แผนสร้าง ”สกายวอล์ก เขาหินเหล็กไฟ” ของเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของหัวหิน เมืองชายหาดที่มีเอกลักษณ์อันเลื่องชื่อของประเทศไทย ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองหัวหิน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบ และกำลังส่งเรื่องให้อธิบดีกรมป่าไม้ พิจารณาเห็นชอบสิทธิการขอใช้พื้นที่ 30 ปี

เขาหินเหล็กไฟ จุดชมวิวของเมืองหัวหิน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองหัวหิน อยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 3 กิโลเมตร และยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ มาประทับ และมีต้นไม้เก่าแก่หลายพันธุ์ เช่น ต้นเสมา ต้นลีลาวดีหลากสายพันธุ์ ต้นตีนนก ต้นช้างน้าว ต้นอ้อยช้าง ต้นตะโก และต้นไม้อื่นๆ อีก รวมถึงยังเป็นที่อาศัยของฝูงลิงหลายพันตัว

ทำให้คนในพื้นที่ และชาวต่างชาติที่ผูกพันกับเมืองหัวหิน เกรงว่าโครงการก่อสร้างสกายวอล์กบนเขาหินเหล็กไฟให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหัวหิน จะทำลายทุกอย่าง ทั้งธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ แม้ทางเทศบาลเมืองหัวหิน คาดหวังจะให้เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศ โดยในแผนจะจัดสถานที่จอดรถ ร้านค้าขายของที่ระลึก และห้องสุขา ซึ่งทั้งหมดจะใช้งบของส่วนกลางในการดำเนินการทั้งสิ้น จนเกิดคำถามว่าเป็นการลงทุนที่สุรุ่ยสุร่าย และจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะจุดชมวิวที่มีอยู่เดิมทั้ง 6 จุด มีความสวยงามอยู่แล้ว และควรฟังเสียงประชาชน

...

อีกทั้งโครงการสกายวอล์ก บนเขาหินเหล็กไฟ ถือเป็นการปรับภาพลักษณ์เมืองหัวหิน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี จะต้องเข้ามาศึกษาสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศตามที่เคยเซ็นเอ็มโอยูกับเทศบาลเมืองหัวหิน แต่ที่ผ่านมาคาดว่าไม่มีการประสานความร่วมมือใดๆ ในเรื่องนี้ คงต้องติดตามดูหากมีภาคประชาชนยื่นเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทำการศึกษา อาจเป็นไปได้

ขณะที่เพจชมรมพิทักษ์หัวหิน ได้โพสต์ข้อความแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ซึ่งควรมีการทำประชาพิจารณ์ รวมถึงการคำนวณจุดคุ้มทุน ทั้งรายได้ที่จะได้มาและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป (ROI: Return on Investment) อย่างรอบคอบ โดยได้มีการเชิญชวนให้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการสร้างโครงการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเปิดกว้างมุมมองร่วมกัน ในประเด็น 3 ด้าน

1. ด้านสิ่งแวดล้อม ในการก่อสร้างอาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนเขาหินเหล็กไฟ ส่งผลให้ต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งเป็นต้นไม้เดิมบางส่วน ได้รับผลกระทบ และหากเป็นเช่นนั้น ไม่สามารถหวนคืนปลูกทดแทนได้

2. ด้านทัศนียภาพของเมืองหัวหิน เมื่อโครงการแล้วเสร็จ อาจส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงามอันเป็นอัตลักษณ์จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวชมธรรมชาติของหัวหิน และขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวของเมืองไว้ให้ได้มากที่สุด และบริเวณเขาหินเหล็กไฟในปัจจุบันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและจุดชมวิวที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวด้วยความสวยงามตามธรรมชาติและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอ หากมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นอาจทำลายความสวยงามตามธรรมชาตินี้ได้ และอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดน้อยลง

3. ด้านงบประมาณของเมืองหัวหินในการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่หลายด้าน ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เช่น การปรับปรุงระบบการจัดการขยะและน้ำเสีย ปัญหาน้ำรอการระบายและคุณภาพของน้ำประปา การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในมุมมองของ "ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์" ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า สกายวอล์กในปัจจุบันมีอยู่ทั่วโลก แต่หลายพื้นที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยก่อสร้างให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ จนทำให้ผู้คนหันมาสนใจธรรมชาติได้ เพราะสกายวอล์ก หรือแม้กระทั่งกระเช้าไฟฟ้า สามารถทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ถือเป็นมุมดีมุมหนึ่ง

...

“ส่วนตัวไม่ตะบี้ตะบันค้านไปทุกอย่าง แต่ด้วยบริบทในประเทศไทย ไม่มีมุมมองต่อธรรมชาติ อยากจะสร้างสกายวอล์กก็สร้าง ได้ทำให้ต้นไม้หายไปเท่าไร มีความคุ้มทุนกับธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน หลายๆ โครงการได้ไม่คุ้มเสียกับการสูญเสียธรรมชาติ เพราะขั้นตอนการออกแบบ อาจไม่ได้ให้นักธรรมชาติวิทยา เข้ามาร่วมศึกษาโดยตลอด เหมือนการสร้างกำแพงกั้นคลื่นทะเล ได้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศนทำให้หาดทรายต้องหายไป”

กรณีสกายวอล์ก บนเขาหินเหล็กไฟ จะดีหรือไม่ต้องมีการศึกษา ก่อนมีการพัฒนาปรับปรุง แต่ต้องยอมรับว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หลายโครงการในไทย ทำเพื่อให้ผ่านเท่านั้น และเมื่อจังหวัดนี้มีสกายวอล์ก ทำให้หลายจังหวัดก็อยากจะมีด้วย เพราะบ้านเราไม่มีความสร้างสรรค์ เหมือนก๊อปๆ กันไป และแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องทำสกายวอล์ก หรือสร้างหอประภาคาร เพื่อเรียกให้คนขึ้นไป จนเหมือนกันไปหมด

จากปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐควรจริงใจให้มากกว่านี้ ต้องโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และประชาสังคมต้องรับรู้ ไม่ใช่เฉพาะหัวหินเท่านั้น เพราะที่ผ่านมามีหลายโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว มีการปล่อยทิ้งร้างไปอย่างน่าเสียดาย ไม่คุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไป และอีกมุมหนึ่งของโครงการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่อยากเชิญนักธรรมชาติวิทยา เข้ามาร่วมศึกษา เพราะคิดว่าจะโดนคัดค้าน

...

“ในมุมส่วนตัว ก็เห็นว่าบางโครงการก็ควรสร้าง สามารถพัฒนาเป็นความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ ทำให้ทุกคนเก็บรักษาธรรมชาติได้ เช่นเดียวกับการสร้างสกายวอล์ก ถ้าทำประโยชนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้จริงๆ ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน อย่างกระเช้าไฟฟ้า หลายประเทศทำได้ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม แต่บ้านเราขนาดยังไม่ได้สร้างกระเช้า ป่าก็ยังหายไป เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนเข้าถึงธรรมชาติ ทำให้เกิดความหวงแหน เกิดความรักในธรรมชาติให้ได้”

การจะก่อสร้างโครงการใด หรือสกายวอล์ก ต้องมองในระยะยาว เป็นการแลกกับบางอย่าง เพื่อให้ได้อะไรบางอย่าง และสิ่งที่ทำในอดีตหลายโครงการไม่คุ้มค่า แต่สิ่งที่คุ้มค่ากลับไม่ทำ เพราะโครงการต่างๆ ในไทย ขึ้นอยู่กับนโยบายการเมือง ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หากการก่อสร้างสกายวอล์ก บนเขาหินเหล็กไฟ โดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้ปากท้องชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้น ก็ควรทำ

เพราะเมื่อคนอิ่มมีรายได้ไม่เดือดร้อน ก็จะมองและหวงแหนธรรมชาติ ต้องทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เกิดความพอใจร่วมกัน อาจแลกเพื่อให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น ไม่ใช่ให้ความหวังเพื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยผลักดันโครงการ แต่สุดท้ายชาวบ้านกลับไม่ได้อะไร อาจสูญเสียที่ดินทำมาหากินให้กับนายทุนโดยไม่รู้ตัวก็ได้.

...