เหตุโศกนาฏกรรมไฟไหม้ซานติก้าผับ ย่านเอกมัย เมื่อปี 2552 ในคืนฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 67 ศพ บาดเจ็บ 200 กว่าคน เป็นภาพหลอนไม่มีวันลืมให้กับหลายคนที่รอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิดในเหตุการณ์วันนั้น ในจำนวนนั้นต้องทนทุกข์ทรมานในการรักษาแผลไฟไหม้ที่ผุพองติดเชื้อเป็นเวลานาน หมดเงินหมดทองมหาศาล แม้หายดีแล้วแต่สภาพร่างกายไม่เหมือนเดิมกลายเป็นความทรงจำอันเลวร้ายไปตลอดชีวิต และสร้างความโศกเศร้าให้กับคนในครอบครัว ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ผ่านไป 13 ปี อุทาหรณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ อาจทำให้สถานบันเทิงต่างๆ เข้มงวดมากขึ้นเรื่องความปลอดภัย แต่แล้วก็มาเกิดเหตุอีก ไฟไหม้สถานบันเทิง "เมาท์เท่น บี" ริมถนนสุขุมวิท ปากซอยเขาหมอน ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อเวลาประมาณ 00.45 น. ของวันที่ 5 ส.ค. 2565 มีผู้เสียชีวิต 13 ศพ บาดเจ็บกว่า 40 ราย โดยผับแห่งนี้เพิ่งเปิดมาได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น มีประตูเข้า-ออกทางเดียวเท่านั้น ส่วนประตูด้านหลังถูกปิดล็อกไว้
...
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า "เมาท์เท่น บี" ไม่มีใบอนุญาตในการเปิดร้าน และยังเปิดเกินเวลา ที่ผ่านมาทางสภ.พลูตาหลวง เคยจับกุมไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565 ก่อนหน้านี้เคยเปิดเป็นร้านอาหาร กระทั่งต่อเติมเปิดเป็นสถานบันเทิง ไม่มีเซฟทีคัต หรือเครื่องตัดไฟ มีเพียงถังดับเพลิง 2 จุด ซึ่งไม่เพียงพอกับพื้นที่ภายในร้าน แม้กระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติม ให้สถานบริการต้องมีระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม แต่กลับมีการละเลยแหกกฎ กลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำรอยซานติก้าผับ บทเรียนที่สังคมไทยไม่เคยจำ และสะกิดให้ผู้รับผิดชอบตื่นจากหลับใหล มาแก้ปัญหาซ้ำอีก
“รศ.เอนก ศิริพานิชกร” ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ระบุหลังเกิดเหตุไฟไหม้ซานติก้าผับ ได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 55 ให้สถานบริการทั้งหมดต้องมีระบบความปลอดภัยของอาคาร ในเรื่องทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ นอกเหนือจากระบบไฟและระบบระบายอากาศ ซึ่งจำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการ ต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการ
กฎกระทรวงดังกล่าว แบ่งเป็น 6 ระดับ 1. จำนวนคนไม่เกิน 50 คน ต้องมีทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 1 แห่ง 2. ตั้งแต่ 51-200 คน ต้องมีทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง 3. ตั้งแต่ 201-400 คน ทางออกและประตูทางออก ต้องไม่น้อยกว่า 3 แห่ง 4. ตั้งแต่ 401-700 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 4 แห่ง 5. ตั้งแต่ 701-1,000 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 5 แห่ง และ 6. ตั้งแต่ 1,001 คนขึ้นไป จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 6 แห่ง
“เมื่อมีกฎกระทรวง ก็ควรต้องปฏิบัติตาม และประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการใช้วัสดุไม่เหมาะสมทำให้เกิดเพลิงไหม้ อย่างวัสดุซับเสียงเป็นโฟม จนลุกและลามไฟได้ง่าย ซึ่งอาคารทั่วไปในปัจจุบันก็มี เช่น โรงภาพยนตร์ และทราบมาว่าภายในร้านเมาท์เท่น บี ไม่ว่าผนังกั้น หรือตัวฝ้าเพดานด้านบนใช้โฟมทั้งหมด ทำให้เพลิงโหมเร็ว เป็นประเด็นสำคัญทำให้เกิดไฟไหม้รุนแรง รวมถึงวัสดุที่ติดไฟง่าย ทั้งไม้ และผ้า ไม่เหมาะนำมาใช้งาน เป็นเรื่องที่ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องมาตรวจสอบดูแลวัสดุตกแต่งภายในให้ได้มาตรฐาน ไม่ควรปล่อยปละละเลย”
...
เหตุการณ์ไฟไหม้ร้าน "เมาท์เท่น บี" ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง คงต้องนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปแก้ไขปรับปรุงอีกครั้ง แม้ว่ากฎกระทรวงฉบับที่ 55 มีการกำหนดมาตรการควบคุมต่างๆ ได้ดี และกฎหมายมีบทลงโทษที่รุนแรงอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับมีการปล่อยปละละเลย จนเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
เช่นเดียวกับ "รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ตั้งคำถามว่า การเปิดสถานบริการในลักษณะอย่างนี้ ต้องมีระบบการวางแผนในการอพยพหรือไม่ และการขอใบอนุญาตต้องผ่านการตรวจสอบ ซึ่งใครรับผิดชอบในเรื่องนี้ อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ขออนุญาตเป็นร้านอาหาร ถามว่าคนอนุญาตไม่รู้หรือว่าเปิดเป็นผับ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็รู้
“ประเด็นต่อมาทำไมประเทศของเรา จึงปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก และน่าเห็นใจคนที่ตายในนั้น ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ จะมีการคำนวณจำนวนคนที่เข้ามาว่าสามารถอยู่ได้กี่คน เช่น ไม่เกิน 100 คน หากเกินกว่านั้นหรือ 101 คน ก็ไม่ได้ เขาให้ความสำคัญกับความเป็นคน แต่ที่บ้านเรากลับไม่ใช่ และผู้รับผิดชอบเป็นใครในการทำหน้าที่ดีหรือไม่ เพราะตามทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ กฎของสังคมเปรียบเสมือนร่างกายของเรา หากร่างกายดีก็มีความสมบรูณ์ ซึ่งหน่วยงานควรเฝ้าระวัง รวมถึงหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาตต้องดูแล ยกเว้นเกิดเหตุสุดวิสัย”
...
ที่ผ่านมากฎระเบียบในบ้านเรามีมากพอสมควร เพียงแต่ว่าคนมีหน้าที่กำกับดูแล มีการดูแลอย่างดีเพียงพอหรือยัง หรือติดปัญหาอะไร และเกิดจากสาเหตุใดจนทำให้ไม่มีการตรวจสอบ อาจเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์หรือไม่ ซึ่งสังคมไทยถึงเวลาแล้วในการเอาความจริงใจมาพูดกัน อย่ามาแลกกับชีวิตคน ควรให้ความสำคัญกับชีวิตคนให้เท่ากันหรือไม่ในการดูแลความปลอดภัย อาจมองคุณค่าความเป็นคนให้มากกว่านี้
จากบทเรียนไฟไหม้ซานติก้าผับ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กระทั่งเกิดขึ้นอีกเหมือนไฟไหม้ฟางหรือไม่ จะต้องตรวจสอบใบอนุญาต และคนออกใบอนุญาตต้องตรวจดูว่าบันไดหนีไฟ รวมถึงไฟส่องสว่างมีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับชีวิตคนให้เท่ากันในการดูแลเรื่องความปลอดภัย.