การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และจากการผ่อนคลายกิจกรรม เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจเกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วตามสถานที่ท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะเดียวกันยังต้องจับตาสายพันธุ์ BA.2.75 ที่แพร่ระบาดในอินเดีย อาจเข้ามาแพร่ระบาดซ้ำในไทย
สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระบาดระลอกใหม่
“ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ” หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ว่า ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน มีคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เพิ่มขึ้น 51 เปอร์เซ็นต์ คาดว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงสุดช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และต่อจากนี้โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 จะเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดระลอกใหม่
สำหรับการแพร่ระบาดในรอบนี้ กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับบูสเตอร์วัคซีน และคนที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ประกอบกับขณะนี้มีการเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งชาวต่างชาติบางส่วนไม่เคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย อาจทำให้มีแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
จากการประเมินความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีผลวิจัยในแอฟริกาพบว่า มีความรุนแรงน้อยกว่า BA.2 แต่สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันยังเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อ
แนวโน้มการกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ถือเป็นเรื่องปกติของไวรัส เพราะต่อให้มีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่มาก แต่ไวรัสยังมีการพัฒนาตัวเองให้ติดง่ายขึ้น ซึ่งการระบาดในรอบนี้ จะเห็นคนที่เคยติดโควิดติดซ้ำมากขึ้น ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพลดอาการรุนแรงหลังติดโควิด ดังนั้นการป้องกันอย่างเคร่งครัดโดยสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะและล้างมือบ่อยๆ ยังมีความจำเป็น
...
จับตานำเข้าสายพันธุ์ BA.2.75 จากอินเดีย
“ผศ.นพ.โอภาส” ยังแสดงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ที่ขณะนี้แพร่ระบาดในอินเดีย มีแนวโน้มจะระบาดเข้ามาในไทยในไม่ช้า เพราะขณะนี้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาไทยไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่มาจากต่างประเทศได้เลย
“แม้ตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ในไทย แต่ภาครัฐควรมีการทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว เนื่องจากหลายพื้นที่ท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ เช่น บนเครื่องบิน ที่มีนักท่องเที่ยวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยยังต้องมีมาตรการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่อีกครั้ง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอีกรอบ”
การแพร่ระบาดของโควิดต่อจากนี้คาดว่า ยังมีอีกหลายระลอก เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วจะต้องมีจุดสมดุลในการควบคุมผู้ติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้น และป้องกันการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือมาตรการป้องกันที่ยังต้องเข้มงวดเหมือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว โดยคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดในลักษณะคลื่นเล็กๆ เป็นอาฟเตอร์ช็อก จากการผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มต่อจากนี้จะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2,000 คนต่อวัน และคาดว่าเดือนกันยายน จะมีผู้ป่วยไม่เกิน 4,000 คนต่อวัน.