กลายเป็นอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้น ที่ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับเหตุเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ที่หายตัวไปพร้อมมารดา โดยมาทราบภายหลังว่าเกิดอุบัติเหตุขับรถจมในคลองบางใหญ่ หมู่ที่ 3 ต.มะขามเตี้ย ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
ต่อมา ได้มีกู้ภัย ส.อ.ณัฐวุฒิ คณิตธนันท์ หรือ อาร์ม นายช่างโยธา สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 11 สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตอาสาและอาสาสมัครกู้ภัย ทีมนักประดาน้ำ เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ความดันสูง ถูกนำส่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี พบเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์ได้ทำการผ่าตัดสมอง นำโลหิตออก จากนั้นได้ตรวจสอบผลสแกนสมองโดยรวมดี อาการดีขึ้น ตามลำดับ
เกี่ยวกับการดำน้ำและเกิดเส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นได้อย่างไร การดำน้ำต้องใช้ความเชี่ยวชาญแค่ไหน การดำน้ำในคลอง แม่น้ำ แตกต่างจากทะเลอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายเอิบเปรม วัชรางกูร อดีต ผอ.กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำคนหนึ่งของไทย ได้เล่าความรู้จากประสบการณ์ดำน้ำมาอย่างยาวนานให้ฟังว่า
...
กรณีดังกล่าว ตนยังไม่ได้ติดตามข่าว แต่หากเป็น “เส้นเลือดในสมองแตก” จริง ก็น่าจะได้รับคำยืนยันจากแพทย์ ซึ่งตามปกติแล้วไม่ค่อยเกิดขึ้นกับนักดำน้ำที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ยกเว้น แต่ว่าคนคนนั้นจะมีโรคประจำตัว อาทิ โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือบางคนมีผนังหลอดเลือดบาง ซึ่งอาจจะเป็น 1 ในหลายๆ สาเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
นายเอิบเปรม กล่าวว่า ปกติแล้ว การดำน้ำ เมื่อดำลงไปแล้ว ก็จะเจอแรงดัน 2 รูปแบบ
1. แรงดันของน้ำ ซึ่งจะเกิดอาการปวดหู ที่เราเจอกันเป็นประจำ หมายความว่า “น้ำหนักของน้ำ” กำลังกดอยู่ที่ตัวเรา
2. ส่วนกรณีใส่อุปกรณ์ดำน้ำแบบสกูบา แต่ก็ยังต้องรับแรงดันน้ำอยู่ ยิ่งหากอากาศเหลือน้อย ก็ยิ่งทำให้หายใจไม่ได้ ซึ่งตามปกติแล้ว จะมีการอัดอากาศไว้ประมาณ 2,500-3,000 ปอนด์ ไว้ในถัง และจะมีการตั้งค่าคลายอากาศที่ 15-30 ปอนด์ ตามความสมดุลของแต่ละคน
นักดำน้ำที่มีประสบการณ์ จะรู้จักวิธีการปรับความดันภายในและภายนอกให้สมดุลกัน ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติในระหว่างดำน้ำ เช่น รู้สึกตกใจ ตื่นเต้น ตรงนี้จะทำให้แรงดันเกิดความไม่สมดุล ก็แก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนแรงดันอากาศ
“ถ้าบางคนร่างกายไม่สมบูรณ์หรือมีโรคประจำตัว มันก็จะเข้าไปดันในส่วนที่บอบบาง เช่น บางคนมีผนังหลอดเลือดบาง (อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง) เมื่อแรงดันไม่สมดุล ก็จะทำให้ผนังหลอดเลือดขาด ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้”
ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนดำน้ำ
อดีต ผอ.กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ กล่าวว่า ในโลกนี้มีนักดำน้ำอยู่ 2 กลุ่ม คือ เพื่อสันทนาการท่องเที่ยว และนักดำน้ำที่ประกอบอาชีพ ซึ่งคนที่จะดำน้ำได้ ก่อนอื่นต้องรู้จักตัวเองเสียก่อน โดยมีหลักการประเมิน 3 ค. ประกอบด้วย คน ความรู้ และเครื่องมือ
คน : ร่างกายของตนเอง ต้องมีร่างกายสมบูรณ์พร้อม ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ความรู้ : การเรียนรู้หลักการทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ
เครื่องมือ : ต้องรู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์ทุกชิ้นในการใช้งาน การหมั่นตรวจสอบเครื่องมือให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีตารางทดสอบเครื่องมือบ่อยๆ
“ทั้ง 3 ส่วนนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก แม้แต่ “มนุษย์กบ” หรือ ทหารหน่วยซีล ของกองทัพเรือ ซึ่งขึ้นชื่อว่า หน่วยที่ได้รับการยอมรับว่าแข็งแกร่งเหนือมนุษย์ แต่เขาก็ยังมีกฎว่า “หากไม่พร้อม ห้ามลงดำน้ำ” ดังนั้น เรื่องการดำน้ำ จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้ง 3 อย่างข้างต้น”
นอกจาก 3 ข้อ ดังกล่าวแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือ “บัดดี้” โดยปกติแล้ว การดำน้ำต้องลงดำเป็นคู่ แต่ที่ผ่านมา เรื่องนี้ในเมืองไทยก็เหมือนจะละเลย เพราะบางครั้งคนที่ดำน้ำในระดับสูงกว่าสันทนาการไปแล้ว จะเกิดความมั่นใจ ซึ่งเรื่องนี้มันกลายเป็นคำที่มาคู่กับความประมาท
“คนที่ดำน้ำแบบสันทนาการ ต้องรู้จัก 3 ค. ของตนเอง และของบัดดี้ ว่าเป็นคนที่ตื่นตกใจง่ายๆ ไหม หรือบัดดี้เป็นคนมีความรู้ด้านอุปกรณ์ต่างๆ และการใช้งานเป็นหรือเปล่า หากมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ของกันและกัน ก็จะสามารถไปเป็นคู่บัดดี้ด้วยกันได้ แต่ถ้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบัดดี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง”
...
สิ่งสำคัญที่สุด Plan your Dive และ Dive your Plan
กูรูการดำน้ำ เน้นย้ำ “กฎเหล็ก” สำคัญของนักดำน้ำทุกระดับ คือ ต้องมีแผนการดำน้ำ Plan your Dive และ Dive your Plan หมายความว่าต้องวางแผนก่อนที่จะดำน้ำ และต้องดำน้ำตามแผนที่วางไว้ มิเช่นนั้นก็ต้องยกเลิก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นักดำน้ำทุกคนต้องทำ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นนักดำน้ำที่เก่งกาจระดับเทพแค่ไหนก็ตาม
“ส่วนใหญ่การดำน้ำและเกิดอุบัติเหตุ ก็มาจากการไม่ได้ทำตามกฎเหล็กที่ว่ามานี้”
ดำน้ำในแม่น้ำ VS ทะเล
กูรูเรื่องการดำน้ำ อธิบายว่า สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการดำน้ำในทะเล และแม่น้ำลำคลอง คือ เรื่องทัศนวิสัย เพราะหากเป็นแม่น้ำหลักๆ สายยาว เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ก็มักจะมีตะกอนขุ่น แค่ห่างออกไป 1-2 เมตรก็มองไม่เห็นแล้ว หรือบางจุด ฝนตกน้ำขุ่น แค่มองนาฬิกาตัวเองยังไม่เห็นเลย
“แม่น้ำเกือบทุกสายจะมีความขุ่นกว่าทะเล ยกเว้นทะเลในบริเวณปากแม่น้ำ ก็จะมีความขุ่นเช่นเดียวกัน ซึ่งการดำน้ำในทะเลจะวิสัยทัศน์ดีกว่า ที่สำคัญเรารู้เวลาน้ำขึ้นลงด้วย เนื่องจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือจะมีรายงานตลอด คนที่ปฏิบัติหน้าที่ในน้ำหากดำลงไปแล้ว ยังพอมองเห็น ก็จะทำงานได้สะดวกกว่า แต่ถ้าลงไปแล้ว มืดมิด มองไม่เห็น ก็จำเป็นต้องใช้มือคลำอย่างเดียว”
...
นายเอิบเปรม ยังเล่าเบื้องหลังภารกิจกู้ศพผู้เสียชีวิตรายหนึ่งให้ฟังด้วยว่า ที่ผ่านมา เคยมีกรณีไปดำน้ำช่วยงมศพช่วยเหลือชีวิตคน ซึ่งคนที่ไม่มีประสบการณ์ดำน้ำประเภทนี้ เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ช่วยเหลือ จะรู้สึกฮึกเหิมมาก แต่เวลาทำงานจริงๆ ใจก็จะสั่นไหว ไม่นิ่ง เพราะมองอะไรไม่เห็น
“การลงดำน้ำเพื่อหาศพ สำหรับผู้มีประสบการณ์น้อย แม้จะมีการผูกไลน์เชือกเพื่อปูพรมค้นหา แต่พอลงไปแล้ว กลายเป็นว่ามารวมตัวกันอยู่เป็นกระจุกก็มี ทั้งที่มีเชือกนำอยู่ แต่สำหรับคนที่ทำงานในน้ำที่มีความเชี่ยวชาญ เมื่อมีจุดโยงยึดจากเชือกแล้ว ก็จะปูพรมหาได้ ถึงแม้จะมองไม่เห็นก็ตาม หากเจอแล้ว เอาขึ้นจากน้ำไม่ได้ ก็จะสามารถบอกได้ว่าเจอที่จุดใด”
สำหรับ “กู้ภัย” ที่จะดำน้ำช่วยเหลือคนได้ จำเป็นต้องมีทักษะระดับอาชีพหรือไม่ นายเอิบเปรม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าจำเป็น เพราะถือเป็นการฝึกดำน้ำชั้นสูง นอกจากรับผิดชอบตัวเองแล้ว ต้องรับผิดชอบบัดดี้ และต้องรับผิดชอบงานหรือชีวิตคนอื่น
เมื่อถามว่า แบบนี้ควรมีมาตรฐานหรือไม่ ต้องผ่านการฝึกกี่ชั่วโมง กูรูเรื่องการดำน้ำ บอกว่า “ผมไม่ทราบว่า มาตรฐานของไทย กู้ภัยฯ ผ่านการฝึกกี่ชั่วโมง แต่ในต่างประเทศ คาดว่าน่าจะฝึกเท่ากับของทหาร โดยในเบื้องต้น การจะฝึกฝนในระดับอาชีพได้ ต้องผ่านระดับสันทนาการ 50 ชั่วโมงก่อน จากนั้นถึงจะมีโอกาสเรียนระดับสูงขึ้นที่เรียกว่า Technical Diving นอกจากนี้ ยังมีการแตกสาขาออกไปอีกหลายแบบ เช่น Commercial Diving กลุ่มอาชีพที่ทำงานขุดเจาะน้ำมัน เพราะกลุ่มนี้ต้องใช้ก๊าซแบบต่างๆ เพราะต้องดำน้ำลึกกว่าทั่วๆ ไป มากกว่าอากาศทั่วไปที่จะใช้ได้ ต้องมีการเรียนและเพิ่มชั่วโมงไปเรื่อยๆ ซึ่งนักดำน้ำจะเก่งหรือไม่ วัดกันที่ชั่วโมงเรียนและความลึก
...
“การดำน้ำสำหรับทำงานเป็นอาชีพนั้น ทุกคนจะรู้ขั้นตอน ว่าต้องประเมินตัวเองก่อน โดยยึดหลัก 3 ค. และจะไม่อายกัน ถ้าคนไหนไม่พร้อม ก็จะบอกทันทีว่า “ไม่พร้อม” และจะไม่มีการถากถางกัน วงการดำน้ำจะไม่ทำแบบนั้น เพราะนอกจากจะต้องดูแลชีวิตตัวเองแล้ว ยังต้องดูแลชีวิตบัดดี้ หรือคนที่เรากำลังไปช่วยด้วย” กูรูการดำน้ำ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ