• อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้คนมีรายได้ต่ำต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้แต่ละเดือนเพื่อซื้ออาหาร ต่างจากคนรวยที่ได้รับผลกระทบแค่ 27 เปอร์เซ็นต์

  • ถ้าเทียบค่าแรงขั้นต่ำ 10 ปีที่ผ่านมา คนจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแค่ 15 บาทต่อวัน แม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ด้วยราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่ได้ช่วยทำให้แรงงานมีเงินเหลือเก็บ

  • ผู้ประกอบการยังต้องแบกต้นทุนสูงจากภาวะเงินเฟ้อ หลายองค์กรลดต้นทุนด้วยการจ้างค่าแรงขั้นต่ำ แนวทางแก้ไขระยะยาวต้องหันมาเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าให้ขายได้ในราคาแพงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนจนและแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับคนรวยที่ยังได้รับผลกระทบน้อยกว่า และจากการสำรวจพบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ คนจนต้องใช้เงินเพื่อซื้ออาหารที่แพงขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวต่อจากนี้

“รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดมีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนคนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้ต่ำ แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

“การปรับค่าแรงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เงินเฟ้อมีถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้คนจนต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าแพงกว่าเดิม ทำให้ค่าแรงที่แท้จริงลดลงจากปีก่อน แต่ถ้าไม่ขึ้นค่าแรง จะทำให้ค่าแรงที่แท้จริงยิ่งจะต่ำลงกว่านี้ เพราะเงินเฟ้อปีนี้สูงมาก โดยคนจนเมือง มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่า เพราะต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าอาหารปรุงสำเร็จ ทำให้ค่าแรงที่ปรับขึ้นไม่สามารถชดเชยภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ได้มาก”

...

ภาวะเงินเฟ้อของไทยทำให้คนจนได้รับผลกระทบมากกว่าคนรวย เพราะคนรวยกับคนจนมีสัดส่วนการบริโภคต่างกัน โดยคนจนมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหาร 47 เปอร์เซ็นต์ ของการบริโภคทั้งหมด ขณะที่คนรวยมีแค่ 27 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีรายได้ที่มากกว่า

เมื่อดูเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แยกตามประเภทสินค้า จะเห็นว่าหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น เนื้อสัตว์ เพิ่ม 10.5 เปอร์เซ็นต์ ไข่ 21.8 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันและไขมัน 26 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเงินส่วนใหญ่ของคนจน 45 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ถูกใช้ไปกับการซื้อสินค้าประเภทอาหาร ขณะที่คนรวยมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารคิดเป็นเพียง 27 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเป็นจริงแล้วคนจนได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่า 7 เปอร์เซ็นต์

10 ปี คนจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นแค่วันละ 15 บาท 

“รศ.ดร.กิริยา” กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นใหม่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 15 บาทต่อวันเท่านั้น โดยในอดีตกลุ่มคนจนจะจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 318 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างใหม่จะทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 333 บาทต่อวัน สิ่งนี้สะท้อนถึงการแบกรับค่าใช้จ่ายของคนจนที่เพิ่มขึ้น

“ถ้าวิเคราะห์ถึงรายได้มวลรวมของประเทศตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่ารายได้ของกลุ่มคนรายได้น้อยโตช้ากว่าเศรษฐกิจที่โตขึ้น สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและชีวิตที่ค่อนข้างจะลำบาก ซึ่งถ้าคำนวณหาค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงจะพบว่าค่าแรงที่ได้ต่ำกว่า 10 ปีที่แล้ว 2 บาท เป็นผลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อำนาจในการซื้อกลับน้อยลง จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนจนไทย”

สำหรับผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการในสภาวะเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1. ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคได้มากน้อยเท่าไร เช่น ถ้าลูกค้าคือภาครัฐ จะกำหนดงบประมาณไว้ล่วงหน้าแล้ว ปรับราคาขึ้นไม่ได้ จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นฝ่ายเดียว

2.ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้แรงงานที่ได้รับระดับค่าจ้างขั้นต่ำมากน้อยขนาดไหน เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟอาหาร พนักงานขาย ผู้รับจ้างภาคเกษตร ก่อสร้าง ไม่ก็ใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในกลุ่มนี้ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ โดยมากจะจ้างเกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในประเทศ และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนา ซึ่งแรงงานทั้งประเทศควรได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากจะไม่พอสำหรับการจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังถือเป็นการบิดเบือนตลาด ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลง

การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไทยควรมุ่งไปสู่การมีค่าแรงที่สูงเพียงพอต่อการยังชีพ และเป็นค่าแรงที่กำหนดขึ้นตามกลไกราคา สามารถทำได้ด้วยการให้แรงงานมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น มีการใช้ทักษะที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการสร้างช่องทางที่เอื้อต่อการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมให้กับแรงงาน

...

ส่วนฝั่งผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องยกระดับตนเอง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีมูลค่าเพิ่มขึ้น พร้อมกับพัฒนาทักษะให้แรงงาน มีสัดส่วนค่าจ้างที่ได้รับก็จะสูงขึ้น

โลกของความเป็นจริง แรงงานอีกหลายภาคส่วนยังคงถูกกดค่าแรง แต่สินค้าอุปโภคบริโภคกลับปรับตัวสูงขึ้น การสร้างสมดุลเพื่อช่วยเหลือคนจนและแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข.

ผู้เขียน : ปักหมุด