดแผ่นดินไหวอีกเมื่อไหร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในระดับโลกก็ไม่มีใครพยากรณ์ได้

รองอธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน เรามีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว 100 กว่าสถานี รวมกับเพื่อนบ้านอีกว่า 300 สถานี ซึ่งถือว่าประเทศไทย มีความทันสมัยที่สุดในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น เราก็จะทราบอย่างรวดเร็ว

...

ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ก็คล้ายๆ กับของโลกใบนี้ พูดง่ายๆ เหมือนกับแผ่นเปลือกโลกมีการปรับแกนกลางให้สมดุล ซึ่งในประเทศไทย ไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่แน่นอนเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา อยากให้คนติดตามข่าว

ช่วงท้าย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังฝากเตือนประชาชนในพื้นที่ หากเกิดแผ่นดินไหว ต้องรู้จักป้องกันตนเอง

หากอยู่ภายในบ้านขณะเกิดแผ่นดินไหว : สิ่งของภายในบ้านจะมีการสั่นไหว และร่วงหล่น ฉะนั้น การหลบภัยดินไหวที่ ที่ดีที่สุดควรหลบใต้โต๊ะ เพราะป้องกันอุบัติเหตุจากของหล่นใส่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตได้

หากอยู่ในอาคารสูง : ควรหาทางออกให้เร็วที่สุด ด้วยบันไดหนีไฟ ไม่ควรลงลิฟต์ เพราะมีโอกาสเกิด “ลิฟต์ค้าง” ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ