ถือเป็นเรื่องที่คนยังติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด สำหรับ ดาราสาว “พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช” ที่ตอนนี้จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง จากคดี แชร์ลูกโซ่ Forex 3-d และศาลไม่ให้ประกันตัว
ที่ผ่านมา มีการอัปเดตชีวิตดาราสาว จากเพื่อนที่เข้าเยี่ยม และล่าสุด มีการรายงานจากสื่อว่า “พิ้งกี้” ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ
แต่...ในความจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ และการให้ข่าวดังกล่าว อาจจะมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในด้านกฎหมาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับแหล่งข่าว ที่ทำงานในกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า “ตำแหน่ง” ที่จะได้โดยผลของกฎหมาย จะมีหลักเกณฑ์คือ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และรับโทษแล้ว 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
กรณี “พิ้งกี้” ไม่น่าจะเป็นการแต่งตั้งได้ แต่อาจจะมีการช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ แต่พอมีการพูดว่า “เป็นผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่” โดยข้อเท็จจริง คือ ไม่สามารถเป็นได้เลย...เพราะ
1. พิ้งกี้ ยังไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด เป็นแค่ “ผู้ต้องขัง” หมายถึง คนที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาล ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายของราชทัณฑ์
โดยข้อเท็จจริง คือ คนที่เพิ่งจะติดคุก เรียกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง ยิ่งกรณี ฝากขัง ยังไม่มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาด ยิ่งเป็นไปไม่ได้
2. หากมีการแต่งตั้งจริงๆ จะมีผลทางกฎหมาย เช่น หากมีการอภัยโทษ จะมีโอกาสได้ลดโทษถึง 1 ปี
3. คดีที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ เช่น คดีข่มขืน ฆ่า หรือก่อคดีซ้ำซาก แรกเข้าเรือนจำจะเป็นนักโทษชั้นเลวมาก
...
หากที่สุดแล้วศาลตัดสินว่า มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ดาราสาวก็จะกลายเป็นนักโทษชั้นเลวทันที เพราะหากเป็นคดีฉ้อโกงธรรมดาทั่วไป หากศาลตัดสินก็จะเป็นนักโทษชั้นกลาง แต่ฉ้อโกง ถือว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ โทษหนักกว่า สถานะนักโทษจึงต่ำกว่า
ดังนั้น ในความเป็นจริง โอกาสที่จะได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก โอกาสแทบเป็นไปไม่ได้ หากเป็นนักโทษเด็ดขาด อย่างน้อย ต้องติด 2-3 ปีขึ้นไป ถึงจะมีโอกาสได้... อีกทั้งความจริงนักโทษชั้นเยี่ยมก็มีเยอะ ทำไมไม่ให้โอกาสคนอื่นก่อน
ยกตัวอย่าง กรณี นักข่าวชื่อดัง กว่าจะมาเป็นคนอ่านข่าวในเรือนจำได้ ต้องใช้เวลากว่าครึ่งปี อีกทั้งคดีที่เขาโดน ยังไม่ถือว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์
ไม่มีการแต่งตั้ง “ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน” มานานแล้ว มีเพียง ผู้ช่วยงาน สิทธิที่ได้แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ไม่พบว่ามีการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน” แล้ว จะเหลือแต่ “ผู้ช่วยงาน” ซึ่งผู้ช่วยงานจะไม่ได้ลดโทษ แต่ได้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น สามารถส่งจดหมายมากขึ้น อาทิตย์ละ 1 ครั้ง หากมีกิจกรรมในเรือนจำ ก็มีโอกาสที่จะมาเข้าร่วมได้ เช่น มี “โน้ต อุดม” มาแสดง ก็มีโอกาสได้ดู
คาดว่า “ผู้ช่วยงาน” มีทุกเรือนจำ คร่าวๆ คือ อัตราร้อยละ 2 คน สามารถทำงานโยธา ส่วนผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานนั้น ไม่มีการแต่งตั้ง เพราะไม่มีใครกล้าที่จะขอ...
หน้าที่ของ “ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่” โดยหลักจะต้องทำงานเกี่ยวกับโยธาฯ และงานบริการต่างๆ เช่น ดูแลล้างจานชาม จัดโต๊ะอาหาร ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการให้คุณหรือโทษผู้ต้องขังด้วยกัน
“งานวินัย” ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ให้ผู้ต้องขังทำ เพราะจะกลายเป็นการใช้อำนาจกดขี่ผู้ต้องขัง
สำหรับ การเลื่อนชั้น จะมีการเลื่อนทุก 6 เดือน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเลื่อนชั้นได้ที เพราะต้องมีการสอบ เช่น ดูผลการเรียน ความประพฤติ ไม่เคยทำผิดวินัย ก็มีโอกาสเลื่อนชั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ