กลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำรอยที่เกิดขึ้นในรอบ 13 ปี จากเหตุไฟไหม้ “ซานติก้า ผับ” สู่การเกิดอัคคีภัยสยอง ที่ “เมาน์เท่น บี” ผับริมถนนสายสุขุมวิทบางนา-ตราด ม.7 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ศพ
ซึ่ง ณ เวลานี้ ก็ยังหาสาเหตุไม่พบว่าเกิดจากอะไร ต้นเพลิง แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องมีคนรับผิดชอบ
“คำถาม คือ ยังมีสถานบันเทิงเถื่อนแบบนี้อีกกี่แห่ง ที่ลักลอบเปิด แม้กระทั่งใน บช.น. เอง ถ้าไม่เกิดไฟไหม้ หรือ ยิงกัน คงไม่เป็นข่าว”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ตั้งคำถามเกริ่นกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และตั้งข้อสังเกตว่า “หากไม่จ่ายส่วย จะเปิดได้หรือไม่?”
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอ จะไม่ออกใบอนุญาตง่ายๆ เหมือนแต่ก่อน จำเป็นต้องใช้หลักฐานและรายละเอียดเยอะ เพราะการขออนุญาตเปิดสถานบันเทิง จำเป็นต้องมีแผนผัง รูปแบบการหนีไฟ และมีการตรวจหลายขั้นตอน
...
“ด้วยเหตุนี้ สถานประกอบการบันเทิงบางแห่งจึงใช้วิธีการเถื่อนๆ ด้วยการลักลอบเปิด โดยอาจขอเป็นร้านอาหาร ดังนั้น จึงเรียกสถานประกอบการเหล่านี้ว่า “สถานบริการเถื่อน” ได้...”
คำถามต่อมา คือ ใคร มีหน้าที่ดูแลควบคุมสถานบันเทิงเถื่อน
พ.ต.อ.วุรุฒม์ ตั้งประเด็นนี้ขึ้น...ก่อนเฉลยว่า ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลก็คือ “ตำรวจ” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ตำรวจ” มักจะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับฝ่ายปกครอง ทั้งที่ตำรวจ มีหน้าที่ตรวจตรา รักษากฎหมาย รักษาความสงบเรียบร้อย มีกำลังพลในการดูแล แตกต่างจากฝ่ายปกครอง ที่อาจจะมีอำนาจจับกุม แต่ก็มีกำลังไม่เทียบเท่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมักเกิดขึ้นเป็นประจำ
80% สถานบริการเถื่อน มักมีคนมีสีเกี่ยวข้อง
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า อยากให้ลองเช็กดูว่าสถานบริการแห่งนี้มีคนมีสีเกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งล่าสุด ได้ยินมาว่าผับแห่งนี้อาจจะมี “นายดาบ” คนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง
“สถานบริการเถื่อน ส่วนมากเจ้าของ (ตัวจริง) มักเป็นของคนมีสี ส่วนตัวเชื่อว่าเกิน 80% เพราะหากเป็นชาวบ้านทั่วไป ถามว่าจะกล้าทำแบบนี้หรือไม่ ซึ่งคนที่มีอำนาจในพื้นที่จะสามารถควบคุมเหตุต่างๆ ได้ ทั้งปัญหานักเลง การทะเลาะวิวาท และอื่นๆ อีกมากมาย เวลาเกิดเรื่องก็อาจจะใช้เทคนิคบางอย่างเข้าช่วย เช่น การดึงเวลาเกิดเหตุ”
พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบายว่า เหตุเพลิงไหม เมาท์เท่น บี ผับ มีรายงานจริงๆ ว่า เกิดเหตุประมาณ 01.25 น. แต่เจ้าหน้าที่มีการรายงานว่าเกิดเหตุในเวลา 01.00 น. ซึ่งนี่เป็นเทคนิคหนึ่ง ที่ไม่ฉลาด เพราะว่า หากตรวจสอบพบ “ผับเถื่อน” อยู่แล้ว จะเปิดเวลาไหนก็ถือว่าผิด ยิ่งผับเถื่อนแบบนี้ ก็จะ “เปิดยันหว่าง”
ส่วนคนที่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ พ.ต.อ.วิรุตม์ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่รู้ว่าจะใช่ตัวจริงหรือไม่ เท่าที่ทราบมาก็มีผับบาร์จำนวนมาก เป็นของ คนมีสีระดับใหญ่โต ตำแหน่งระดับนายพัน คำถามสำคัญคือ ผับแห่งนี้เปิดมากี่เดือนแล้ว ถ้าเปิดเมื่อวาน เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะบกพร่องได้ แต่ถ้าเปิดมาเป็นเดือนๆ แล้ว ตำรวจจะบอกว่าไม่รู้ได้อย่างไร...
เชื่อจ่ายหนัก “ส่วย” เดือนเป็นแสน
เมื่อถามว่า อัตราที่ต้อง “จ่ายส่วย” ให้คนมีสีนั้น ขึ้นอยู่กับอะไร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตอบว่า ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานบริการเถื่อน จำนวนคนใช้บริการ ถ้าให้ประเมินผับใหญ่แบบนี้น่าจะต้องจ่ายเดือนละเป็นแสนบาท แต่ถ้าเป็นสถานบริการที่ถูกต้อง ที่อาจจะทำผิดเปิดเกินเวลา แบบนี้ก็ประมาณ 30,000-50,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นห้องแถว คาราโอเกะ เล็กๆ อย่างน้อยก็ต้องเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งการจ่ายก็ต้องจ่ายทุกหน่วย ไม่ใช่แค่ในท้องที่ ซึ่งยิ่งเป็นที่ใหญ่แบบนี้ไม่น่าจะรอดหูรอดตาไปได้
...
“เรื่องแบบนี้ต้องมีคำถามไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ปล่อยให้เปิดอยู่ได้อย่างไร โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งส่วนภูมิภาค และ ส่วนกลาง เกิดเหตุโศกนาฏกรรมแบบนี้ ระดับ ผบ.ตร. ต้องบินลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว เพราะเป็นเหตุใหญ่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และที่สำคัญ ถึงวันนี้รู้หรือยังว่าเจ้าของที่อาจจะเป็นตัวจริง คือ ใคร แต่ส่วนตัวเชื่อว่ารู้แล้ว แต่จะเปิดชื่อหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะหากเปิดชื่อ สื่อก็จะพุ่งไปสัมภาษณ์”
ส่วน อัตราโทษที่คาดว่าจะได้รับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ในฐานะอดีตตำรวจ บอกว่า แค่เปิดสถานบริการเถื่อนก็มีโทษจำคุกแล้ว ยังไม่รวมความผิดอื่นๆ ที่ส่งผลให้มีคนตายและเจ็บ แต่...ปัญหาของเรื่องนี้ คือ จะลงโทษเจ้าของตัวจริงได้หรือไม่
“ที่ผ่านมา ก็มีหลายผับ ที่เคยให้เด็กรับรถมาเป็นเจ้าของ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสืบหาให้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริง และต้องเล่นงานผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นกับการเปิดผับเถื่อนครั้งนี้
เด้งนายอำเภอ ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
...
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น ล่าสุด มีการสั่งย้ายนายอำเภอ พ.ต.อ.วิรุฒน์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะนายอำเภอจะทำอะไรได้ เพราะไม่มีหน้าที่ตรวจตลอดเวลา แตกต่างจากตำรวจ ซึ่งหากจะให้นายอำเภอผิด ต้องให้ตำรวจไปขึ้นกับนายอำเภอ ซึ่งทั่วโลกเป็นแบบนั้น แต่ประเทศไทยไม่ใช่ นายอำเภอประเทศไทยไม่สามารถสั่งตำรวจได้
“แม้นายอำเภอ จะมีอำนาจจับกุม แต่ก็สามารถไปตรวจสอบได้เป็นครั้งคราว ในขณะที่ รัฐมนตรีมหาดไทย ก็ไม่เข้าใจ เรื่องนี้ ถามว่า หาก รมว.มหาดไทย เป็นนายอำเภอ จะดูแลเรื่องนี้อย่างไร เพราะไม่มีกำลังในการรักษาความสงบ หากอยากให้นายอำเภอมีอำนาจ ต้องจัดกำลังให้นายอำเภอ ซึ่งเรื่องนี้ เชื่อว่า มีความพยายามจะโยนบาปไปที่นายอำเภอ ให้เข้าใจผิดว่า มีปัญหาที่ฝ่ายปกครอง ฉะนั้น ควรลงโทษคนที่รับผิดชอบและมีหน้าที่ ถามว่านายอำเภอมีหน้าที่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ ก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาต ถ้าออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาตสถานบันเทิง ทั้งที่ไม่มีความพร้อม แบบนี้ถือว่าเป็นความผิดของนายอำเภอ”
แต่...เรื่องนี้ พบว่ามีการต่อเติม ขออนุญาตเป็นร้านอาหาร และมีการดัดแปลง เปิดผับ แบบนี้ความผิดส่วนหนึ่งจะตกที่เทศบาล และ ตำรวจ เพราะสถานบริการเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ขณะที่เทศบาลมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องการก่อสร้าง ประเด็นสำคัญคือ หากมีการขออนุญาตแล้วมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ถือว่าอยู่ใน “วิสัยที่ควรรับรู้” หรือไม่
...
“หากเป็นสถานบันเทิงถูกกฎหมาย แต่ทำผิดเรื่อง “เปิดเกินเวลา” แล้วเกิดมีเรื่องเป็นข่าว ทางเจ้าหน้าที่บางนายก็เลือกที่จะบิด ทำเป็นว่ามีคดีเกิดขึ้นในเวลา 01.00 น. เพื่อไม่ให้สถานบันเทิงนั้นเปิดเกินเวลา สำหรับ บางแห่ง ถึงขั้นเอานาฬิกาไปติดในผับ แล้วแก้เวลาให้ช้าลง ใครแอบมาถ่ายรูปว่าเปิดเกินเวลา ก็จะทำให้เห็นว่านี่ไง... นี่ไง ยังไม่เที่ยงคืน ซึ่งเรื่องแบบนี้ถือว่ามีคนบางคนให้คำแนะนำ”
เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานบริการเถื่อนแบบนี้ นับเป็นรายได้หลักของคนมีสีระดับผู้หลักผู้ใหญ่บางคน ซึ่งถือเป็นสถานที่บ่อเกิดอาชญากรรมและยาเสพติด และ อบายมุข ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง และต้องปราบปรามให้หมดไปจากสังคมไทย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ