จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรคได้ออกมาเปิดเผยผลการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Long Acting Antibody (LAAB) กับผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 105 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน โดยใช้รักษาร่วมกับยาปฏิชีวนะ ผลของการรักษาทำให้คนไข้กลับมาเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยโดยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ยังมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพที่มีผลต่อสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5
“ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี” กรรมการแพทยสภาและอดีตนายกแพทยสมาคม แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) มีการนำเข้ามาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยจะฉีดให้เมื่อป่วยเป็นโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย แต่จะมีการออกฤทธิ์เฉพาะจุด ทำให้มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ
ด้วยความที่ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้ผลในการรักษาต่ำ ทำให้มีการพัฒนาค่อนข้างน้อย ซึ่งการออกฤทธิ์ส่วนใหญ่จะใช้ได้ดีกับผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อู่ฮั่น และ BA.1 - BA.2 แต่จะมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ได้ค่อนข้างต่ำ จึงไม่แนะนำให้นำมาใช้ในการรักษาในบุคคลปกติ
“ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ขณะนี้แทบจะไม่นำภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป มาใช้ในการรักษา เพราะโควิดที่ระบาดขณะนี้ได้กลายพันธุ์ไปมากกว่าเทคโนโลยีการรักษาแบบเดิม การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป จะฉีดเข้าที่เอวครั้งละ 2 เข็ม หากฉีดเข้าไปแล้วการตอบสนองต่ำ จะต้องฉีดเพิ่มเข้าไป แต่สิ่งสำคัญในกระบวนการรักษาคือ ต้องทานยาแพกซ์โลวิด และโมลนูพิราเวียร์ เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะหากจากอาการภายใน 2 อาทิตย์”
...

สำหรับอาการผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ได้รับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เช่น อาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด ส่วนอาการแพ้ เช่น มีผื่นนูนแดง ปาก หนังตา หรือหน้าบวม หรือบางรายมีอาการแพ้รุนแรง ซึ่งจะพบได้น้อย เช่น หายใจลำบาก เหนื่อย หรือหายใจมีเสียงหวีด คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบหัวใจ และหลอดเลือด ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัย โดยพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปี ที่มีโรคประจำตัวของระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่ก่อน เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก
สิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการไม่รุนแรงคือ การฉีดวัคซีน แม้จะมีการอ้างว่าใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้ผลในกลุ่มคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน แต่ประสิทธิภาพยังมีค่อนข้างต่ำ และเสี่ยงที่จะเกิดอาการลองโควิดได้มากกว่าผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน
สำหรับแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในไทย “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 ว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ประเทศไทยได้จัดหาให้ประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็น ได้แก่ ผู้ป่วย ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โดยการทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีภายหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วย โดยไทยได้นำเข้าและฉีดให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ที่สถาบันบำราศนราดูร เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ก.ค. และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565
กลุ่มเป้าหมายระยะแรก ได้แก่ ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก และกำลังจะพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นอื่นเช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดฉายแสง ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง.