เสียชีวิตแล้ว 15 ราย สำหรับ เหยื่อ “เมาน์เท่น บี” ผับสยองที่ตั้งในเมืองสัตหีบ หลังเกิดเหตุไฟไหม้ ช่วงเวลา 01.00 น. เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้บาดเจ็บ 37 ราย นักท่องราตรีนับร้อยหนีตายเอาชีวิต ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ซ้ำรอยกับเหตุเพลิงนรก ที่ “ซานติก้า” เมื่อปี 2552

ล่าสุด (6 ส.ค.) มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะทำการ “ออกหมายจับ” เจ้าของผับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ในขณะที่ ประเด็นสำคัญของคดีนี้ คือ การขออนุญาตเปิดสถานบริการ ซึ่งทาง พล.ต.ต.ชัยต์พจน์ สุวรรณรักษ์ รอง ผบช.ภ.2 ในฐานะ โฆษก ภ.2 ก็ยืนยันว่า ร้านดังกล่าวไม่มีใบอนุญาต แต่เคยขอเปิดเป็นร้านอาหาร และมีการดัดแปลงเป็นสถานบันเทิง

เกี่ยวกับเบื้องหน้าเบื้องหลัง การเปิดสถานบริการไม่มีใบอนุญาต ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้การวิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตนายตำรวจมือฉมัง กูรูวงการสีกากี ที่กล้าพูด กล้าแฉ เรื่องราวอยุติธรรมของสังคม

ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวว่า “สถานบริการที่มีใบอนุญาตเปิดสถานบริการ จะโดนหนักกว่า ไม่มีใบอนุญาต...รู้ไหม”

...

นี่แค่เกริ่นนำ เพื่อสร้างความสงสัย ก่อนจะเฉลยทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ

อดีตตำรวจมือดี เผยว่า การขอใบอนุญาตสถานบันเทิงถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะหลักเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เช่น รูปแบบอาคารมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ทางหนีไฟเพียงพอหรือไม่ โครงสร้างเป็นแบบไหน มีการออกแบบเพื่อกักเก็บเสียงหรือไม่ สถานที่ตั้งใกล้กับโรงพยาบาล โรงเรียน วัด หรือไม่

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีหลักเกณฑ์อื่นๆ อีกเพียบ เช่น คนที่จะเข้าไปได้ต้องมีอายุ ไม่ต่ำกว่า 20 ปี คนที่ทำงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ ในกฎหมายยังมีวรรคหนึ่งที่เขียนไว้ แต่ไม่มีใครเคยใช้ คือ.... “ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในผับ หากไม่มีผู้ชายไปด้วย..”

อุต๊ะ!! มีเรื่องแบบนี้ด้วย

ผู้การวิสุทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้แทบไม่มีใครรู้เลยนะเว้ย... ในกฎหมายเขียนแบบนี้ ฉะนั้นสิ่งที่กำลังอธิบาย คือ การเปิดสถานบริการจำเป็นต้องมีเวลาควบคุม ต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ มากมาย จะขายอาหารก็ต้องมีใบอนุญาตกักเก็บอาหาร จะขายเหล้าสุรา หรือบุหรี่ ก็ต้องมีใบอนุญาต ยังไม่รวมใบอนุญาตที่พูดถึงหลักความปลอดภัย ที่มีหน่วยงานท้องที่ต้องเข้าตรวจสอบ เช่น มีประตูกี่บาน กว้างเท่าไร ใหญ่เท่าไร

ฉะนั้น สถานบันเทิงในประเทศไทยมากมาย ถึงเลือกที่จะ “ไม่มีใบอนุญาต” เพราะการขอไม่ง่าย แต่ถ้าขออนุญาตได้ ก็จะเจอกฎหมายต่างๆ “ล็อก” อีก ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้นายทุนเหล่านี้เลือกเปิดสถานบันเทิงโดยไม่มีใบอนุญาต เพราะจะโดน “การลงโทษเบากว่า”

“เวลามีเรื่องราว ตำรวจเข้ามาจับก็จะโดนข้อหาเดียวคือ เปิดสถานบริการโดยไม่มีใบอนุญาต แต่คนที่ทำถูก ขอใบอนุญาตถูกต้อง อาจจะมีความผิดมากกว่า โดนหนักกว่า เพราะมันถูกล็อกด้วยกฎหมาย”

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากเป็นร้านผิดกฎหมาย เปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อโดนข้อหานี้แล้ว ก็จะไม่โดนข้อหาอื่น เช่น ปล่อยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการ จะแจ้งข้อหานี้กับเขาได้ยังไง เพราะนี่ “ไม่ใช่สถานบริการ”

กลับกัน หากมีการเปิดสถานบริการถูกต้อง จะไม่สามารถรับคนงานอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ และคนที่จะมาเที่ยว อายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ได้...

เปิดผับ เคลียร์เจ้าหน้าที่ หวังแค่กอบโกย ไม่สน...ความปลอดภัย

...

ผู้การวิสุทธิ์ เน้นว่า “ผับเหล่านี้ มันไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น แค่...เคลียร์กับเจ้าหน้าที่ได้ มันก็ไม่สนเรื่องความปลอดภัยของคนมาเที่ยว สิ่งที่คนพวกนี้คิด คือ ยอดขายและผลประโยชน์เท่านั้น เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว จะเป็นไง มีอุปกรณ์ดับเพลิงหรือไม่ มีประตูหนีไฟพร้อมหรือเปล่า เรื่องพวกนี้ไม่เคยคำนึงถึง และนี่ก็คือ...ประเทศไทย

เวลาโดนจับ ก็ย้ายที่เปิดใหม่ ส่วนร้านที่มีใบอนุญาต อาจมีความผิดหลายข้อหา อาจโดนพักใบอนุญาต หรือถ้าหนักกว่านั้นก็โดนถอนใบอนุญาต

ส่วย ผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่หย่อนยาน

ผู้การวิสุทธิ์ สรุปในช่วงท้ายว่า สาเหตุที่บ้านเราเป็นแบบนี้ เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเราบางคน ชอบรับเงินทอง และไอ้พวกผู้ประกอบการเหล่านี้ ก็ควักจ่ายให้ ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะสีไหน ฝ่ายปกครอง หรือ ปราบปราม

“สมัยก่อน ใบอนุญาตเปิดสถานบริการ ใบละ 20 ล้าน ไม่พอนะครับ ซึ่งใบอนุญาตสถานบันเทิงมี 2 แบบ คือ แบบเต้นได้ กับเต้นไม่ได้ แบบที่เต้นได้จะมีราคาแพงเท่าๆ กับ “อาบอบนวด” แต่หากเป็นสมัยนี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตหรอก คุยกับคนคนเดียวในพื้นที่ได้ ก็เปิดได้แล้ว เพราะไม่มีใครสนใจ”

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ก็ไม่แตกต่างกัน ขอแค่พื้นที่นั้นไม่ใกล้ชุมชน หรือไม่มีผู้ร้องเรียน ทุกอย่างก็จะง่าย เหมือนกับมาตรการโควิด เจอแจกจบ แต่นี่ เจอจ่ายจบ สิ่งสำคัญคือ “จ่ายไหวไหม” หากมีปัญหาจริงๆ ก็โดนข้อเดียว เปิดสถานบริการโดยไม่มีใบอนุญาต จากนั้นก็หาที่ใหม่ เปิดใหม่

“เชื่อว่า สถานบริการในประเทศไทย 95% ไม่มีใบอนุญาต หรือมีใบอนุญาตผิดประเภท เช่น มีใบอนุญาตให้สามารถเล่นดนตรีได้ แต่ก็ปล่อยให้มีการเต้นรำ ซึ่งการขอใบอนุญาตประเภทร้านอาหารมันขอไม่ยาก แต่ถ้ามีดนตรี มีการเต้นรำเมื่อไหร่ ขอใบอนุญาตยาก ก็เลยย้อนกลับไปแก้ปัญหาด้วยวิธี 'ไม่ขออนุญาต' เพราะการขออนุญาตสถานบริการ จำเป็นต้องขอใบอนุญาตอื่นๆ อีก 8-9 อย่าง แบบนี้เปิดเถื่อนดีกว่าไหม แจ้งแค่คนคนเดียว ถึงเวลามีปัญหาเปิดเกินเวลาก็ต้องจ่ายอีกอยู่ดี”

...

อดีตตำรวจฝีปากกล้า ทิ้งท้ายว่า สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่คำนึงถึงกฎหมายที่วางระเบียบไว้ มีแต่การเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ จึงไม่ใส่ใจที่จะไปตรวจตรา หากผู้รักษากฎหมายในท้องที่ทุกคนเข้มงวด ไม่ให้ร้านที่ไม่มีใบอนุญาตเปิดบริการได้ คนที่จะทำธุรกิจก็ต้องทำถูกต้อง

ส่วนผู้ประกอบการขอร้องว่า อย่าอ้างเรื่องโควิด ว่ากำลังลำบาก แล้วเอาร้านอาหารมาดัดแปลงเป็นผับ พอเวลาเกิดเรื่องแล้ว มีคนตายเป็นสิบมันคุ้มไหม...


“ผับพวกนี้ เพดานไม่สูง เวลาเกิดไฟไหม้ ควันก็เยอะ แค่ 5 นาที ก็อาจจะสลบไปแล้ว เพราะไม่มีช่องระบายควัน เกิดการเหยียบกันตาย ยิ่งเมาๆ ไม่มีสติ ก็ยิ่งเสี่ยงหนีไม่ทัน นอกจากนี้ ยังถูกออกแบบมาไม่ดี ไม่มีความปลอดภัยอีก ก็ยิ่งทำให้เกิดการสูญเสียเยอะ...”

เมื่อถามทิ้งท้ายว่า มีการตั้งข้อสังเกต เรื่องเจ้าของผับ ผู้การวิสุทธิ์ จึงตั้งคำถามย้อนกลับว่า “ถามหน่อยว่า ถ้าสมมติคุณจะเปิดผับ หุ้นกับเพื่อน 3 คน คุณ...จะเอาชื่อตัวเองหรือเพื่อนใส่ลงไปเป็นเจ้าของไหม...?

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ