มิสซี (MIS-C) เป็นภาวะภูมิคุ้มกันทำงานมากกว่าปกติพบในเด็กหลังหายโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าลองโควิด เนื่องจากผู้ป่วยต้องรักษาตัวในห้องไอซียูกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดไทยพบผู้ป่วยเด็กมากกว่า 100 คนทั่วประเทศ แต่สิ่งที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วง คือ การวินิจฉัยโรคอาจคลาดเคลื่อน เนื่องจากเป็นโรคใหม่ เช่น กรณีเด็ก 2 ขวบ เสียชีวิต แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นลองโควิด แต่หลังการเสียชีวิต “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค วิเคราะห์การเสียชีวิตว่าน่าจะมาจากภาวะมิสซี ทำให้อวัยวะส่วนต่างๆ มีการอักเสบจนเสียชีวิต

แม้อัตราผู้ป่วยโควิดในไทยลดลง แต่กลุ่มเด็กมีภาวะมิสซีเพิ่มขึ้นตามความเห็นของ “รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ” ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ผู้ป่วยเด็กติดโควิดมากขึ้นหลังประเทศไทยประกาศภาวะโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้หลายคนผ่อนคลายมาตรการ แต่กลุ่มเด็กมีการฉีดวัคซีนน้อยทำให้ยังติดโควิดกันมากขึ้น

เด็กที่มีภาวะนี้มีอาการหลังหายโควิดประมาณ 2-6 สัปดาห์ เกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบภายในอวัยวะต่างๆ บางประเทศพบว่าผู้ป่วย 50 เปอร์เซ็นต์ มีอาการหนักจนต้องรักษาในห้องฉุกเฉิน และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยลองโควิด

“มิสซีเป็นโรคใหม่เพิ่งพบเมื่อ 2 ปี แพทย์อาจวินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือทำการรักษาด้วยอาการลองโควิด ซึ่งเป็นภาวะของโรคที่ต่างกัน เช่นเดียวกับผู้ปกครองอาจคิดว่าบุตรหลานเป็นลองโควิด เลยไม่ได้ไปรักษาทำให้อาการของโรคร้ายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะพบในเด็กอายุ 5-10 ปี มีอาการคล้ายโรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง เพียงแต่ต้นกำเนิดโรคแตกต่างกัน”

...

มิสซีมีทำลายระบบหัวใจหลอดเลือดมากสุด 

“รศ.นพ.นรินทร์” กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะดังนี้

  • หัวใจและหลอดเลือด สาเหตุหลักของการเสียชีวิตทำให้หัวใจอักเสบ หลอดเลือดอุดตัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง พบในคนไข้ 20-30 เปอร์เซ็นต์

  • ทางเดินอาหาร เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ภาวะอักเสบภายในระบบทางเดินอาหาร พบในคนไข้ 80 เปอร์เซ็นต์

  • สมองและประสาท มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ขาดสติสัมปชัญญะ ปวดศีรษะรุนแรง พบในคนไข้ 10 เปอร์เซ็นต์

  • ระบบทางเดินหายใจ พบมากในการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่ทำให้คนไข้มีอาการปอดอักเสบ พบในคนไข้ 4.2 เปอร์เซ็นต์ 

สำหรับเด็กที่มีภาวะมิสซี จากผลวิจัยในต่างประเทศพบมากสุดในเด็กอายุ 5 ขวบ เฉลี่ย 45 เปอร์เซ็นต์ เด็กผู้ชายมีอาการมากกว่าผู้หญิง 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยโรคนี้เกิดมากในเด็กเล็ก ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคยาก เพราะเด็กไม่สามารถสื่อสารอาการของโรคได้ชัดเจน แต่ในเด็กแรกเกิดที่ดื่มนมแม่พบว่า จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคนี้ได้

ฉีดวัคซีนป้องกันป่วยหนักจากมิสซี

สำหรับแนวทางป้องกันภาวะมิสซี “รศ.นพ.นรินทร์” ให้คำแนะนำว่า มีผลวิจัยในต่างประเทศพบเด็กที่ได้รับวัคซีน mRNA ช่วยป้องกันอาการร้ายแรงของโรคได้ แม้ฉีดวัคซีนเพียง 1 เข็ม เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคนี้มีถึง 3 เปอร์เซ็นต์ การป้องกันไม่ให้บุตรหลานติดโควิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“การช่วยเหลือคนไข้ไม่ให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แพทย์ต้องมีการวินิจฉัยอาการของโรคให้ได้อย่างชัดเจน โดยจะมีข้อบ่งชี้ในเด็กที่หายป่วยจากโควิดมาประมาณ 2 สัปดาห์ และมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ตาแดงทั้งสองข้าง ควรรีบนำไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน”