เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอีกครั้ง กับกรณี “ล่วงละเมิดทางเพศ” ซึ่งคราวนี้เกิดขึ้นภายในกองทัพ โดยเสมียนสาววัย 34 ปี ได้เข้าแจ้งความกับ สภ.ลาดหญ้า ว่าถูกทหารยศ “สิบเอก” สังกัดมณฑลทหารบกที่ 17 จังหวัดกาญจนบุรี ได้บุกบ้านพักที่อยู่ภายในมณฑลทหารบก 17 พยายามใช้กำลังปลุกปล้ำ หมายจะข่มขืน แต่เธอได้ต่อสู้จนสามารถเอาตัวรอดออกมาได้
แม้ที่ผ่านมา ได้นำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกระทั่งได้ตัดสินใจเข้าแจ้งความ โดยมี นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ “กัน จอมพลัง” พาเข้าพบเจ้าหน้าที่
ผู้เสียหายอ้างว่า ทหารคนดังกล่าว มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในที่ทำงานเดียวกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีใครกล้าเข้าแจ้งความดำเนินคดี เนื่องจากทหารคนดังกล่าวเป็นคนมีฐานะ แถมยังมีเส้นเป็น “เด็กนาย”
กระทั่งกลางดึกที่ผ่านมา “สิบเอก” รายดังกล่าว พร้อมทนายความได้เข้ามอบตัว สภ.ลาดหญ้า และถูกตั้ง 4 ข้อหา ซึ่งเจ้าตัวให้การปฏิเสธ ก่อนได้รับการปล่อยตัว
...
ข้อหา 4 ข้อ ประกอบด้วย
1. พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ
2. กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย และได้กระทำโดยใช้วัตถุอื่นหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของบุคคลนั้น
3. เข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
4. ข้อหาทำให้เสียทรัพย์
ขณะที่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ได้ชี้แจงว่า เรื่องนี้กองทัพบกได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ได้ให้หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเป็นหน่วยทหารในจังหวัดกาญจนบุรี รายงานข้อเท็จจริงเพื่อคลี่คลายปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งกองทัพบกมีนโยบายให้ความเป็นธรรม หากพบว่ากำลังพลทำผิดจริงก็ต้องได้รับโทษตามกระบวนการของกฎหมายและวินัย...
จากประเด็นอื้อฉาวดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า คดีลักษณะนี้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอน เพราะบางเคสได้ไปแจ้งความ บางเคสไม่ได้ไป หรือบางเคสมีการแจ้งความและถูกทำให้นิ่งและเงียบหายไป
กรณีผู้ต้องหาเป็นทหาร ในขั้นตอนการดำเนินคดี ผู้เสียหายจะมีการแจ้งความและสอบสวนในชั้นตำรวจ แต่พอเข้าสู่ชั้นอัยการ และศาลก็จะเข้าสู่กระบวนการของศาลทหาร ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนมากกว่า ถ้าคดีเป็นคดีอาญา ผู้เสียหายมีสิทธิ์ตั้งทนายโจทก์ร่วม แต่ถ้ามีการฟ้องร้องทางแพ่ง จะไม่สามารถแต่งตั้งทนายร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้ทราบว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง
คดีล่วงละเมิดทางเพศ “ผู้กระทำผิด” มักมีคนช่วยเหลือ คุกคามปิดปาก
ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม อธิบายว่า จากประสบการณ์ช่วยเหลือเหยื่อที่ผ่านมา พบว่า คดีลักษณะนี้ไม่ว่าจะเป็นในวงราชการ หรือ เอกชน พบว่ามักจะมีการ “ช่วยเหลือกัน” โดยเฉพาะฝั่งผู้กระทำ
หากเริ่มมีข่าว ก็มีความพยายามที่จะปิดข่าว ฉะนั้นสิ่งที่พนักงานสอบสวนควรจะทำ คือ การเดินหน้าทำคดีอย่างรวดเร็ว กระบวนการดูแลผู้เสียหาย ควรเป็นบทบาทของนักวิชาชีพ เพื่อเยียวยาผู้เสียหายให้มีกำลังใจในการต่อสู้ และใช้สิทธิต่างๆ ในทางคดี
“ก่อนอื่นต้องชื่นชมผู้เสียหายที่มีความกล้าหาญที่จะมาแจ้งความ ฉะนั้นสิ่งที่พนักงานสอบสวนต้องเร่งดำเนินการ อย่าเกรงกลัวว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็นลูกน้องของใคร..เพราะคำอ้างที่ใช้ข่มขู่บางครั้งก็จริง แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย เป็นไปได้ หน่วยงานนั้นๆ ต้องเร่งจัดการดำเนินคดีทางวินัย ซึ่งจะผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ หรือกระทำผิดนอกเวลาทำการ ก็ต้องเร่งจัดการ”
จากรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ที่เตรียมเสนอเพื่อทำอนุสัญญาการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) พบว่า ผู้หญิงมักถูกละเมิดทางเพศจากคนที่มีสถานะสูงกว่า หรือ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม ก็พบว่ามีการเลือกปฏิบัติอยู่ ผู้เสียหายมักไม่ค่อยได้ความเป็นธรรม หลายๆ คดีมีความล่าช้า และผู้เสียหายไม่รู้สิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการคุกคามผู้เสียหายอีก
...
การต่อสู้ทางคดีล่วงละเมิดทางเพศกับผู้มีอำนาจ ต้องทำอย่างไร ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า เราต้องต่อสู้ ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือพบอธิบดีกรมกิจการสตรี หรือ ร้องขอความเป็นธรรมกับทางต้นสังกัด ของผู้กระทำผิด
“การต่อสู้กับผู้กระทำผิดมีสถานะสูง หรือมีตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นเรื่องยากลำบาก แต่เราก็ต้องต่อสู้ บางหน่วยงาน หากเรื่องยังไม่ถึงศาล ก็อาจจะยังไม่ตั้งกรรมการสอบวินัย หรือตั้งกรรมการสอบว่า “มีมูล” หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีปัญหาในการสอบวินัยกับคนที่มีตำแหน่งระดับสูง”
หน่วยงานราชการให้ความสำคัญกับการล่วงละเมิดทางเพศแค่ไหน...?
น.ส.สุเพ็ญศรี เผยว่า เมื่อ 2 ปีก่อน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ได้ศึกษาและจัดทำรายงาน เสนอไปยังสภาฯ และเมื่อ สภาฯ รับรายงานและมีการเสนอ ครม. และมีการส่งต่อไปยัง กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งต่อมา พม. ได้ยกร่างเพื่อแก้ไขกฎหมายข่มขืน
...
แต่ที่ผ่านมาก็ยังพบการคุกคามทางเพศอยู่ ส่วนมากจะเป็นทาง “วาจา” ถึงแม้ยังไม่ถึง “อนาจาร” แต่เมื่อไหร่มีการแตะเนื้อต้องตัว ก็จะเข้าข่ายอนาจาร
คดีเหล่านี้ ควรจะมีหน่วยงานรับเรื่องที่เป็นต้นทางขององค์กรในการช่วยเหลือ แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายหน่วยงาน เช่น กรมกิจการสตรีและครอบครัว (พม.), “OSCC – One Stop Crisis Center” หรือ “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” (สธ.) หรือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (ยธ.) แต่หน่วยงานเหล่านี้มีการทำงานลักษณะ “ตั้งรับ”
“ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี หรือ สหรัฐอเมริกา เขาจะมีหน่วยงานเฉพาะ หวังว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนาศูนย์ หรือหน่วยงานที่มีอยู่ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพราะเวลานี้กฎหมายของไทยไม่ครบถ้วน ถึงแม้การช่วยเหลือจะมี “สหวิชาชีพ” มาช่วยดูแล แต่ก็ทำไม่ได้มาก เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุให้สหวิชาชีพมาทำอะไรต่อ”
อีกกระทรวงที่สำคัญคือ ก.ศึกษาธิการ ควรจะดูแล แนะนำ และฝึกอบรม การ “หนีภัยทางเพศ” ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หญิง หรือความหลากหลายทางเพศ เพื่อเปิดโอกาสให้ต่อสู้กับภัยคุกคาม หรือศิลปะการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะ เพราะเราไม่ได้ถูกฝึกให้เอาตัวรอด
...
เท่าที่ดีไซน์ จะมีการสอนรู้จัก “เนื้อ ตัว ร่างกายของฉัน” โดยจะสอนว่า การถูกเนื้อต้องตัวในส่วนต่างๆ ของร่างกายจะส่งผลอย่างไร ตรงไหนไม่สามารถแตะต้องได้ อีกส่วนก็จะเป็นเรื่อง “ศิลปะป้องกันตัว” เช่น วิธีเอาตัวรอด เมื่อถูกล็อกที่คอ
สิ่งตรงนี้ขึ้นอยู่ที่หน่วยงานองค์กรแต่ละแห่ง ให้ความสำคัญแค่ไหน... สิ่งที่ดีที่สุดคือ การรู้จักการป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่การคุกคามทางเพศ อนาจาร การถูกเนื้อต้องตัว วิธีการเอาตัวรอดจากการถูกข่มขืน ซึ่งสังคมตะวันออกจะไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน
“ส่วนตัวรู้สึกว่า การช่วยเหลือทางคดีกับเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาที่มีอาชีพรับราชการทหาร ถือว่าทำได้ค่อนข้างยากในหลายขั้นตอน เช่น การให้ปากคำ บางครั้งถูกตั้งคำถาม ที่ทำให้รู้สึก “กังวล” เพราะคดีข่มขืน หรือ อนาจาร มักจะไม่มีพยาน เหตุเกิด 2 ต่อ 2 ดังนั้น การต่อสู้คดีสำหรับผู้เสียหาย จึงทำได้ยากฉะนั้น จึงอยากฝากไปถึง กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะผู้นำเหล่าทัพ ให้หมั่นดูแลตรวจสอบกำลังพลที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม เพราะนอกจากจะทำความเดือดร้อนกับคนอื่น ยังสร้างความเสียหายแก่หน่วยงานด้วย
ปัจจุบัน หลายหน่วยงาน หากพบว่าคนในหน่วยงานของตัวเองทำผิด ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบ โดยมีคณะกรรมการเป็นคนนอก เช่น กรณีองค์กรสื่อที่เคยเกิดขึ้น มีการตั้งกรรมการคนนอก เช่น มาจากหลายภาคส่วน ทั้งสภาทนาย นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือ องค์กรผู้หญิง ในขณะเดียวกัน กรณีทหารทำผิด ก็ยังเป็นการตั้งคณะกรรมการจากภายในอยู่ ซึ่งคดีเกี่ยวกับทางเพศ ต้องร่วมกันให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย...
นี่คือ สิ่งที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ฝากเอาไว้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ