เทศกาลคเณศจตุรถี ปีนี้มีการจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม - 9 กันยายน โดยตลอด 10 วัน ของการจัดงาน ตามประเพณีชาวอินเดีย นอกจากมีพิธีกรรมการสักการะพระพิฆเนศ ตามความเชื่อแล้ว ยังมีนัยสำคัญถึงการสร้างประเทศอินเดีย ให้เข้าสู่ยุคใหม่ เพราะหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ 75 ปีก่อน เทศกาลนี้ค่อยๆ แพร่ขยายไปทั่วอินเดียและทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีการจัดงานในหลายพื้นที่

ตามประเพณีชาวอินเดีย เทศกาลคเณศจตุรถี เริ่มจัดวันแรกตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ และสิ้นสุดวันขึ้น 14 ค่ำ ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 9 กันยายน แต่แก่นหลักของเทศกาลนี้ นอกจากการสร้างความสามัคคีแล้ว ยังสะท้อนถึงปรัชญาของเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ที่ชาวอินเดียนำมาเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต สู่การพัฒนาประเทศที่ล้ำสมัยด้านการศึกษา และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

“ดร.นพ.มโน เลาหวณิช” อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ประเทศอินเดีย กล่าวว่า เทศกาลคเณศจตุรถี เป็นงานเฉลิมฉลองสำคัญของชาวอินเดีย หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ 75 ปีก่อน และถือเป็นเทพเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการกอบกู้ประเทศหลังได้รับเอกราช เพราะพระพิฆเนศ เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ ขจัดปัดเป่าอุปสรรคทั้งปวง ปัจจุบันเป็นเทพเจ้าที่มีคนรู้จักทั่วโลก เช่นเดียวกับไทยมีคนศรัทธาจำนวนมาก

ด้วยลักษณะของพระพิฆเนศ มีความโดดเด่น ชาวอินเดียต่างยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งการแสวงหาความรู้ เพราะศีรษะเป็นช้าง มีใบหูใหญ่เปรียบเหมือนบุคลิกของการเป็นผู้ฟังที่ดี ส่วนงวงช้างเหมือนกับการแสวงหาความรู้และข้อมูลตลอดเวลา 

นอกจากนี้ยังเป็นเทพเจ้าที่ไม่มีอาวุธประจำกาย มีแต่ขนมคอยแจกให้กับผู้อื่น จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ใฝ่เรียน มีความเป็นนักปราชญ์

...

สำหรับเทศกาลคเณศจตุรถี เริ่มต้นครั้งแรกในอินเดีย ก่อนจะขยายความนิยมไปทั่วประเทศ โดยการจัดงานมีด้วยกัน 10 วัน แต่ละวันมีพิธีกรรมที่แตกต่าง แต่วันที่สำคัญคือวันแรก จะมีพิธีกรรมทางพราหมณ์ ส่วนวันต่อมามีการอ่านบทสวด และแจกอาหาร ขนมให้กับผู้ยากไร้ พอถึงวันสุดท้ายของเทศกาลมีการนำองค์พระพิฆเนศไปลอยแม่น้ำ แต่ข้อห้ามสำคัญตลอดเทศกาลคือ ห้ามฆ่าสัตว์

“สีสันสำคัญของเทศกาลจะเป็นการแห่องค์พระพิฆเนศ ไปรอบเมือง ก่อนนำไปลอยในแม่น้ำตามความเชื่อ เพราะชาวอินเดีย มีความเชื่อว่า แม่น้ำคงคามีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะแห่เทพเจ้าอะไรก็ต้องนำไปลอยน้ำ ขณะเดียวกันจะมีการจุดเทียนชัย ด้วยจำนวนเลขคี่ ซึ่งจะต่างจากความเชื่อแบบจีน ที่นิยมเลขคู่”

ส่วนบทสวดในช่วงเทศกาล แต่ละวันพราหมณ์ ต้องนำสวดคัมภีร์พระเวท ไม่ต่ำกว่า 7 บท เมื่อสวดเสร็จแล้วมีการนำน้ำฝนมาให้ผู้ร่วมประกอบพิธีดื่ม โดยน้ำที่นำมาให้ดื่ม ห้ามเป็นน้ำประปา เพราะมีความเชื่อว่าต้องเป็นน้ำฝนที่มีความบริสุทธิ์เท่านั้น

“ประวัติศาสตร์การสร้างชาติอินเดีย มีความเกี่ยวโยงกับเทพเจ้ามาโดยตลอด จึงมีการปลูกฝังเกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อมาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เด็กได้ซึมซับ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่เปรียบเสมือนปรัชญาของการดำเนินชีวิต”

สำหรับคนไทย ไม่อยากให้บูชาพระพิฆเนศ แบบงมงาย แต่ควรแสวงหาความรู้ รับฟังผู้อื่นแบบเปิดใจกว้าง และพร้อมเรียนรู้ปรัชญาการดำเนินชีวิต แต่ถ้าผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปที่เทวสถานที่มีการประกอบพิธี หรือสวดมนต์เพื่อเจริญสติอยู่ที่บ้านของตนเองก็ได้เช่นกัน.