การประท้วงจนกลายเป็นจลาจลหลายเดือนในศรีลังกา มาถึงจุดเปลี่ยนในที่สุด เมื่อนายกรัฐมนตรี “รานิล วิกรมสิงเห” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส่วนประธานาธิบดี “โกตาบายา ราชปักษา” ประกาศจะลาออก วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ หลังเจอมวลชนบุก และเผาทำเนียบประธานาธิบดี จากต้นตอการบริหารประเทศที่ล้มเหลว จนเกิดความอดอยากของประชาชน ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ในประเทศ แม้รัฐบาลอ้างว่า มาจากผลกระทบที่ขาดรายได้การท่องเที่ยว จนไม่มีเงิน ทำให้ผิดชำระหนี้ต่างประเทศ และขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ
รัฐบาลศรีลังกาล้มเหลวในการบริหารจัดการ
จุดพีกล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดี “โกตาบายา ราชปักษา” ในกรุงโคลัมโบ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ออกจากตำแหน่ง และรับผิดชอบต่อนโยบายการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด จนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของศรีลังกา จนเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่ตระกูล “ราชปักษา” เผชิญหลังจากผลัดกันครองอำนาจการเมืองยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ
วันเดียวกันนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังได้บุกเข้าไปเผาบ้านพักนายกรัฐมนตรี “รานิล วิกรมสิงเห” ในกรุงโคลัมโบ หลังจากมีการประท้วงมาอย่างยืดเยื้อหลายเดือน
สื่อต่างชาติได้รายงานถึงที่มาของความรุนแรงในศรีลังกามาเป็นระยะ โดยระบุว่า วิกฤติล่าสุดนี้เป็นการประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 70 ปี โดยประเทศเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทบไม่เหลือ ไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็น
โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงอาหาร ยารักษาโรค ที่ส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งข้อมูลจากโครงการอาหารโลก ระบุว่าครอบครัวศรีลังกาเกือบ 9 ใน 10 ครัวเรือน ต้องอดมื้อกินมื้อ โดยกว่า 3 ล้านครัวเรือน เริ่มได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม
...
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ประชาชนบางส่วนเตรียมเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหางานทำ เพราะเกิดวิฤติว่างงานในประเทศอย่างหนัก
ก่อนหน้านี้ “รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีเคยออกมายอมรับถึงวิกฤติเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจของประเทศล่มสลายลงแล้ว เพราะขาดแคลนเงินสำหรับการนำเข้าอาหาร และพลังงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งจะต้องมองหาช่องทางการกู้ยืมเงินจากจีน อินเดีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวศรีลังกา ถูกมองว่าเป็นผลมาจากการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เงินส่วนหนึ่งทุ่มให้กับการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ และกลายเป็นพลพวงให้มีหนี้ต่างประเทศสูงสุดในเอเชีย ตัวอย่างเช่น การสร้างท่าเรือแห่งหนึ่ง มูลค่าก่อสร้าง 1.4 พันล้านเหรียญ ต้องกู้จีน 1.2 พันล้านเหรียญ เมื่อเปิดใช้งานกลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับหนี้สินและดอกเบี้ยการก่อสร้างมหาศาล
ประชาชนศรีลังกาสุดวิกฤติ พลังงาน อาหาร ยา ขาดแคลน
การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศศรีลังกา เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน ยิ่งเมื่อเกิดสงครามรัสเซียถล่มยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เมื่อค่าเงินของศรีลังกาอ่อนค่าลงอย่างหนัก ต้นทุนน้ำมันยิ่งสูงขึ้น
การบริหารจัดการพลังงานในประเทศที่ล้มเหลว เช่น เมื่อน้ำมันดีเซลภายในประเทศขาดแคลน จนต้องปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนหลายแห่ง รัฐบาลต้องตัดไฟทั่วประเทศ กระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ปกติสร้างเม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ในสัดส่วน 27 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ทำให้กระทบเป็นห่วงโซ่ไปอีกหลายส่วน
...
เมื่อปัจจัยต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก ประกอบกับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชากรวัยทำงานเริ่มอพยพไปหางานในต่างประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจเห็นได้ชัดจากตัวเลขเงินเฟ้อ เมื่อเดือนมิถุนายน พุ่งสูงถึง 54.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงผู้คนรายได้ลดลง แถมข้าวของสินค้ายังแพงขึ้นมหาศาล
บทเรียนศรีลังกา ที่หลายประเทศต้องเรียนรู้
การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกา ในมุมมองของ “รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์อนาคตของศรีลังกานับจากนี้ว่า หลังจาก นายกรัฐมนตรี “รานิล วิกรมสิงเห” และประธานาธิบดี “โกตาบายา ราชปักษา” ที่ต้องลาออกพร้อมกัน ทำให้อำนาจทางการเมืองของตระกูล “ราชปักษา” ลดลง โดยฝ่ายค้านจะจัดตั้งรัฐบาล และดำเนินนโยบายเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจหลังจากนี้
...
มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดใหม่จะยื่นเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อมีเงินเข้ามาบริหารกิจการภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน รวมถึงเปิดเสรีทางการค้ากับนานาประเทศมากขึ้น แต่ศรีลังกาจะต้องเคร่งครัดระบบการคลังเพิ่มขึ้น เพราะกลไกการช่วยเหลือทางการเงินของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้เอง ยังไม่มีกองทุนขนาดใหญ่พอที่จะช่วยเหลือ และกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาได้
ขณะเดียวกันรัฐบาลชุดใหม่จะต้องมีการเจรจากับประเทศเจ้าหนี้ ที่มีการกู้เงินมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เจ้าหนี้รายใหญ่ ที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก ส่วนจีนและอินเดีย เป็นเจ้าหนี้ที่มีสัมพันธ์อันดี จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะขอผ่อนผันได้
หากมองถึงการเมืองของศรีลังกา ที่มีการครองอำนาจมายาวนานของตระกูล “ราชปักษา” จะค่อยๆ เสื่อมลง เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียใต้ นิยมใช้แนวทางชาตินิยมผูกโยงกับศาสนา เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมือง ตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่กลุ่มนักการเมืองหัวรุนแรงด้านศาสนา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศจำนวนมาก
ถ้าวิเคราะห์บทเรียนการล่มสลายของศรีลังกา จะเหมือนกับไทยสมัย “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ที่ขาดดุลการค้าจนส่งผลต่อนโยบายทางการเงิน ซึ่งหลังจากนั้นไทยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินให้มีความเข้มแข็ง เห็นได้จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจยังสามารถพยุงตัวไปต่อได้ แต่ก็มีโอกาสจะกลับไปเจอวิกฤติอีกครั้ง หากเกิดปัญหาผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ
โดยเฉพาะระบบการเมืองที่รัฐบาลมีพรรคเล็กจำนวนมากต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม รวมถึงผู้นำที่หากไม่มีภาวะผู้นำ อาจทำให้ไทยประสบกับภาวะวิกฤติเหมือนศรีลังกา แต่อาจไม่ร้ายแรงเท่า เนื่องจากสถาบันการเงินภายในประเทศมีความแข็งแกร่งพอที่จะพยุงให้เศรษฐกิจผ่านภาวะวิกฤติไปได้
...