เหตุสลดคานปูนจุดกลับรถหล่นมาทับรถผู้ที่สัญจรบริเวณถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยของผู้ใช้รถบนท้องถนน ที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการซ่อมแซมถนนได้เสมอ และนี่ไม่ใช่อุบัติเหตุรุนแรงกรณีแรก เพราะจากสถิติของมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร กู้ภัยศรีสมุทร พบว่า มีอุบัติจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มาแล้วหลายกรณี

“ชาญชัย แสงแจ้” เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร กู้ภัยศรีสมุทร เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเมื่อวานนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะคานปูนมีขนาดใหญ่ และสะพานกลับรถที่หล่นลงมากำลังปรับปรุงซ่อมแซม โดยผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งเป็นคนงานที่ทำงานอยู่บนคานที่หล่นลงมา

สะพานกลับรถแห่งนี้เคยเกิดเหตุรถยนต์ไฟไหม้บนสะพานจนต้องปิดซ่อมมาแล้วเมื่อปี 2547 จากนั้นมีการเปิดใช้งาน แต่เพราะเป็นสะพานที่การจราจรหนาแน่น มีรถสิบล้อใช้งานบ่อย ทำให้ตัวสะพานชำรุดรวดเร็ว

อุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 ส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะกิโลเมตรที่ 34 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม เป็นทางเบี่ยง เมื่อมีการก่อสร้างทางยกระดับทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย บางกรณีคนขับไม่ชินทาง จนเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางเบี่ยงที่มีการก่อสร้าง

“ถนนพระราม 2 ที่ผ่านมามีการก่อสร้างปรับปรุงพื้นผิวถนนมาหลาย 10 ปี จนเมื่อเร็วๆ นี้การปรับปรุงเสร็จสิ้น แต่ก็มีโครงการก่อสร้างทางยกระดับต่อ ทำให้คนที่สัญจรไปมารู้สึกว่าถนนเส้นนี้ก่อสร้างไม่เสร็จสักที ซึ่งอุบัติเหตุคานปูนไม่ใช่กรณีแรก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีชิ้นส่วนของการก่อสร้างทางยกระดับหล่นลงมาใส่รถของผู้ที่ใช้ถนน แต่โชคดีไม่มีผู้ที่เสียชีวิต”

ภาพการก่อสร้างจุดกลับรถเมื่อปี 2563
ภาพการก่อสร้างจุดกลับรถเมื่อปี 2563

...

ภาพจุดกลับรถหลังเกิดเหตุ 1 วัน
ภาพจุดกลับรถหลังเกิดเหตุ 1 วัน

ขณะที่ข้อมูลจาก มูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร กู้ภัยศรีสมุทร ระบุว่า ถนนพระราม 2 เกิดอุบัติเหตุบ่อย เพราะพื้นผิวถนนมีลักษณะเป็นหลังเต่า เมื่อฝนตกน้ำจะไม่ท่วมขัง แต่จะทำให้รถที่วิ่งมาด้วยความเร็วเสียหลักง่าย ประกอบกับน้ำจากรถขนปลาที่ทำให้ถนนลื่นเบรกไม่อยู่ในระยะกระชั้นชิด ส่วนอีกปัจจัยเกิดจากพื้นผิวถนนชำรุด เพราะมีรถขนสินค้าขนาดใหญ่วิ่งอยู่เป็นประจำ

จากสถิติของมูลนิธิการกุศลสมุทรสาครฯ พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างซ่อมแซมพื้นผิวถนนพระราม 2 ในอดีต เมื่อเทียบกับการก่อสร้างทางยกระดับในตอนนี้ มีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน โดยช่วงเช้าจะเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง ส่วนช่วงหัวค่ำมีอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 6-7 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะและรถเก๋ง รวมแล้ววันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุมากกว่า 10 ครั้ง

รวมเส้นทางก่อสร้างถนนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

จุดก่อสร้างบนถนนเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติ โดย “พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) วิเคราะห์ว่า อุบัติเหตุจากการก่อสร้างถนนส่วนหนึ่งมาจากความละเลยของผู้ก่อสร้าง ที่หลายครั้งผู้ควบคุมการก่อสร้างไม่ลงมาดูหน้างาน แต่กลับให้คนงานจัดการกันเอง โดยเฉพาะกรณีป้ายเตือนก่อนเข้าเขตก่อสร้างที่ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย

“การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 สะท้อนถึงการจัดการด้านการก่อสร้างที่มีปัญหาของไทย เพราะกว่า 20 ปี ถนนเส้นนี้ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งพอปรับปรุงพื้นถนนเสร็จสิ้นก็มีโครงการทางยกระดับต่อ แต่การจัดการยังค่อนข้างมีปัญหา เพราะพื้นที่ถนนด้านล่างเป็นคนละหน่วยงานกับที่ดูแลการก่อสร้างทางยกระดับ”

สำหรับถนนที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างถนน จากการประเมินมีดังนี้

  • ถนนเพชรเกษม ที่มุ่งตรงไปยังภาคใต้ เป็นเส้นทางหลักที่ใช้มานาน พื้นผิวถนนไม่ได้เรียบและค่อนข้างต่ำ มักเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดถนน รวมถึงจุดกลับรถที่ค่อนข้างแคบ ทำให้รถใหญ่ประสบอุบัติเหตุบ่อย
  • ถนนเส้นทางไปยังภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดอ่างทองขึ้นไป ตอนนี้มีการก่อสร้างอุโมงค์และทางลอดหลายจุด เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางเบี่ยงก่อนจะถึงเขตก่อสร้างถนน 

การแก้ปัญหาไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างถนน ผู้รับเหมาควรจะต้องทำตามกฎสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะป้ายสัญญาณเตือนที่มีความชัดเจนก่อนจะถึงเขตก่อสร้าง และไม่ควรตั้งป้ายไว้ในระยะใกล้เขตก่อสร้างมากเกินไป เพราะจะทำให้รถที่วิ่งมาด้วยความเร็วชะลอไม่ทัน.