- หลายฝ่ายคาดการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มจะต้องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งแรง แต่จะดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในไตรมาส 3 ปีนี้
- หลังจากกนง.ส่งสัญญาณ ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% แต่อีก 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75%
- สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ พร้อมกับการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันและต้นทุนสินค้าในตลาดโลกปรับขึ้นสูง ยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวสูงขึ้น รวมทั้งไทย โดยเดือนพ.ค.อยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกตามราคาพลังงาน และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค. รวมถึงราคากลุ่มอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น
ขึ้นดอกเบี้ย ทนเจ็บ แต่จบ สกัดเงินเฟ้อพุ่งแรงยาวนาน
ดูเหมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีทางเลือกอื่นในการสกัดเงินเฟ้อ นอกจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับหลายประเทศ และย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ต้องทนเจ็บดีกว่าจบ เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ภาคธุรกิจ ต้องกำหนดราคาสินค้าที่สูงขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างที่ "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาระบุ
...
นอกจากนี้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะทำให้ลูกจ้างออกมาเรียกร้องนายจ้างให้ปรับขึ้นเงินเดือน กลายเป็นวัฏจักรซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นไม่จบสิ้น จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบเจ็บๆ แต่จบ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด
เมื่อกนง.มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นั่นแปลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง จากค่าเฉลี่ยเศรษฐกิจเคยเติบโต 3-3.5% ก็จะโตต่ำกว่านั้น ทำให้การลงทุนมีแนวโน้มลดลงกว่าที่เคยเป็น ขณะเดียวกันจะทำให้การสะพัดของเงินลดน้อยลง เพราะเป็นช่วงที่คนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงในเรื่องฐานะทางการเงิน
“อาจมีความเสี่ยงที่หลายกิจการ จะมีการเลย์ออฟเอาคนออก จึงขอเตือนว่าในช่วงนี้ไม่ควรออกจากงาน และไม่ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อ เพราะอัตราดอกเบี้ยเตรียมปรับขึ้น เป็นสัญญาณว่ามีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก ไม่ใช่รอบเดียว และเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง อาจใช้เวลาเป็นปีๆ ประมาณ 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น”
งานมีเกาะให้แน่น ทำใจเตรียมรับมือเศรษฐกิจชะลอตัว
หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นช่วงที่คนมีเงินออมนำเงินมาใช้ และยิ่งคนไม่มีเงินออมจะยิ่งลำบากหนัก จากผลกระทบโควิดในช่วงที่ผ่านมา เพราะเงินออมได้หายไปตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ดังนั้นภาครัฐต้องหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือ และควรจดทะเบียนคนจน นำไปสู่การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีโดยบูรณาการจากภาครัฐ ในการสกรีนคน และใช้กลไกท้องถิ่นช่วยตรวจสอบว่าใครจนจริงหรือไม่
ท้ายสุดเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลงกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ทางภาครัฐจะต้องช่วยเหลือผ่านมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และต้องเตรียมงบประมาณไว้รองรับไม่ว่าจะวิธีใด เนื่องจากก่อนหน้านั้นได้ใช้งบ 5 หมื่นล้านบาท ในการช่วยเหลือคน 14 ล้านคนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเฉลี่ย 300 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน และขณะนี้เหลืองบ 3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 100 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอ ทางรัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่ม
จากผลกระทบการปรับขึ้นดอกเบี้ย กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า และภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง อาจเติบโตน้อยกว่าที่เป็น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้ธุรกิจจะมีต้นทุนมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้มีรายได้ไม่แน่นอน มีรายได้จำกัด โดยเฉพาะคนมีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถและเป็นหนี้สินเชื่อธนาคาร จะต้องกลับมาดูสถานะทางการเงินของตัวเอง
...
“ใครเป็นหนี้ ต้องดูความสามารถชำระหนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน หากไม่แล้วก็ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ และงานที่ทำอยู่ควรเกาะเอาไว้ให้แน่น อย่าลาออกเด็ดขาด ให้นำวิกฤติโควิดก่อนหน้า มาเป็นเกราะคุ้มกัน เพื่ออยู่ให้รอด จนกว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง อาจใช้เวลาเป็นปีๆ เพราะต้องดูสถานการณ์เงินเฟ้อในต่างประเทศด้วย อีกทั้งสงครามรัสเซียกับยูเครนก็ยังไม่จบสิ้น อาจส่งผลกระทบไปอีกนาน ไม่สามารถประเมินได้”
ผู้เขียน : ปูรณิมา