ที่มารูป : เพจสายไหมต้องรอด
"ฝนตกหนักเกินไป หรือระบายน้ำไม่ทัน น้ำเหนือมาถึงไหนแล้ว และจะหนักเท่าปี 2554 หรือไม่?" ทั้งหมดนั้นคือ "คำถาม" ที่กำลังทำให้ชาวกรุงช้ำชอกใจจากปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในเวลานี้ ว่าแต่...แล้วอะไรคือข้อเสนอแนะเร่งด่วนในเชิงวิศวกรรมที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอันแสนน่าปวดหัวนี้ได้อย่างยั่งยืนกันแน่ วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ขอนำคำถามทั้งหมดนี้ไปให้ "รศ.เอนก ศิริพานิชกร" ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นผู้มาให้ "คำตอบ" ที่ชาวกรุงกำลังอยากรู้มากที่สุดในเวลานี้
...
ปัญหา :
ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร :
“ลักษณะการตกของฝนในพื้นที่ กทม. เวลานี้ไม่สูงมากนัก ยังเป็นไปในลักษณะของการตกตามฤดูกาลที่มีพายุเข้ามา โดยพายุที่เข้ามาและมักสร้างปัญหาให้กับเรา คือ ทางด้านฝั่งแปซิฟิก หรือที่เข้ามาทางด้านประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ก่อนจะเข้ามาประเทศไทย”
จากการสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านอุทกวิทยา (Hydrology) พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงนี้ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าปกติ เพียงแต่อาจจะมี "ความเข้มของการตก (Intensity)" สูงมากไปสักหน่อย ประกอบกับปัจจุบันตามพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายแห่งมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตเมืองจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนในการทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลเข้ากรุงเทพมหานคร :
“ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือที่ไหลเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานครแม้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่ากังวล และยังไม่เท่ากับระดับวิกฤติเมื่อปี 2554”
ปริมาณน้ำเหนือที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครนั้น เท่าที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าอาจมีบ้างบางส่วน โดยเฉพาะที่เขตดอนเมืองและรังสิต อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้วระดับการไหลของปริมาณน้ำเหนือที่เข้ามายังกรุงเทพมหานครในเวลานี้ “ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับเกณฑ์วิกฤติ”
หากแต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลในเรื่องนี้ คือ น้ำเหนือที่เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยตามลำดับนั้น เท่าที่ได้รับรายงานพบว่า ตรงบริเวณอ่าวไทยมี "สันทราย (Sand Bar)" ที่คอยกีดขวางน้ำไม่ให้ไหลออกได้สะดวก ในขณะเดียวกันเมื่อน้ำทะเลสูงกว่า มันก็จะดันน้ำทะเลเข้ามาในพื้นที่เมือง จึงอยากขอเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสร้างประตูกั้นน้ำในบริเวณดังกล่าว และทำสันทรายให้เป็นลักษณะปกติเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ หาก “สันทราย” ดังกล่าวยังคงอยู่ โอกาสที่น้ำเค็มจะรุกเข้ามายังพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อทำน้ำประปาของ การประปานครหลวง หรือ กปน. ย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริง จะสร้างปัญหาใหญ่หลวงให้กับคนกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน
...
ปัจจัยที่ขวางกั้นการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร :
หากแบ่งกรุงเทพมหานครออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก และตะวันออก พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกจะมีลักษณะเป็นพื้นที่สูง ในขณะที่พื้นที่ฝั่งตะวันตกจะมีทั้งพื้นที่เก็บน้ำสำหรับนำไปใช้ทำน้ำประปา และพื้นที่สำหรับการทำกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้การระบายน้ำออกไปทางฝั่งตะวันออกจึงทำได้ยากกว่าฝั่งตะวันตก
ขณะเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการระบายน้ำโดยรวมของกรุงเทพมหานครถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำฝนในลักษณะที่เรียกว่า “ค่าการเกิดซ้ำที่ต่ำ” จึงทำให้มีการออกข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างที่เก็บน้ำใต้ดินตามอาคารสูงในพื้นที่ กทม. โดยอ้างอิงข้อมูลค่าการเกิดซ้ำที่ต่ำในวงรอบเพียง 5 ปีเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่เพียงประมาณ 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ฉะนั้น หากเมื่อใดก็ตามที่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ปริมาณเกินกว่า 80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง จึงมักจะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน
ข้อเสนอแนะ :
...
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. :
“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา หาก กทม.ยังทำเพียงการขุดลอกคูคลองเพื่อหวังเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะไม่เพียงพอ เพราะผมไม่เชื่อว่า ลำพังเพียงการขุดลอกคูคลองจะทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงอยากขอเสนอว่า...”
ข้อที่ 1. ควรจะมีการแก้ไขข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างที่เก็บน้ำใต้ดินตามอาคารสูงในพื้นที่ กทม. โดยอ้างอิง “ค่าการเกิดซ้ำจาก 5 ปี เป็น 10 ปี” เพื่อจะได้นำไปสู่การสร้างบ่อเก็บน้ำใต้ดินตามอาคารได้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับการระบายน้ำให้ได้มากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุดควรจะอยู่ที่ประมาณ 180-200 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
“สำหรับข้อแรกนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าวิธีที่จะทำให้เจ้าของอาคารยอมลงทุนสร้างที่เก็บน้ำใต้ดินให้มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วยความสมัครใจ และไม่ทำให้เกิดปัญหา คือ อาจยอมให้เจ้าของอาคารมีพื้นที่การก่อสร้างอาคารได้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกันก็น่าจะเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะข้อเสนอที่ว่านี้สอดคล้องกับกฎหมายผังเมืองในปัจจุบัน มีการผ่อนปรนให้เจ้าของอาคารสามารถเพิ่มพื้นที่การก่อสร้างอาคารได้ หากพื้นที่รอบๆอาคาร (คอนโดมิเนียม) ซึ่งแต่เดิมมักทำเป็นถนนคอนกรีต เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่สามารถให้น้ำซึมผ่านได้ เพื่อช่วยทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่แล้ว”
สำหรับกรณีที่เกิดน้ำท่วมที่ลานจอดรถใต้ดินของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งนั้น รศ.เอนก ศิริพานิชกร ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า ควรมีการทำเนินป้องกันน้ำจากภายนอกอาคาร และตรวจสอบบ่อสูบและปั๊มน้ำที่มีอัตราสอดคล้องกับการไหลเข้าของน้ำลงที่ติดรถใต้ดิน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
...
ข้อที่ 2. ปัจจุบันเนื่องจาก “ถนนตามตรอก ซอก ซอย” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า “ถนนหลัก” ฉะนั้นจึงควรมีสร้าง “บ่อหน่วงน้ำ” (Retention Tank) ซึ่งจะเป็นลักษณะแทงก์คอนกรีตใต้ดิน เอาไว้ตามตรอก ซอก ซอย ที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนเกินที่ไหลมาจากถนนหลัก จากการระบายน้ำไม่ทันเอาไว้ก่อน จนกระทั่งเมื่อสามารถระบายน้ำออกจากถนนหลักได้หมดแล้ว จึงค่อยสูบน้ำออกจาก “บ่อหน่วงน้ำ” ในลำดับถัดไป
"ข้อเสนอทั้ง 2 ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ กรุงเทพมหานคร ควรทำอย่างเร่งด่วน และสามารถทำได้ทันที เพื่อให้การระบายน้ำของ กทม.มีประสิทธิภาพมากขึ้น" รศ.เอนก ศิริพานิชกร กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :