เรียกว่ารับมือแทบไม่ทัน สำหรับเหตุน้ำท่วมใหญ่ ที่ จ.เชียงราย เมื่อ 3 วันก่อน ที่จู่ๆ เกิดฝนตกหนัก จากฤทธิ์ “มู่หลาน” ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วม ส่งผลให้มีคนเดือดร้อนมากกว่า 2 พันครัวเรือน และวันนี้ (15 ส.ค.) อยู่ในช่วงการฟื้นฟูจากความเสียหาย และเยียวยาช่วยเหลือประชาชน

ถึงแม้ “มู่หลาน” จะผ่านไปแล้ว แต่มรสุมและกลุ่มฝนยังไม่จบ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาเตือนว่ามีมรสุมใหม่ ที่กำลังพาดผ่านประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมไปถึง กรุงเทพมหานคร

นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บอกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า สิ่งที่ต้องจับตา คือ หลังวันที่ 19-23 ส.ค.นี้ อาจจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่มีร่องมรสุมพัดผ่าน ซึ่งเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาฯ ได้มีการประกาศแจ้งเตือนไป

...

“ในช่วงที่ผ่านมา ที่เชียงราย เชียงใหม่ ได้รับผลกระทบ มาจากอิทธิพลของ พายุ “มู่หลาน” แต่เชื่อว่า หลังจากนี้ จะไม่หนักเท่ากับตอนนั้น แต่ก็ต้องติดตามก่อน ว่าร่องมรสุมที่พัดผ่าน จะกลายเป็นพายุหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลส่วนนั้น คงต้องรอใกล้ๆ ก่อน ถึงจะตามดูได้ เพราะหากเราคาดการณ์ร่วงหน้า ผลที่ได้อาจจะมีความคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม เราก็จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ เพื่อที่จะได้วางแผนเตรียมการรับมือ”

หลายจังหวัดต้องเฝ้าระวัง

ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า จังหวัดที่ต้องระมัดระวังในช่วงนี้ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ถึงแม้เวลานี้ได้สำรวจเรดาร์แล้ว ไม่พบกลุ่มฝน แต่จังหวัดเหล่านี้ค่อนข้างมีความสมบูรณ์ในทางธรรมชาติ จะมีฝนตกเป็นประจำ ทำให้พื้นที่ค่อนข้างชุ่มไปด้วยน้ำอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า มี “เขื่อนดิน” ในเมียนมา แตก? นายกลวัชร ยอมรับว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านน้อยมาก ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ จะต้องติดตามกับทาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งล่าสุด ทาง สทนช. ก็มีการแจ้งเตือน ว่าฝั่งลาว มีการระบายน้ำเพิ่มเข้ามา จึงต้องให้ประชาชนที่อาศัยริมฝั่งโขง เฝ้าระวัง

“ตอนนี้เรามีปัญหาด้านข้อมูลน้ำในเมียนมา เราไม่สามารถรู้ได้เลย ครั้งหนึ่งที่ผมเคยทำงานใน อ.พบพระ จ.จาก จู่ๆ ทางเมียนมา ก็ปล่อยน้ำลงมา มารู้ตัวอีกที น้ำก็นองแล้ว ทำให้เราแจ้งเตือนประชาชนได้ล่าช้า แม้แต่เรดาร์ฝนในฝั่งของเขา เราก็ดูไม่ได้ การขาดข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตั้งรับไม่ทัน”

 

“เขื่อนแตก” ในเมียนมา ไม่เป็นความจริง แต่น้ำมาก ล้นตลิ่ง ไหลมาถึงไทย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังได้สอบถามเรื่องนี้ กับ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรณี ฝนตก น้ำหลาก ที่เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ถือว่าแจ้งเตือนประชาชน ช้าเกินไปหรือไม่ นายสุรสีห์ ยืนยันว่าไม่ได้แจ้งเตือนล่าช้า เพราะเหตุฝนตก น้ำท่วมหนัก จริงๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12-13 ส.ค. แต่ทางเราได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปบอกกับประชาชนตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. และออกหนังสือในวันที่ 10 ส.ค.

“ในพื้นที่ต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ก็ได้รับการแจ้งเตือนแล้ว แต่คาดว่า ประชาชน อาจจะคาดไม่ถึงว่าจะเจอปริมาณน้ำสูงขึ้นมาก จึงทำให้รับมือไม่ทัน”

เมื่อถามว่า มีรายงานว่า “เขื่อนดิน” ในเมียนมา แตก เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ไม่ใช่เขื่อนแตก เรื่องนี้มีการตรวจสอบไปยังหน่วยงานในเมียนมาแล้ว โดย ผวจ.เชียงราย ได้ประสานไปยัง ผวจ.ท่าขี้เหล็ก ของเมียนมา และได้รับคำยืนยันมาว่าไม่มีเขื่อนแตก ซึ่ง เขื่อน หรือ อ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ ในเมียนมา ถือว่ามีน้อย

“สาเหตุที่น้ำท่วมหนัก ครั้งนี้ มาจากเกิดฝนตก และน้ำไหลลงแม่น้ำแม่สายจำนวนมาก และตรงที่ดังกล่าว มีลักษณะแคบ จึงเกิดน้ำล้นตลิ่งเอ่อท่วมขึ้นมา ทำให้น้ำไหลบ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว”

...

เร่งทำความร่วมมือ ไทย-เมียนมา ทำแผนป้องกันน้ำท่วมภาคเหนือร่วมกัน

เลขาฯ สทนช. ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ไทยพยายามทำความร่วมมือกับเมียนมา ในเรื่องข้อมูลป้องกันน้ำท่วม หรือ การพยายามติดตั้งระบบ “โทรมาตร” (อุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลระยะไกล สามารถวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเข้มแสง ความเร็วลม เชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติผ่านระบบรับส่งข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม) เครื่องมือนี้จะช่วยวัดระดับน้ำ และปริมาณน้ำดังกล่าว สามารถเดินทางมาอีกที่ จะใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งหากมีเครื่องมือเหล่านี้ติดตั้งในเมียนมา เราก็จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้

แต่...กรณีนี้ เรายังไม่สามารถเข้าไปติดตั้งในพื้นที่ของเมียนมา หรือท่าขี้เหล็กได้ ที่ผ่านมา ก็พยายามขอความร่วมมืออยู่ ก็ได้รับความร่วมมือระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มาก ซึ่งความเป็นจริง ถึงแม้เมียนมา จะไม่อยู่เวทีลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มี ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่เมียนมาก็มีความสำคัญ เพราะน้ำจากแม่น้ำแม่สายก็ไหลลงโขงด้วย

“เราพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานข้อมูลไปยัง รองนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ซึ่งท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ”

...

13 มาตรการป้องน้ำท่วม แจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 1-3 วัน

นายสุรสีห์ กล่าวว่า ตอนนี้เราได้เตรียม 13 มาตรการในการรับมือฤดูฝน อาทิ คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง และให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ, ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ, ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ คันกั้นน้ำ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ไหน ที่มีแนวโน้ม ว่าจะเกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน เราก็วางแผนไปตั้งศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า โดยมีการเลือกพื้นที่ทุกภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ จ.พิษณุโลก ภาคกลาง ที่ จ.ชัยนาท ภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี

การตั้งศูนย์ฯ แต่ละจุด เลือกจากความจำเป็นในการใช้พื้นที่ประมวลสถานการณ์ ซึ่งข้อดี ของศูนย์ฯ ส่วนหน้านี้ ทาง สทนช. จะเป็นเจ้าภาพ สามารถทำงานในพื้นที่ได้ทุกหน่วยงาน ทั้งคนจากกรมอุตุฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) นอกจากนี้ จะมีการประชุม ประมวลสถานการณ์ และสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทันที ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมมากกว่าทุกปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

เลขาฯ สทนช. ยังอธิบายกรอบการแจ้งเตือนประชาชน ว่า ต้องแจ้งล่วงหน้า 2-3 วัน เพราะที่ผ่านมา เรายอมรับว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่ง ท้วงติงเรื่องนี้ เราได้ก็พยายามกำชับเจ้าหน้าที่ ให้แจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีเวลารับมือ

“น้อยที่สุด ต้องให้ประชาชนมีเวลารับมือ ภัยพิบัติน้ำท่วม 1 วัน ทั้งแจ้งเตือน ยกของขึ้นที่สูง หรือแม้แต่การอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งจะมีการเตรียมสถานที่ไว้ก่อนล่วงหน้า โดยที่ผ่านมา มีการซักซ้อมอพยพ ที่ศูนย์ฯ ส่วนหน้าเหล่านี้บ้างแล้ว”

ส่วนตัวเชื่อว่า มรสุมที่กำลังจะพาดผ่านในช่วงวันที่ 20 ส.ค.นี้ จะไม่สร้างความเดือดร้อนถึงขั้นวิกฤติ เพราะเท่าที่ประเมินสถานการณ์ เชื่อว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าตอนที่มีพายุ “มู่หลาน” หรือแม้แต่เท่าที่ประเมินสถานการณ์ว่า ในช่วงกันยายน อาจจะมีพายุจรเข้ามา หากประชาชนเดือดร้อนและมีความจำเป็น ก็ต้องไปตั้งศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ