เป็นข่าวคราวอีกครั้ง สำหรับ กองทุน กยศ. จากการลดดอกเบี้ยเป็นแสนบาท ให้กับผู้ที่ค้างชำระ และเข้ามาปิดยอด จนกระทั่งล่าสุด มีรายงานว่า เว็บไซต์ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ มีการแชร์ข้อความเชิญชวนลงรายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยกเลิกหนี้ กยศ. จนกลายเป็นพูดถึงในโลกโซเชียลฯ โดยเฉพาะขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เข้าใจเหตุผลว่า เหตุใดไม่ควรยกเลิก ประมาณว่า “ก่อหนี้เอง ก็ควรชดใช้เอง”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า เวลาคนเราขาดโอกาส จึงได้ตัดสินใจกู้เงินไป ซึ่งในความเป็นจริง หลังจากที่กู้เงินไปแล้ว และเรียนจบ เขาไม่ได้เอาเงินมาใช้หนี้ทันทีนะ เขายังเอาไปใช้จ่ายในชีวิต ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อมือถือใหม่ พอถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วก็ชำระหนี้ กยศ. ไม่ไหว ซึ่งความจริง กองทุน กยศ. ถือเป็นกองทุนที่มีความ “ใจดี” ที่สุดแล้ว เพราะเราคิดดอกเบี้ยรายปี แตกต่างจากเงินกู้อื่นๆ
“สมมติว่ามีการยกหนี้ให้จริงๆ เงินที่ให้กู้ยืมไป ก็ไม่ไหลกลับเข้ามาอีกแล้ว ปีหน้าเราต้องใช้เงินเพื่อให้เด็กนักเรียนกู้ อีก 30,000 กว่าล้าน คำถามคือ รัฐจะเอาเงินจากที่ไหนมากู้ยืม ทั้งที่บางคนก็ไม่ได้เป็นคนจนจริงๆ แต่เราก็ให้กู้”
...
มีเคสหนึ่งเกิดขึ้น บอกว่า เขาถูกอายัดบัญชีเงินเดือน แล้วเขาก็เข้ามาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร...
“ผมถามเขาว่า น้องขับรถอะไรครับ”
“ขับรถเชฟโรเลต”
“งั้นก็ขายรถคันนี้สิ”
“ไม่ได้ เพิ่งดาวน์มา 6 เดือน”
ความเป็นจริง คือ ลูกหนี้รายนี้เป็นหนี้ประมาณ 3 แสนบาท แต่สามารถดาวน์รถคันละเป็นล้านบาทได้ แบบนี้ควรทำอย่างไรดี...?
นี่คือสิ่งที่ ผอ.กองทุน กยศ. ตั้งคำถาม
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า แต่ละปีไม่มีลิมิตเรื่องการให้ทุนการศึกษา ซึ่งเวลานี้อยู่ในระดับทุนหมุนเวียนที่มีความพร้อมแล้ว ปัจจุบัน มีผู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,458,429 ราย คิดเป็น 56% อยู่ระหว่างปลอดหนี้ 1,056,958 ราย ชำระหนี้สินเสร็จสิ้น 1,633,702 ราย เสียชีวิต และทุพพลภาพ 68,369 ราย
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ