ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในไทย มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วง จากสถิติกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่ามีผู้ป่วยราว 1.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ด้วยสภาวะสังคมและการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยหลายรายมีราคาสูง จึงทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
จากการรวบรวมข้อมูลและสำรวจของ Rocket Media Lab แหล่งข้อมูลสาธารณะในการติดตามประเด็นสังคม ระบุว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าหลายรายใช้เวลานานกว่าจะรู้ตัวเองว่าป่วย ซึ่งผลสำรวจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จำนวน 506 คน พบว่าส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี จึงเริ่มไปทำการรักษากับแพทย์ รองลงมาใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนเริ่มทำการรักษา
ส่วนผู้ป่วยที่ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งเปลี่ยนจิตแพทย์ในการรักษามาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์คนปัจจุบัน แต่น่าสนใจว่าจำนวนผู้ป่วยที่เปลี่ยนจิตแพทย์มาแล้ว 3 คน มีจำนวนมากถึงร้อยละ 8.7 ส่วนผู้ป่วยที่เคยรักษากับจิตแพทย์มามากกว่า 5 คน มีร้อยละ 3.8 โดยตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแพทย์ในการรักษา ที่ส่งผลต่อกระบวนการรักษาผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยบางส่วนอาจไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
...
สำหรับสิ่งที่ผู้ป่วยซึมเศร้าต้องการให้ช่วยเหลือ คือ นโยบายการรักษา ช่วยทำให้ค่ารักษาถูกลงกว่าเดิมถึงร้อยละ 41.1 รองลงมาคือ ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ร้อยละ 27.3 และสามารถทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลได้ ร้อยละ 27.1 ประเด็นต่อมาจะต้องมีช่องทางพิเศษ สำหรับผู้ที่ต้องการบำบัดโดยด่วน โดยไม่ต้องรอนัดหมาย ร้อยละ 26.3
ด้านข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ผู้ตอบแบบสอบถามมีเห็นว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต ด้วยการสนับสนุนและผลิตบุคลากรที่เข้ามาดูแลให้มากขึ้น เชื่อมโยงการรักษาระหว่างจิตแพทย์และนักจิตบำบัดด้านอื่นตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ที่ได้รับการรักษา
แนวทางการแก้ปัญหา เพื่อให้ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยลดลง ควรจะปรับเปลี่ยนการจ่ายยาจิตเวชที่มีคุณภาพอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น ส่วนการใช้ยานอกบัญชี ผู้ป่วยอยากให้เบิกได้ โดยไม่จำกัดตัวยา เพราะผู้ป่วยบางรายแพ้ยาในระบบที่มีราคาถูก
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังกังวลในประเด็นการทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลกับบริษัทเอกชน เนื่องจากบริษัทปฏิเสธผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า และไม่ยอมให้ผู้ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้าทำประกันสุขภาพ ทั้งที่หายจากโรคมาแล้วหลายปี โดยผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้มีการกำกับดูแลการทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ภาครัฐสร้างความเข้าใจ เพื่อลดอคติต่อผู้ป่วยจิตเวชให้เห็นภาพด้านดีของผู้ป่วยมากขึ้น มากกว่าภาพที่น่ากลัว และอยากให้รัฐทำระบบการส่งต่อผู้ป่วยในการบำบัดรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ มีงานทำ พร้อมมีสิทธิค่ารักษาครอบคลุมค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูและรักษา
ส่วนผู้ป่วยวัยทำงานมีความเห็นว่า นายจ้างควรให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน สร้างความเข้าใจเพื่อลดการตีตราผู้ป่วย เช่น การอบรมพนักงานควรมีนักจิตวิทยาประจำองค์กร เพื่อให้พนักงานเข้ารับการปรึกษาได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ควรออกกฎหมายให้มีนักจิตวิทยาหรือเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำทุกสถานที่ทำงาน สถานศึกษา และชุมชน ซึ่งควรจัดให้ทุกคนได้รับคำปรึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นประจำ รวมทั้งมีระบบทำงานที่ยืดหยุ่นแก่ผู้ที่มีอาการจิตเวช รวมถึงระบบลาป่วย ที่คำนึงถึงปัจจัยการพบจิตแพทย์ โดยขอให้การจ้างออกคือทางเลือกสุดท้าย.