"เอริก เทน ฮาก" กุนซือหนุ่มเนื้อหอมผู้พกพาความมาดมั่น มาแสวงหาความท้าทายครั้งใหม่บนเกาะอังกฤษได้รับ “การต้อนรับน้องใหม่” อย่างชนิดที่เรียกว่า “จุกอกจุกใจ” หลังสองนัดแรกประเดิมพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้ “ปิศาจแดง" ภายใต้ Concept ใหม่ ถูกทีมเล็กๆ ในพรีเมียร์ลีก อย่าง "ไบร์ทตัน" (คาบ้าน 1-2) และ "เบรนท์ฟอร์ด" (4-0) เอาชนะไปได้ แถมยังเป็นการเอาชนะในแบบชนิดที่เรียกว่า “สู้ไม่ได้” ด้วยประการทั้งปวง โดยเฉพาะ “35 นาทีแห่งความน่าอับอาย” ที่ จีเทคคอมมูนิตีสเตเดียม ในนัดล่าสุด!
...
4 ประตูต่อ 0 ภายในเวลาเพียง 35 นาทีแรก คือเกมการเล่นที่เต็มไปด้วย “ความผิดพลาด ไร้ทรง ก่นด่ากันเองไปมา และปราศจากจิตใจแห่งความเป็นนักสู้อย่างสิ้นเชิง”
2 นัดแห่งความสิ้นหวังนี้ มีสถิติที่น่าสนใจอะไรบ้าง :
2 นัดแห่งความพ่ายแพ้นี้ ทำให้ “เอริก เทน ฮาก” กลายเป็นผู้จัดการทีมคนแรกในรอบเกือบศตวรรษของปิศาจแดง นับตั้งแต่ "จอห์น แชปแมน (John Chapman)" ที่ประเดิมหน้าที่ในฐานะกุนซือยูไนเต็ด ด้วยความพ่ายแพ้ 2 นัดติดต่อกันเมื่อปี 1921
การพ่ายแพ้ต่อ เบรนท์ฟอร์ด ทำให้ ยูไนเต็ด พ่ายแพ้เกมเยือนในลีกเป็นนัดที่ 7 ติดต่อกัน (รวมฤดูกาลที่ผ่านมา) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1936 โดยยิงไปได้เพียง 2 ประตู และเสียประตูมากถึง 21 ลูก
ความพ่ายแพ้ ต่อ เบรนท์ฟอร์ด ถือเป็นครั้งแรกในลีก ที่แมนยูฯ เสียถึง 4 ประตูภายในระยะเวลาเพียง 35 นาทีแรกอีกด้วย
การพ่ายแพ้ติดต่อกัน 2 นัด ด้วยประตูได้เสีย -5 ยังทำให้ ยูไนเต็ด หล่นไปอยู่ในอันดับบ๊วยของตารางพรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี (ครั้งสุดท้ายคือวันที่ 21 สิงหาคม 1992)
ไทเรลล์ มาลาเซีย (17 ล้านปอนด์) รวมถึง ลิซานโดร มาร์ติเนซ (55 ล้านปอนด์) สองนักเตะที่ เอริก เทน ฮาก ซื้อมาเสริมทีมในฤดูกาลนี้ มีมูลค่ามากกว่า 11 นักเตะเบรนท์ฟอร์ด (มูลค่ารวม 55 ล้านปอนด์) ที่ลงเล่นในนัดแพ้ 0-4 เสียอีกด้วย!
“ผมเรียกร้องให้นักเตะทุกคนเล่นด้วยความเชื่อมั่นและรับผิดชอบต่อสิ่งที่พวกเขาแสดงออก แต่นั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ทำ” เอริก เทน ฮาก กล่าวเมื่อถูกถามถึงความพ่ายแพ้ของลูกทีม ที่มีต่อ เบรนท์ฟอร์ด
และบางทีนั่นอาจคือ “สัญญาณ” ที่กุนซือหนุ่มเนเธอร์แลนด์ กำลังต้องการสื่อถึงอะไรบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นที่ โอลด์แทรฟฟอร์ด หรือไม่?
สัญญาณอะไรที่ผู้คนสังเกตเห็นได้ในวันหายนะ :
โรนัลโด :
จากนักเตะที่ทรงคุณค่าของทีมด้วยผลงาน 18 ประตู เมื่อฤดูกาลที่แล้ว สู่ นักเตะที่ไร้ซึ่งอารมณ์ที่จะลงเล่นภายใต้ยูนิฟอร์มยูไนเต็ดอีกต่อไป การไม่ยอมมารายงานตัว หรือการผละออกสนามในช่วงปรีซีซั่น ไม่มีอะไรชัดเจนมากไปกว่านี้อีกแล้วว่า โรนัลโด ไม่ต้องการอยู่ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด อีกต่อไปแล้ว
และทุกอย่างยิ่งมาชัดเจนเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อภาษากายเวลาอยู่บนฟลอร์หญ้าของ CR7 ในนัดแห่งความหายนะเต็มไปด้วยความหงุดหงิด และตะโกนใส่ผู้เล่นคนอื่นด้วยความไม่พอใจ รวมไปจนกระทั่งถึง การแสดงพฤติกรรมกระทืบเท้าเดินออกจากสนาม ไม่ไปแสดงอาการขอบคุณแฟนๆ ที่ตามมาเชียร์ หรือแม้กระทั่งไม่ยอมจับมือกับ “เจ้านายคนใหม่”
...
เพียงเท่านี้...มันน่าจะมากเพียงพอแล้วหรือไม่? สำหรับการ “ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง” เพื่อรักษาบรรยากาศภายในห้องแต่งตัวเอาไว้ รวมถึง สถานภาพความเป็น Boss ของ เอริก เทน ฮาก เองด้วย เพราะการสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อนหนำซ้ำยังไม่เคยถูกลงโทษใดๆ จากการละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ ซุปตาร์อันดับหนึ่งของทีม กำลังทำให้สปิริตของทีมสูญหายไป ทั้งๆ ที่ มันคือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดต่อการ “กอบกู้อาณาจักรที่กำลังเสื่อมทรุด”
หากใครยังจำได้ เหตุผลเดียวที่ทำให้ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอมปล่อย “รอย คีน” กัปตันทีมผู้เหี้ยมเกรียมและขุนพลเอกที่แสนรักใคร่ออกไปจากยูไนเต็ด มันก็เป็นเพราะ ไม่มีนักเตะแมนยูฯคนใดในเวลานั้น รู้สึกมีความสุขที่จะลงเล่นเคียงข้างกับเขาอีกต่อไปหลัง “คีโน” เริ่มด่าทออย่างเกรี้ยวกราด และใช้ความดุดันจนเกินพอดีในการปลุกเร้าลูกทีม
ซึ่งสำหรับกรณี “โรนัดโด” ณ เวลานี้ การเลือกที่จะเก็บนักเตะที่ยอดเยี่ยมแต่ไร้ใจเอาไว้ บางทีอาจให้ผลร้ายเสียมากกว่า ยอมปล่อยให้ CR7 ออกไปทำสถิติลงเล่นในแชมเปียนส์ลีกเป็นฤดูกาลที่ 19 ติดต่อกันก็เป็นได้
...
ดาบิด เดเคอา :
ผู้รักษาประตูที่มีความเหนียวแน่นประดุจเทพเจ้าที่คอยปกปักรักษาประตูให้กับทีมมาตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา สร้างความผิดพลาดอย่างชนิดไม่มีใครอยากจะเชื่อในนัดนี้ หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ เบรนท์ฟอร์ด สามารถตีแผ่จุดอ่อนของ ดาบิด เดเคอา ได้อย่างถึงแก่น คือ ความมั่นใจ, การตัดสินใจออกไปตัดบอลกลางอากาศ, การเล่นบอลด้วยเท้า
3 สิ่งนี้ คือ หัวข้อใหญ่ๆ ที่ฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนในนัดนี้ เมื่อผิดพลาดสิ่งที่ นายทวารคนนี้แสดงออกมาในทันที คือ "ความมั่นใจที่ระเหยไปในอากาศ" แถมเมื่อถูกโจมตีด้วยลูกกลางอากาศ เดเคอา กลับมักจะชอบเลือกยืนเฝ้าเส้นประตูมากกว่าพยายามออกมาตัดลูกบอมบ์กลางอากาศ ทั้งๆ ที่ เซนเตอร์ร่างเล็กกะทัดรัดผู้มาใหม่ อย่าง ลิซานโดร มาร์ติเนซ จะเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามอย่างมากมายก็ตาม
นอกจากนี้ การเล่นบอลด้วยเท้าและการตัดสินใจเปิดเกมให้กับทีมตามแบบฉบับที่ “เจ้านายคนใหม่ต้องการ” ยังเป็นอีกประเด็นที่ชัดเจนมากๆ ว่า นายทวารทีมชาติสเปนผู้นี้ไม่ถนัดเอาเสียเลย จนกระทั่งนำมาซึ่งการเสียประตูด้วย
...
แบ็กซ้ายและขวา :
"ลุค ชอว์" และ "ดีโอโก ดาโลต์" ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับ ยูไนเต็ด ทั้งสองคนไร้ซึ่งพลังความเร็วเร่งและการครอสบอลจากริมเส้น เพื่อสร้างการคุกคามจากทางด้านข้างให้กับทีม หนำซ้ำ การแสดงออกเวลาเล่นเกมรับยังไร้ซึ่งความดุดันในการเข้าปะทะอีกด้วย ฉะนั้น ในเมื่อแท็กติกของโลกลูกหนังยุคปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับนักเตะฟูลแบ็กเป็นอย่างมาก “คำถาม” ของประเด็นนี้คือ “เมื่อไหร่จึงจะถึงความเปลี่ยนแปลงสักที?”
รอยโหว่ที่แดนกลาง :
แม้จะไม่ได้ "เฟรงกี เดอ ยอง" แต่ยูไนเต็ด ก็อาจไม่จำเป็นต้องทนใช้ "คู่หูแม็ค-เฟร็ด" เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แทบไม่ได้แตกต่างจากเดิม “ไม่ใช่หรือ?” โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายตรงข้ามเลือกใช้แท็กติกบีบสูงตั้งแต่แดนบนในแบบที่ทั้ง ไบร์ทตัน และ เบรนท์ฟอร์ด จงใจนำมาใช้ประหัตประหารแมนยูฯ จนแดดิ้นสิ้นท่า ในเมื่อทั้งสองคนแสดงออกอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีความสามารถเฉพาะตัวมากเพียงพอเพื่อดึงบอลไว้กับตัวและหาทางเปิดบอลเชื่อมต่อให้กับเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ เพื่อเอาชนะแท็กติกที่ว่านี้ หรือหากจะมองในเรื่องเกมรับ "เฟร็ด หรือ สก็อต แม็คโทมิเนย์" เคยฉายภาพความเหี้ยมเกรียม “เตะตัดตาย” ในแบบที่ ไบรอัน ร็อบสัน หรือ รอย คีน เคยแสดงออกกันด้วยหรือ? หรือ เอาล่ะอาจจะเล่นไม่เหี้ยมเกรียม แต่มีเซ้นส์ในการอ่านเกม หรือจ่ายบอลทะลุทะลวงได้เด็ดขาดเหมือนที่ ไมเคิล คาร์ริค เคยทำนั้น “เรา” เคยเห็นได้จาก “นักเตะสองคนนี้บ้างหรือไม่?”
เซนเตอร์ฮาล์ฟปัญหาเรื้อรัง :
ก่อนหน้านี้คำถามคือ “ใครจะมายืนคู่กับ แฮร์รี แม็กไกวร์” แต่ปัจจุบัน คำถามน่าจะถูกเปลี่ยนเป็น ยูไนเต็ด ควรมี เซนเตอร์ฮาล์ฟใหม่ 2 คนได้แล้ว!
นอกจากนี้ “คาแรกเตอร์ส่วนตัว” ของเซนเตอร์ฮาล์ฟค่าตัวแพงรายนี้ ยังน่าจะเป็นอีกหนึ่งคำถามสำคัญด้วยว่า “เหมาะสมกับปลอกแขนกัปตันทีมของปิศาจแดงด้วยหรือไม่” โดยเฉพาะหากมองไปที่การแสดงออกในฐานะผู้นำในยามที่ทีมกำลังตกเป็นรองคู่แข่ง เปรียบเทียบ กับ บรรดาอดีตกัปตันทีมยูไนเต็ดที่แสนดุดันและมีปัญหาพร้อมบวก ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ บรู๊ซ, ไบรอัน ร็อบสัน, พอล อินซ์, รอย คีน หรือแม้กระทั่ง ริโอ เฟอร์ดินานด์
สำหรับฤดูกาล 2022-2023 เชื่อว่า “บรรดาเรดอาร์มี” ส่วนใหญ่คงทำใจกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า “ทีมรัก” คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ “สำหรับการก่อร่างสร้างทีมใหม่” แม้ในใจอาจหวังอยู่ลึกๆว่า บางที “เอริก เทน ฮาก” อาจทำให้ “ความเปลี่ยนแปลง” ถูกย่นระยะเวลาได้รวดเร็วเหมือนเช่นที่ “เยอร์เกน คลอปป์” เคยซ่อมสร้าง “ลิเวอร์พูล” จนประสบความสำเร็จมาแล้ว หากแต่ความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าใน 2 นัดแรกของพรีเมียร์ลีก อาจเป็นสัญญาณที่แรงชัดจัดเต็มแล้วว่า “ระยะเวลาสำหรับการรอคอยที่ว่านี้ บางทีมันอาจต้องยาวนานกว่าที่คิดก็เป็นได้” โดยเฉพาะสำหรับปัจจุบัน ที่มีการเสริมทีมได้อย่างแข็งแกร่งและมีฟอร์มอันน่าเกรงขามสำหรับการลุ้นแชมป์พร้อมๆ กันถึง 5 ทีม ไม่ว่าจะเป็นทั้ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, เชลซี, ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และอาร์เซนอล
เพราะสถานการณ์ของยูไนเต็ดในเวลานี้ แทบไม่ต่างอะไรกับ คนที่กำลังเตรียมแต่งตัวเพื่อเข้าจุดสตาร์ต ในขณะที่คู่แข่งวิ่งออกตัวไปกันแล้ว!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง