หลังการเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 หรือบัตรคนจนรอบใหม่ ที่เปิดให้ผู้ลงทะเบียนเก่าและใหม่ต้องลงทะเบียนอีกครั้งในรอบนี้ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงคนจนที่เสียโอกาสในการลงทะเบียน แม้สถิติคนจนในไทยจะลดลง แต่กลุ่มคนเกือบจน ซึ่งหาเช้ากินค่ำเป็นอีกกลุ่มเสี่ยง อาจกลายเป็นคนจนได้ หากไม่พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมอนาคต

“นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโสจาก สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากการสังเกตการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในรอบนี้ ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการลงทะเบียนของคนจน เพราะหลายคนเข้าไม่ถึงข่าวสารการลงทะเบียน ด้านคนจนบางส่วนไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนตามจุดที่กำหนดได้ เนื่องจากไม่มีเงินในการเดินทาง ขณะเดียวกันบางคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เห็นได้จากการลงทะเบียนรอบที่แล้ว มีคนจนประสบปัญหาไม่ได้ลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน

“นอกจากนี้ยังมีคนรวยที่อยากจน มีการแอบอ้างมาสมัครรับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนมาก ซึ่งควรมีระบบการลงทะเบียนที่เข้มงวด นำเทคโนโลยีการตรวจสอบมาช่วยให้มากขึ้น และต้องมีการประเมินรายได้ในระดับครอบครัว โดยชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ”

จากสถิติการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเมื่อ 5 ปีก่อน มีคนจนมาลงทะเบียนประมาณ 14 ล้านคนทั่วประเทศ และการลงทะเบียนรอบใหม่ปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าผู้ที่ลงทะเบียนประมาณ 20 ล้านคน โดยจะเป็นกลุ่มคนจนและคนเกือบจน ซึ่งถ้ามองย้อนหลังไปปี 2531 จำนวนคนจนเคยมีมากสุดถึง 30 กว่าล้านคน แต่หลังจากนั้นก็มีปัจจัยทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง ภัยธรรมชาติ และการแพร่ระบาดของโควิด

สำหรับเกณฑ์การประเมินความยากจนตามกำหนดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าต้องมีรายได้ต่ำกว่า 2,700 บาทต่อเดือน ขณะนี้มี 5 ล้านคนทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มคนเกือบจน เป็นนโยบายการช่วยเหลือใหม่ของรัฐบาล จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี สอดคล้องกับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการกับกลุ่มคนเหล่านี้ 

...

หากมองแนวโน้มความยากจนขณะนี้ มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนเกือบจน หาเช้ากินค่ำ ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด มีแนวโน้มจะกลายเป็นกลุ่มคนจนจำนวนมาก เนื่องจากมีการตกงานเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการเก็บสถิติกลุ่มคนเกือบจนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 6 ล้านคน

บัตรคนจน ช่วยแค่ระยะสั้น ต้องพัฒนาทักษะแรงงาน

“นณริฏ” กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาคนจนของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังมีจุดอ่อนที่ต้องพัฒนาให้มีการแก้ปัญหาระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ แม้ขณะนี้จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ดังนั้นหน่วยงานรัฐจะต้องสร้างแรงจูงใจ ให้แรงงานมีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงาน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนมุมมองการคัดเลือกแรงงานตามความสามารถมากกว่าวุฒิการศึกษา เพราะทุกวันนี้ทักษะที่สถานศึกษาสอน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต 

สำหรับหน่วยงานรัฐจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ทักษะแรงงานให้มีความชัดเจน โดยทักษะเหล่านั้นจะต้องมาจากภาคธุรกิจเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐหรือสถานศึกษา ซึ่งจะช่วยผลักดันให้แรงงานกลุ่มเกือบยากจน พัฒนาตนเองให้มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น เพราะตอนนี้บริษัทหลายแห่งต้องการแรงงานที่มีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในอนาคต แต่สถานศึกษาและหน่วยงานรัฐยังไม่สามารถพัฒนาคนให้ตอบสนองความต้องการได้ จึงทำให้แรงงานส่วนใหญ่ยังติดกับดักความยากจน

“การแก้ไขความยากจนของหน่วยงานรัฐโดยให้เงินอุดหนุนไปเรื่อยๆ เหมือนทำให้ประชาชนติดสเตียรอยด์ แต่สิ่งเดียวที่จะแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้ ต้องทำให้แรงงานพัฒนาทักษะ ที่ช่วยทำให้มีค่าแรงเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจจะพัฒนาขึ้นไปด้วย เพราะไทยมีแรงงานที่มีคุณภาพ ทำให้นายจ้างขายสินค้าได้ราคาสูงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดแรงงานกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะสมัยใหม่ค่อนข้างสูง แต่ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐยังพัฒนาแรงงานได้ไม่ทัน"

การขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทยไม่ใช่เพียงภาพฝัน เพราะถ้าเทียบกับเกณฑ์ความยากจนที่ธนาคารโลกกำหนด ขณะนี้ไทยถือว่าพ้นเกณฑ์ความยากจน แต่จะต้องพัฒนารายได้ของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ถึงจะสร้างความยั่งยืนให้กับคนในประเทศได้.