ภายใต้ความเรืองรองที่ฉาบเคลือบไปด้วยรัศมีแห่งความยิ่งใหญ่ในฐานะหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีเกียรติประวัติอันสูงส่ง และยังถูก “ฟอร์บส์” (Forbes) ประเมินว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่าประเมิน 3,700 ล้านปอนด์ (ณ เดือนพฤษภาคม 2022) หากแต่การไร้ซึ่งความสำเร็จใดๆ มายาวนานถึง 5 ปี และไม่ได้สัมผัสถ้วยพรีเมียร์ลีกมานานถึง 9 ปี อีกทั้งการออกสตาร์ตฤดูกาลใหม่ ภายใต้กุนซือแห่งความหวังอย่าง เอริก เทน ฮาก ยังเต็มไปด้วย “ความสับสนอลหม่าน” คำถามเดิมๆ จึงถูกผุดขึ้นมาอีกครั้งว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ "แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด" ตกต่ำได้ถึงเพียงนี้?
ซึ่งก็แทบไม่ต้องเดา “คำตอบ” ที่เหล่า “สาวกเรดอาร์มี” พร้อมประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกัน เพื่อเป็น “คำตอบ” ในเรื่องนี้ก็คือ “ตระกูลเกลเซอร์” เจ้าของทีมในปัจจุบันของยูไนเต็ดอย่างไม่ต้องสงสัย
...
แล้วมันเพราะอะไร “เรดอาร์มี” จึงชิงชังเหล่า Glazers Family มากมายนัก?
17 ปี กับหนี้สินสุทธิก้อนโต 495.7 ล้านปอนด์ :
“คุณ” อ่านไม่ผิด ตัวเลขที่เพิ่งผ่านสายตาไปในบรรทัดด้านบน คือจำนวน “ยอดหนี้สินสุทธิ” ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ณ สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2022 ตามรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2022 ของ ยูไนเต็ด ที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา หลังนำยอดหนี้ 591.5 ล้านปอนด์ มาหักด้วยเงินสดสำรอง 95.8 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี จำนวนหนี้สิน 591.5 ล้านปอนด์ที่ว่าถือเป็นตัวเลขที่ “ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” เมื่อเปรียบเทียบกับ “หนี้สิน” จำนวน 603 ล้านปอนด์ ในช่วงสิ้นปีแรกของการครอบครองแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทั้งๆ ที่ ตระกูลเกลเซอร์ เข้า Take over มานานร่วม 17 ปี แล้วก็ตาม
แล้วหนี้สินสุทธิ 495.7 ล้านปอนด์ มาจากไหน? :
“คำตอบ” คือ หนี้ก้อนนี้มาจากการกู้เงินเพื่อเข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ ตระกูลเกลเซอร์ตั้งแต่เมื่อปี 2005 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน และแม้เวลาจะเดินทางผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษ หนี้ก้อนนี้ก็ยังคงอยู่!
จุดเริ่มต้นหนี้สิน :
ซัมเมอร์ปี 2005 ตระกูลเกลเซอร์ มหาเศรษฐีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สัญชาติอเมริกัน และเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลแทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส แห่ง NFL ตกอยู่ภายใต้แสงสปอตไลท์ทันที หลังประกาศเข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึง 790 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ดีสื่อในอังกฤษหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ตระกูลเกลเซอร์ ใช้เงินส่วนตัวสำหรับดีลนี้เพียงประมาณไม่เกิน 270 ล้านปอนด์ และส่วนที่เหลือคือ “เงินกู้” จากบรรดาสถาบันการเงินต่างๆ
ด้วยเหตุนี้เมื่อกระบวนการ Take over เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ สโมสรชื่อดังของประเทศอังกฤษ ซึ่งแทบไม่เคยมีหนี้สินมาตั้งแต่ปี 1931 จึงต้องสัมผัสเข้ากับ “หนี้ก้อนโตก้อนแรก” ที่คาดว่าน่าจะสูงถึง 520-550 ล้านปอนด์ทันที! และแน่นอนว่าในเมื่อเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน มันจึงต้องมี “ดอกเบี้ย” ที่ ยูไนเต็ด จะต้องรับผิดชอบด้วย
การกู้เงินมาซื้อสโมสรปิศาจแดง สร้างปัญหาขนาดไหน :
หลังเข้ายึด แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไว้ในกำมือ "ตระกูลเกลเซอร์" มีการปรับโครงสร้างทางการเงินของสโมสรหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งทำให้ในปี 2010 ยอดหนี้ก้อนนี้ได้พอกพูนถึงมากกว่า 700 ล้านปอนด์! และทำให้ในเวลานั้นปิศาจแดงต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 62 ล้านปอนด์
ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกพันธบัตร 500 ล้านปอนด์ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้บางส่วน ขณะเดียวกันยังได้มีการนำสโมสรเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กในปี 2012 จนกระทั่งปัญหาเริ่มคลี่คลาย
...
อย่างไรก็ดีในเมื่อมีหนี้สินมากมายขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะอะไรในช่วงระหว่างที่ "เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน" คุมทีมระหว่างปี 2005-2013 ภายใต้การนำของตระกูลเกลเซอร์นั้น “ป๋าเฟอร์กี้” มีเงินสำหรับการใช้จ่ายซื้อนักเตะรวมกันเพียง 164 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียง 20 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาลเท่านั้น ในขณะที่ “เพื่อนบ้านผู้น่ารำคาญ” ของป๋า อย่าง "แมนเชสเตอร์ ซิตี้" ใช้จ่ายเงินในช่วงเวลาเดียวกันสูงถึง 466 ล้านปอนด์! แถมหนึ่งในจำนวนการใช้เงินนั้นคือ “ป้ายเย้ยหยัน” ที่มีชื่อว่า “ยินดีต้อนรับสู่แมนเชสเตอร์” ที่ เรือใบสีฟ้า บรรจงมอบให้กับ “ผู้แปรพักตร์” อย่าง "คาร์ลอส เตเบซ" อดีตกองหน้ายูไนเต็ด ในช่วงซัมเมอร์ปี 2009 ด้วย!
ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย :
ในช่วงรอบบัญชีระหว่างปี 2020-2021 ยูไนเต็ด รายงานว่า จ่ายดอกเบี้ยไปแล้ว 20.5 ล้านปอนด์ ส่วนในรอบบัญชีระหว่างปี 2021-2022 ตามรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ปิศาจแดง รายงานว่า สิ้นสุดเดือนมีนาคมจ่ายดอกเบี้ยไปเพิ่มอีก 18.2 ล้านปอนด์
...
ซึ่งเงินจำนวนที่ว่านี้ “มากเพียงพอ” สำหรับจ่ายเป็นค่าเหนื่อยให้กับ "แฟรงกี เดอ ยอง" นักเตะที่ "เอริก เทน ฮาก" ต้องการนักต้องการหนาได้อย่างสบายๆ
อย่างไรก็ดี “ดอกเบี้ย” ณ ปัจจุบัน ที่ยูไนเต็ดต้องจ่ายนี้ ถือว่าต่ำกว่า “ดอกเบี้ย” ที่เคยจ่ายในช่วง 5 ปีแรกที่ตระกูลเกลเซอร์เข้าครอบครอง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เนื่องจากในช่วงนั้นมีการประเมินว่า ยูไนเต็ด ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 40 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล อันเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2015 จนกระทั่งทำให้ดอกเบี้ย ลดลงมาเหลือเฉลี่ยประมาณ 19 ล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่แม้กระนั้นตัวเลขเฉลี่ยที่ว่านี้ก็ยังคงสูงกว่า “ดอกเบี้ย” ที่ทีมชั้นนำในยุโรปส่วนใหญ่ต้องจ่ายอยู่ดี
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของ The Independent สื่อชื่อดังของอังกฤษ คาดว่า ลำพังเพียงเฉพาะดอกเบี้ยที่ยูไนเต็ดต้องจ่ายจากเงินกู้ของตระกูลเกลเซอร์ ใน 17 ปีที่ผ่านมา น่าจะมียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 743 ล้านปอนด์ไปแล้ว!
เงินปันผลที่น่าสงสัย :
ตั้งแต่ปี 2016 ตระกูลเกลเซอร์ เริ่มนำเงินออกจากสโมสร ด้วยวิธีจ่ายเงินปันผลให้กับจำนวนหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ ซึ่งเบื้องต้นสื่อในอังกฤษคาดการณ์ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้ มีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น (ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่คือสมาชิกของตระกูลเกลเซอร์) ไปรวมกันแล้วมากกว่า 154 ล้านปอนด์ ทั้งๆ ที่สโมสรยังมีภาระหนี้สินสูงลิบลิ่วก็ตาม
นอกจากนี้สื่อในอังกฤษยังขุดคุ้ยต่อไปอีกว่า ในช่วงระหว่างปี 2011-2022 นั้น ปิศาจแดง ใช้เงินลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพียง 94 ล้านปอนด์เท่านั้น แถมยังละเลยการปรับปรุงซ่อมแซม “โรงละครแห่งความฝัน” และสนามซ้อมที่แคร์ริงตัน อันน่าภาคภูมิใจ จนกระทั่งทรุดโทรมลงอย่างน่าใจหายด้วย
...
การตอบโต้ของตระกูลเกลเซอร์ :
“เรา (ยูไนเต็ด) มีหนี้สิน แต่สโมสรอื่นๆ ก็มีหนี้สินเช่นกัน แต่เรามีความคืบหน้าในการลดหนี้สินลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนี้สินสุทธิที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และขอยืนยันว่าปัญหานี้จะไม่กระทบต่อความสามารถในการบริหารงานแน่นอน” โจเอล เกลเซอร์ (Joel Glazer) ประธานร่วมสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กล่าวตอบโต้เสียงติฉินนินทาต่างๆ นานาที่มีต่อการบริหารงานของตระกูลเกลเซอร์
ส่วนในประเด็น “ความเคลือบแคลง” เรื่องการจ่ายเงินปันผลนั้น โจเอล เกลเซอร์ โต้ตอบว่า “10 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของรายได้รวมมากกว่า 500-600 ล้านปอนด์ โดยมันอยู่ในสัดส่วนเพียงประมาณ 3% เท่านั้น”
17 ปี ภายใต้ร่มธงของตระกูลเกลเซอร์ หากไม่นับช่วงเวลาที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังคุมทีมอยู่ หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาเชื่อว่าบรรดาเรดอาร์มี “คงแทบจะหาช่วงเวลาแห่งความสุขใจได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “อริราชศัตรูสำคัญ” อย่าง "ลิเวอร์พูล" กลับแข็งแกร่งมากขึ้นทุกทีๆ
ฉะนั้นหากจะไปถึง “ยุคของการเปลี่ยนแปลง” ลำพังเพียงการเปลี่ยนกุนซือ อาจไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ เพราะเหนือขึ้นไปกว่านั้น “การทำงานของบอร์ดบริหาร” ต้องสนับสนุนแนวทางที่ เอริก เทน ฮาก กำลังมุ่งไป โดยเฉพาะการซื้อขายนักเตะเพื่อให้เข้ากับแท็กติกที่กุนซือหนุ่มคนนี้กำลังวางหมุดหมายสำหรับอนาคตด้วย
หากแต่ที่คำถามสำคัญในเวลานี้ คือ “การบริหารงานที่ล้มเหลวในการซื้อขายนักเตะ” ที่นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ล้างผลาญเงินไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ กับนักเตะถึง 33 คน รวมถึงการจ่ายค่าเหนื่อยที่แพงเกินพอดีสำหรับนักเตะ (บางคน) “คุณ” ยังไว้ใจ ตระกูลเกลเซอร์ และผู้บริหารที่พวกเขาแต่งตั้งมาอยู่อีกหรือไม่?
รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2022 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
รายได้เชิงพาณิชย์ 65.6 ล้านปอนด์
รวม 9 เดือน 194 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
รายได้จากการถ่ายทอดสด 51.5 ล้านปอนด์
รวม 9 เดือน 181.2 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 15.7% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
รายได้ในวันที่มีการแข่งขัน 35.7 ล้านปอนด์
รวม 9 เดือน 89.1 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 1,756.8% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
รวมรายได้ 152 ล้านปอนด์
รวม 9 เดือน 464.7 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง