เป็นข่าวใหญ่เมื่อวันก่อน (29 ส.ค.65) หลังสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด รวมทั้งเจ้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สภ.แม่ริม และชุดควบคุมฝูงชน รวมกว่า 300 นาย ประชุมเพื่อเตรียมเข้ารื้อถอนบ้านพักและรีสอร์ตทั้งหมด 5 แห่ง บนพื้นที่ดอยม่อนแจ่ม ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม ประกอบด้วย หลังสวนโฮมสเตย์ ม่อนดาวเรือง ม่อนดูดาว ม่อนแสงระวี และแสงเหนือแคมปิ้ง ซึ่งทั้งหมดถูกตรวจสอบและมีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ และมีการเปลี่ยนมือให้กับนายทุน หรือนอมินีเข้ามาประกอบกิจการแทน

ซึ่งต่อมา ได้มีกลุ่มชาวบ้าน ในนามของเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง 12 หมู่บ้าน ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง และอำเภอแม่ริม คัดค้านการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ โดยขอให้พิจารณาชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านออกไปก่อน และขอให้รอคำพิพากษาของศาลออกมาว่าจะมีผลเป็นอย่างไร ซึ่งชาวบ้านก็พร้อมน้อมรับคำตัดสินของศาลเมื่อถึงเวลานั้น

เปิดที่มา ปัญหาใน "ม่อนแจ่ม" ก่อนเดินหน้ารื้อรีสอร์ตที่ทำผิด 

...

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) เปิดเผยเบื้องหน้าเบื้องหลัง และที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า จุดเริ่มต้น คงต้องย้อนไปที่โครงการหลวงหนองหอย เดิมทีพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้ในการปลูกพืชผิดกฎหมาย ต่อมา ก็ได้เกิดโครงการหลวงเพื่อส่งเสริม ให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยบนเขา ได้ปลูกพืชเกษตรที่มีมูลค่าสูง และโครงการหลวงก็จะรับซื้อผลิตผลไปจำหน่ายให้

แต่...สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนไปมาก ตั้งแต่ช่วงปี 2561-2562 มีการบูมการท่องเที่ยว ชุมชนเดิมที่เริ่มปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากเกษตรเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งก็ถือว่าทำได้ เนื่องจาก ทางคณะรัฐมนตรี ได้มีมติ ผ่อนผันตั้งแต่ 30 มิ.ย.41 กรณีเป็นผู้อยู่อาศัยรายเดิม ให้สามารถทำกินได้ แต่ห้ามซื้อขาย เปลี่ยนมือ และบุกรุกใหม่ และเปิดโอกาสให้ ผู้ครอบครองมายื่นคำร้อง ตามมติ ครม. ในวันที่ 11 พ.ค.42 เพื่อให้ทางราชการทราบว่า ใคร...ครอบครองที่ดินตรงไหนบ้าง

นายกมล อธิบายว่า เจตนารมณ์เดิม มีความต้องการให้มีการโยกย้ายออกจากพื้นที่ เพราะ พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็น “พื้นที่ต้นน้ำ” ในชั้น 1 และ ชั้น 2 และเป็นพื้นที่ลาดชันสูง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ไม่สามารถอพยพออกมาได้ เพราะไม่มีพื้นที่รองรับ จึงมีการรังวัด ควบคุมพื้นที่ในช่วงปี 2551-2552 ซึ่งสำนักป่าไม้ที่ 1 ได้เข้ามาควบคุม ขึ้นรูปแปลงและระบุชื่อเจ้าของครอบครอง ซึ่งผู้ครอบครองทั้งหมด ต้องอาศัยก่อน 30 มิ.ย.41 โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศในปี 2545 เพื่อเป็นการพิสูจน์...

ปัจจุบัน มีการพิสูจน์พบว่ามีการทำรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยว 122 ราย ในจำนวนนี้พบว่า 86 ราย เป็นการครอบครองในรายนามเดิม แต่บางส่วนมีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย เกินกว่าความจำเป็น ซึ่งเวลานี้มีการพูดคุย เพื่อให้ชาวบ้านมีการปรับเปลี่ยนไปตามกระบวนการของกฎหมาย

อีก 36 ราย “พิสูจน์ทราบ” แล้วว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือมีการบุกรุกมากกว่าเดิม ตามแผนที่ทางอากาศ เมื่อปี 2545 มีการทำประโยชน์ในลักษณะ “นอมินี” โดยมีการตรวจสอบและเคยลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านแล้ว

ยกตัวอย่าง ชาวบ้านให้การในครั้งแรก ระบุว่าเป็น “นาย ก” เป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อลงไปสอบถามอีกครั้ง ก็บอกว่า พื้นที่ดังกล่าวมีนาย A เป็นของ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเดิม ซึ่งเป็นการเข้าข่าย “นอมินี”

“ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบหลายขั้นตอน มีการใช้พยาน และหลักฐาน ซึ่งเป็นภาพถ่ายทางอากาศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการครอบครองในปัจจุบัน จึงพบว่ามีการขยายพื้นที่เพิ่ม” นายกมล กล่าวและว่า

บางรายมีหลักฐานชัดเจนกว่า คือ สัญญาการซื้อขาย เปลี่ยนมือ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของดำเนินคดี ทั้ง 36 ราย อยู่ในชั้นศาลแล้ว 30 คดี ซึ่งศาลตัดสินแล้ว 4 คดี ซึ่งนี่คือกระบวนการทางอาญา

ส่วนกระบวนการทางการปกครอง ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อมีการสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นใด ที่เกิดขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติ ให้เจ้าหน้าที่ รื้อถอน และนำออกไป

...

พื้นที่ลาดชันสูง กับอันตรายที่เกิดขึ้นอนาคต :

นายกมล กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีความเสี่ยงในการพังทลายของหน้าดิน หากวันใดวันหนึ่งเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเกิดดินโคลนถล่ม การพังทลายของหน้าดิน ประกอบกับ การทำรีสอร์ตในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 122 แห่ง ไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างตาม พ.ร.บ.โรงแรม หรือควบคุมอาคาร ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ในเรื่องความมั่นคงแข็งแรง

พื้นที่ลาดชันสูง เปรียบเสมือนหลังคา ในการรองรับน้ำ หากเรานำใช้ประโยชน์ สร้างรีสอร์ต ที่ไม่มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ระบบสุขอนามัย และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน หากเกิดดินสไลด์ขึ้น สิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำที่มีมากกว่า 3 พันแห่ง อาจจะไหลลงแม่น้ำแม่สา ไหลต่อสู่แม่น้ำแม่ปิง จะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงกับคนที่อาศัยด้านล่างและในเมือง ถามว่า ผู้ที่กระทำผิดจะรับผิดชอบไหวไหม

เพราะแบบนี้ จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะผู้ที่มีการบุกรุกใหม่อย่างเข้มข้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการเปิดโอกาสให้กับผู้ครอบครองได้ชี้แจงข้อกล่าวหาถึง 2 ครั้ง และชี้แนะสามารถฟ้องศาลปกครองได้ ซึ่งศาลปกครองก็ไม่เพิกถอนคำร้องทั้งหมด

...

“เราดำเนินการตามมาตรการหลักการปกครอง เป็นที่มาของคำสั่งรื้อถอน โดยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า 2-3 ครั้ง หากยังไม่รื้อถอน เจ้าหน้าที่จะรื้อถอนเอง และต้องชดใช้ค่ารื้อถอน ซึ่งเราได้เชิญหลายหน่วยงานเป็นสักขีพยานในการรื้อถอน”

ที่ผ่านมา มีการรื้อถอนไปแล้ว 9 ราย ในจำนวนนี้ 5 ราย มีการแก้ไขด้วยตนเอง หากมีการรื้อถอนด้วยตนเองไปแล้ว เราก็พยายามดูแล โดยมีการส่งเรื่องไปยังเจ้าพนักงานอัยการ ว่า ได้รับความร่วมมือ ซึ่งตรงนี้มีผลต่อการพิจารณาการลงโทษด้วย โดยยืนยันว่าให้ความคุ้มครองกับคนที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ

“สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นการบุกรุกของนายทุน เฉพาะราย ดังนั้น การตรวจสอบและรื้อถอน ก็ต้องเป็นไปตามพยาน และหลักฐาน ไม่ใช่ว่าเราจะตั้งเป้ารื้อรีสอร์ตทุกแห่งเพื่อทำลายอาชีพ รายได้ของพี่น้องประชาชน”

นายกมล กล่าวว่า ตอนนี้ ได้ทำแผนแม่บท เพื่อจัดการปัญหาเข้าสู่ระบบ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จัดการเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเวลานี้อยู่ในกระบวนการ

...

เบื้องหลังต่อต้าน มีนายทุน ผู้นำท้องถิ่นบางคนร่วม :

นายกมล ยอมรับว่า รู้ล่วงหน้าว่าต้องมวลชนต่อต้าน ซึ่งก็ทราบว่ามีใครเป็นแกนนำบ้าง ซึ่งบางส่วนก็เป็นผู้นำท้องถิ่น นายทุน และปรากฏตัวอยู่ในม็อบ เวลานั้น แม้พยายามสื่อสารอะไรออกไป แต่กลุ่มคนที่มาประท้วงก็ไม่รับฟัง ดังนั้น จึงมีการต่อรองกันเกิดขึ้น และจะยังไม่รื้อ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปตรวจสอบ ว่าเจ้าของรีสอร์ตแต่ละแห่ง มีเจ้าของเป็นชาวบ้านจริงๆ หรือไม่..?

การสร้างรีสอร์ตแต่ละแห่ง เชื่อว่าต้องใช้ทุนมหาศาล ซึ่งเชื่อว่าหลายแห่งเป็นทุนของนอมินี และถือเป็นการละเมิดข้อกฎหมายทั้งสิ้น คำถามคือ เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้หรือครับ วันหนึ่ง เกิดดินถล่ม ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ไม่มีการขออนุญาตใดๆ เลย ไม่มีการรับรองด้านความปลอดภัยและมั่นคง

“ยืนยันว่า คนที่ไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ และบุกรุกเพิ่ม เราไม่ได้ไปดำเนินการใดๆ เลย ทุกคนยังสามารถทำมาหากินได้ปกติสุข กรุณาอย่าไปฟังคนอื่น การจะรื้อรีสอร์ตใด รีสอร์ตหนึ่ง จะมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ว่าเราจะรื้อทุกรีสอร์ต ตามที่มีการปั่นกระแสกัน ซึ่งวันจันทร์ที่ผ่านมา เรามีเป้าหมาย 5 รีสอร์ต ”

เมื่อถามว่า ชาวบ้านมองว่า เจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางทำมาหากิน ทั้งที่มีการพัฒนาพื้นที่ จะให้ปลูกพืชอย่างเดียว นายกมล กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ อะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและไม่ผิดกฎหมาย ไม่เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

พอจะมีแนวทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้มากกว่านี้ไหม นายกมล กล่าวยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เราเข้ามาเพื่อรักษา และพิทักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ ที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อประชาชน และนักท่องเที่ยว เราพิทักษ์กฎหมาย เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินต่อไปได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ