อะไรคือความสำคัญของ “สถานที่เกิดเหตุ” ในเชิงของนิติวิทยาศาสตร์ และอะไรคือสิ่งแรกที่ควรทำเพื่อป้องกันสถานที่เกิดเหตุ รวมถึง อะไรคือสิ่งที่คนไทยมักละเลยที่จะเรียนรู้จากสถานที่เกิดเหตุบ้าง ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอชวนทุกท่านหยิบยกบทเรียนที่เกิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกๆ คนในสังคม

สถานที่เกิดเหตุ กับนิติวิทยาศาสตร์ :

ทุกๆ สถานที่เกิดเหตุ จะมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1.ผู้กระทำ 2.เหยื่อ 3.สถานที่ โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะมีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน คือ “วัตถุพยาน” ด้วยเหตุนี้ สถานที่เกิดเหตุในเชิงของ นิติวิทยาศาสตร์ จึงมีความสำคัญในเรื่องที่ว่า 1.เพื่อค้นหาผู้กระทำผิด หรือ ฆาตกร 2. การเก็บวัตถุพยานเพื่อหาทางเชื่อมโยงไปถึงฆาตกร 3.จำลองเหตุการณ์ย้อนรอยตามแผนประทุษกรรม (Reconstruction) เพื่อหาทางป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตและหาทางลดความสูญเสีย 4.คุณค่าในเชิงสังคม เช่น การเก็บสถานที่เกิดเหตุเอาไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม เช่น กรณีเหตุการณ์ 11 กันยายน

...

ใครคือผู้มีอำนาจเหนือสถานที่เกิดเหตุ :

ตามหลักกฎหมายไทย ได้มอบอำนาจนี้ให้กับผู้ที่รับผิดชอบคดี ซึ่งก็คือ “พนักงานสอบสวน” โดยหากเป็นคดีปกติ พนักงานสอบสวนในพื้นที่ ยศตั้งแต่ ร.ต.ท. เป็นต้นไปจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากเป็นกรณีคดีใหญ่ที่ประชาชนให้ความสนใจ มักจะเป็นรูปแบบของ “คณะทำงาน” ที่มีนายตำรวจใหญ่หลายนายเข้าร่วมกันเป็น “คณะทำงานพนักงานสอบสวน” ด้วยเหตุนี้ พนักงานสอบสวน หรือคณะทำงานพนักงานสอบสวน จึงมีอำนาจเต็มในการควบคุม “สถานที่เกิดเหตุ” ไปจนกว่าจะพิจารณาแล้วเห็นว่า “สถานที่เกิดเหตุนั้นๆ หมดความสำคัญในเชิงของนิติวิทยาศาสตร์แล้ว”

ที่เกิดเหตุจะหมดคุณค่าลงเมื่อไหร่ :

เมื่อนิติวิทยาศาสตร์เชิงพนักงานสอบสวนหมดความสำคัญลงแล้ว เช่น การเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุที่สามารถเชื่อมโยงไปถึง “ผู้กระทำความผิด” เสร็จสิ้นลงเรียบร้อย

ทำไมในบางครั้ง ต้องเก็บรักษาสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ :

โดยมากเหตุผลสำคัญ คือ 1.ยังไม่สามารถค้นหา “ผู้กระทำผิด” ได้ 2.แม้ว่านิติวิทยาศาสตร์เชิงพนักงานสอบสวนอาจสิ้นสุดลง แต่นิติวิทยาศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงบางอย่างอาจยังคงรูปอยู่ เช่น การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุครั้งที่ 2 หรือ การตรวจพิสูจน์ในอีกหลายๆ ปี ข้างหน้า เพราะคุณค่าลักษณะทางกายภาพบางอย่างยังไม่หมดไป จนกว่าจะหาหลักฐานที่เชื่อมโยงถึง “ผู้กระทำผิด” ได้ต่อไปในอนาคต

การบุกรุกสถานที่เกิดเหตุ :

ข้อแรกที่ควรนำมาพิจารณา คือ 1.มีการทำสัญลักษณ์ “เขตหวงห้าม” เพื่อป้องกันการบุกรุกเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ 2.บุคคลที่มีอำนาจดูแลสถานที่เกิดเหตุ คือ “พนักงานสอบสวน” หรือ “คณะพนักงานสอบสวน” สั่งการให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลสถานที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันการบุกรุกหรือไม่ 3.มีการดำเนินการกับผู้ที่บุกรุกสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ 4.ผู้ที่รับผิดชอบสถานที่เกิดเหตุ สามารถสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ว่า “ผู้ที่ทำการบุกรุกสถานที่เกิดเหตุ” มีเจตนาที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงหลักฐานในที่เกิดเหตุหรือไม่

...

สิ่งแรกที่ควรทำเพื่อปกป้องสถานที่เกิดเหตุ :

ต้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ออกไปให้ไกลจากจุดเกิดเหตุในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร จนกว่าจะมีการเก็บหลักฐาน หรือชันสูตรและเคลื่อนย้ายศพออกจากที่เกิดเหตุเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในกรณีที่สถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ปิด โดยมากมักมีการปิดกั้นสถานที่อย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อป้องกันกรณีเก็บหลักฐานที่ตกหล่นเพิ่มเติม

โซเชียลมีเดีย กับสถานที่เกิดเหตุ :

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “โซเชียลมีเดีย” ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สื่อและคนทุกคนเป็นผู้ที่สามารถรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่เกิดเหตุได้ แต่คำถามคือถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการมีกฎเกณฑ์เพื่อ “สร้างเส้นแบ่งที่เหมาะสม” โดยเฉพาะในเหตุอาชญากรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิด “การพูดบรรยายหรือแชร์ภาพที่ไม่เหมาะสมต่างๆ”

ประโยชน์ของสถานที่เกิดเหตุที่คนไทยยังละเลย :

...

ที่ผ่านมา “สังคมไทย” มักมุ่งความสำคัญไปที่การค้นหา “ผู้กระทำผิด” เป็นหลัก เมื่อสามารถค้นหาหลักฐานในที่เกิดเหตุที่เชื่อมโยงจนสามารถระบุตัว “ผู้กระทำผิด” ได้แล้วก็จบกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง “สถานที่เกิดเหตุ” มีประโยชน์ในแง่ของ “การป้องกัน” ได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ปล้นร้านทอง หากมีการใช้สถานที่เกิดเหตุ เพื่อทำการศึกษาวิธีการต่างๆ ที่คนร้ายใช้เวลาบุกเข้ามาปล้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือร้านทองต่างๆ ก็จะสามารถค้นหาวิธีการป้องกันการก่ออาชญากรรมในลักษณะนี้ได้ หรือ กรณีอุบัติเหตุรถชนกันตามสี่แยกต่างๆ หากมีการศึกษาว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆนั้น เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยใด เราก็จะมีวิธีการต่างๆ ในการลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะทุกๆ สถานที่เกิดเหตุ “มีคุณค่าในเชิงของมูลเหตุเชิงลึกที่จะนำไปสู่การป้องกันได้เสมอ”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...