“ทำแบบนี้สิ...ใครๆ ก็ทำกัน”

ถือเป็นหนึ่งในนิสัยคนไทย (บางส่วน) ที่เห็นช่องทางได้เงินแล้ว แล้วกระทำการฉ้อโกง

ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำลังไล่ตรวจสอบบุคคลอาจจะเข้าข่าย กระทำการโกงประกันโควิด โดยเฉพาะช่วงโปรโมชัน “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งถือเป็นการปลอมแปลงเอกสาร นอกจากนี้ ยังมีรายงานการโกงเงินประกันชีวิต

เรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามเบื้องหน้าเบื้องหลังกับ พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปอศ. เผยว่า สาเหตุที่มีการจับกุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากบริษัทประกันได้ให้ข้อมูลไปกับทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งการฉ้อโกง ดังกล่าวเกิดขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ตัวแทนของบริษัท ทำการฉ้อโกงบริษัท กับกรณีการฉ้อโกงประกันโควิด

พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า กรณีตัวแทนฉ้อโกงประกันชีวิต มีที่มาจาก บริษัทต้นทาง 2 บริษัท ได้ส่งหนังสือเรียกเก็บค่าสินไหม กับคนที่ซื้อประกันชีวิต ปรากฏว่า ลูกค้าก็ได้ชี้แจงกลับมาว่า ได้ทำการจ่ายเงินให้กับบริษัทไปแล้ว ผ่าน “ตัวแทน” ด้วยเหตุนี้ บริษัทต้นทางจึงได้มีการสอบสวนกับตัวแทน และยอมรับผิดว่ามีการ “ยักยอกเงิน” ไป โดยมีผู้กระทำผิด 5 ราย โดยมีการออกหมายจับแล้ว 3 ราย และจับได้แล้ว 2 ราย ส่วนอีก 2 ราย กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยมีการตั้งข้อหากระทำการทุจริตด้วยการหลอกลวงผู้อื่น โดยการชักชวน ชี้ช่อง ให้ทำหรือ รักษาสถานะประกันชีวิต แต่ไม่มีการดำเนินการทำสัญญาเกิดขึ้น ซึ่งกรณีนี้ มีความเสียหายสูง 52 ล้านบาท

...

นี่คือการโกงประกันชีวิต...ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงมาก โดย ผกก.4 บก.ปอศ. เผยสาเหตุว่า เพราะการเรียกเก็บเงินประกันชีวิตเหล่านี้ บางคนมีการจ่ายเบี้ยประกันสูง บางเคสจ่ายกรมธรรม์เดียวมากกว่า 2 ล้านบาท

นอกจากประกันชีวิตแล้ว ยังมีการโกงประกันโควิด ซึ่ง พ.ต.อ.วีระพงษ์ บอกว่า คดีนี้ ตำรวจได้มีการตั้งข้อหาเรียกรับผลประโยชน์ ตามกรมธรรม์ โดยทุจริต หรือแสดงหลักฐานอื่นอันเป็นเท็จ โดยมีความเสียหายรวม 1 ล้านกว่าบาท สาเหตุที่วงเงินไม่สูงมาก เพราะมีการจ่ายรายละ 50,000-100,000 บาท

“เคสนี้ มีการใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมไปเบิกเงินกรมธรรม์ ซึ่งเป็นประเภทวินาศภัย ตามโปรโมชัน “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งคดีนี้มีการดำเนินคดีไปแล้ว 18 ราย จับกุมได้แล้ว 11 ราย และจากการสอบสวนพบว่า คนที่นำใบแพทย์ปลอมหลายๆ คน ไม่เคยเดินทางไปโรงพยาบาลที่แอบอ้างเลย ซึ่งโรงพยาบาลที่ถูกนำมาใช้ เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด”

พ.ต.อ.วีระพงษ์ ชี้ว่า ใบรับรองแพทย์เหล่านี้มันหาได้ง่ายๆ ตามอินเทอร์เน็ต หรือ บางส่วนก็เอามาจากใบรับรองแพทย์เก่าๆ ที่เคยใช้กัน แล้วไปแก้ชื่อนามสกุล อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จากการสอบสวนไปยังโรงพยาบาลต้นทาง ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ทางตำรวจก็ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป ว่ามีคนอื่นคนใดเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ในเบื้องต้น พยาน หลักฐาน ที่มียังไม่ถึงในส่วนโรงพยาบาล แต่ก็คงต้องสอบทุกมิติ

“คำสารภาพของคนที่ทุจริต อ้างว่า ไม่เคยไปที่โรงพยาบาล มีคนจัดการให้...คาดว่าน่าจะมีการทำเป็นขบวนการ”

เมื่อถามว่า มีรายงานว่า “อาจจะ” มีผู้เกี่ยวข้องกับการโกงประกันโควิด ถึง 4,000 ราย ผกก.4 บก.ปอศ. อธิบายว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นของ คปภ. ที่เขาเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งถามว่าจะผิดถึง 4,000 คนเลยหรือไม่ เชื่อว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น คงต้องมีการตรวจสอบกันต่อ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...