ช่วงนี้คนพูดถึง และติดตามผู้ว่าฯ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ไม่ว่าอยู่ไหน ทำอะไร คนไทยรู้หมด เพราะผู้ว่าฯ ป้ายแดงคนนี้กำลัง “ป๊อปปูลาร์” เรียกว่าทำอะไรก็ดูดี พูดอะไรก็ดูมีหลักการ

ในขณะเดียวกัน เมื่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร “SMART PIER SMART CONNECTION” โดยมีเหล่า รัฐมนตรีข้างกาย และมีการไลฟ์สดผ่านเพจ “ไทยคู่ฟ้า” กลายเป็นว่าโดนหาว่า ก๊อบปี้ชัชชาติ คอการเมืองที่เบื่อนายกฯ คนนี้ก็ตามถล่มเละ

ในทางการเมือง การใช้สื่อโซเชียลมีเดียถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ต่างฝ่ายต่างต้องมีกลยุทธ์ในการนำเสนอ และในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ “อาจารย์ไอซ์” หรือ ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย มาวิเคราะห์ถึงความสำคัญ ใช้ยังไง...ที่จะให้คุณ หรือ กลายเป็นโทษทางการเมือง

...

จริงใจ ไม่ Fake กับ การมีส่วนร่วม หัวใจสำคัญ

ผศ.สกุลศรี เข้าประเด็นทันทีว่า พื้นฐานของการใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองนั้น สิ่งสำคัญมี 2 เรื่องคือ 1. ความจริงใจ และ 2. การมีส่วนร่วม

ความจริงใจ : เป้าหมายการใช้โซเชียลมีเดีย คือ การสื่อสารโดยตรงกับคนในสังคม อยากให้คนทั่วไปรู้ว่า กำลังทำอะไร แต่..หากเป็นสิ่งที่ “ปั้นแต่ง” หรือ “จัดสร้าง” มากจนเกินไป คนที่ดูจะเข้าไม่ถึงและรู้สึกว่าเป็นการ “Fake” ดังนั้น การปั้นแต่งมากไปไม่มีประโยชน์ในการสื่อสาร

กล้าใช้ ก็ต้องกล้ายอมรับคำวิจารณ์ : หากผู้นำคนไหนใช้ ต้องพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้คนเข้าถึงได้ และจำเป็นต้องยอมรับคอมเมนต์ ฟีดแบ็ก กลับมาที่หลากหลาย อาจจะด่าว่าบ้าง แต่มันก็เป็นพื้นที่ ที่เราได้เรียนรู้ เป็นการพูดถึง เข้าถึงตัวผู้นำจริงๆ ได้เข้าใจกันมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น จากคนที่เคยเกลียด เขาอาจจะได้ฟีดแบ็ก แก้ปัญหาความขัดข้องใจ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงพัฒนา เป็นการสะท้อนความจริงใจและได้ประสิทธิผล

ไลฟ์สดต้องสะท้อนบุคลิก เป็นธรรมชาติ แต่ต้องมีกลยุทธ์ :

“สิ่งสำคัญคือความจริงใจ คิดอย่างไรก็พูดแบบนั้น แต่..ทุกอย่างต้องมีการวางแผน การจะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ 100% เลยก็ไม่ได้ เพราะเรื่องบางเรื่อง หากมีการไลฟ์สด แล้วพูดอะไรที่เป็นข้อผิดพลาด ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ เช่น กรณีพูดเรื่องการ “ลอกคลอง” ซึ่งคุณชัชชาติ เองก็โดนมาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่บางครั้งมันไม่ใช่บริบทที่จะมานั่งอธิบายเพิ่ม ส่งผลให้คนไปตีความตาม “คติ” และ “ความเข้าใจ” นี่คือ ประเด็นที่อันตราย” ผศ.สกุลศรี กล่าวและว่า ในขณะที่ บางประเด็น มีการพูดกันหลังไมค์ก่อน แล้วค่อยออกมาพูดกันหน้าไมค์ ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการเข้าใจผิดได้

การมีส่วนร่วม : เราต้องมองให้ออกว่างานลักษณะไหน ทำให้เห็นเป็นเรียลไทม์ได้ หรือช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วม หากมีคนที่คอยมอนิเตอร์อยู่ว่า เขาดูเขาคอมเมนต์อะไร ก็อาจจะโยนคำถาม ไปถามได้ทันที หรือเก็บมาเป็นประเด็นในการมาตอบภายหลังได้ ก็ถือเป็นเรี่องที่ดี และจะทำให้ทุกคนอยากเข้ามาร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือ ออกแบบให้กับสังคม

“โดยสรุปคือ การไลฟ์สด มีทั้งข้อดี และเสีย ฉะนั้น ก่อนจะใช้โซเชียลมีเดีย ไลฟ์สด จึงจำเป็นต้องมี กลยุทธ์ เข้าใจพฤติกรรมคนที่เสพสื่อ ประเด็นไหนจะทำให้คนดูได้คิดตามอย่างมีเหตุผล เนื้อหาแบบไหน จะสุ่มเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดดราม่า และเหวี่ยงประเด็นกลายเป็นเรื่องอื่น”

...

จาก “ชัชชาติ” ถึง “ลุงตู่” บุคลิกผู้ไลฟ์สด...สำคัญ :

สำหรับ นักการเมืองที่ไลฟ์สด อาจารย์สกุลศรี ยกตัวอย่างว่า บางคนอาจจะเป็น “โอ้อวดตัวเอง” เป็นประจำ พอมาไลฟ์สด คนดูก็ไม่อยากดู และอาจจะกลายเป็นเรื่อง “ดราม่า” ด้วยซ้ำ ทั้งที่ตัวผลงานนั้นดีแค่ไหนก็ตาม

ในขณะที่ บางคน มีบุคลิกที่ “ถ่อมตัว” หรือ “รับฟังคนอื่น” อย่างเช่น คุณชัชชาติ ที่คนทั่วไปยอมรับ ก็ไม่ได้โอ้อวดตัวเองว่าฉันเก่ง ฉันดี ซึ่งก็กลายเป็นบุคลิกที่คนอยากเปิดรับ ส่งผลให้คนที่ดูอยากมีส่วนร่วม...แต่เชื่อว่ามีการออกแบบ วางกลยุทธ์ แต่ภาพที่ออกมา ต้องไม่ Fake หยิบคาแรกเตอร์ที่ดี ออกมาให้ผู้รับสารได้เห็น และเลือกจังหวะ นำมาใช้อย่างเหมาะสม

“การเป็นคนรอบรู้ มีข้อมูลเยอะๆ แล้วใช้โซเชียลมีเดียไลฟ์สดบ่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมีสิ่งที่จะสื่อสาร แต่ถ้าคนนั้นเป็นคนพูดไม่เก่ง เคอะเขิน ก็สามารถลดประมาณการใช้โซเชียลมีเดียลง โดยอาจจะเน้นเป็นประเด็นๆ ไป แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างธรรมชาติ”

ตอนนี้คนพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คุณชัชชาติ ทั้ง 2 คนนี้ เห็นความบกพร่องในการใช้งานอย่างไร หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่า ผู้นำทั้ง 2 คน มีคาแรกเตอร์ แตกต่างกัน แนวคิดและการสื่อสารแตกต่างกัน รวมไปถึง ระดับตำแหน่งทางการเมืองก็ต่างกัน

อาจารย์สกุลศรี อธิบายต่อว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรเยอะ ควรพูดในเวลาที่จำเป็นต้องพูด และเรื่องสำคัญจริงๆ นายกฯ ไม่ควรจะต้องพูดอะไรตลอดเวลา นี่คือ เป็นเรื่องที่ผู้นำทั่วโลกเป็น การพูดจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ เพราะเป็น เบอร์ 1 ของประเทศ เพราะสิ่งที่พูด หรือโพสต์ คือ “จุดยืน” ของประเทศ สังคม และมีผลกระทบไปยังองค์รวม เศรษฐกิจ สังคม ฉะนั้น การพูดผ่านโซเชียลฯ ควรจะเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ต้องเยอะ และไม่จำเป็นต้องบ่อย

...

“การพูดต้องมีการวางแผนที่ชัดเจน ตรงประเด็น ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว ว่าคนต้องการรู้อะไร ได้คำตอบอะไร มีข้อมูลครบถ้วนกับทุกกลุ่ม แต่ถ้าพูดมาแล้วมีคำถาม หรือถูกตีความแตกต่างกัน...อาจจะเกิดดราม่าตามมาได้ นี่คือเรื่องที่ต้องระวัง”

ส่วนในระดับ ผู้ว่าฯ กทม. กูรูด้านการสื่อสารผ่านโซเชียลฯ กล่าวว่า กทม. เองเพิ่งได้ผู้ว่าฯ ใหม่ เวลานี้จึงอาจจะเป็นช่วงที่อยากจะให้คนได้เห็น ผลงาน อะไรที่สามารถกระตุ้นให้คนตื่นตัวได้ ก็จะดี แต่หลังจากนี้จะเป็นไงต่อ จะไลฟ์ต่อเนื่องเลยไหม.. ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไป

ไลฟ์บ่อยไป จะเกิดผลเสียไหม อาจารย์สกุลศรี ยิ้ม..แล้วบอกว่าหากคนชอบก็ถือว่าไม่เยอะ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า สิ่งที่เขานำเสนอเหมาะกับการไลฟ์หรือไม่ หากเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในการทำงานก็ถือเป็นเรื่องที่น่าจะไลฟ์ให้คนได้เห็น ทำให้คนมีส่วนร่วม และร่วมเฝ้าระวัง หรือตรวจสอบ

“แต่บางเรื่อง ควรจะคุยรายละเอียดให้เคลียร์ก่อน เพราะป้องกันความสับสน ประเด็นแบบนี้ต้องระวัง เพราะอารมณ์ของคนในโลกออนไลน์ จะพุ่งตอบรับอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ทีมงานที่ร่วมทำงานก็ต้องรู้จังหวะด้วย ไม่ใช่ไลฟ์สด กลายเป็นว่าเป็นการทำร้ายผู้นำ”

...

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สกุลศรี ยังมองว่า การไลฟ์สดของผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นเรื่องดี เพราะมีโอกาสได้เห็นการทำงานเบื้องหลังการทำงานของข้าราชการ กทม. ทำให้คนกรุง รู้ว่ามีหน่วยงานในสังกัดเยอะมาก ผู้ว่าฯ ได้พาไปเจอ คนที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยงานถือเป็นสิ่งดี หากวันหลังมีปัญหาจะได้พุ่งเป้าแก้ปัญหาไปในที่ที่ถูกจุด

แต่...ต้องยอมรับว่า ข้าราชการบางคนก็ไม่สันทัดในการออกหน้ากล้อง ไลฟ์สด อาจทำให้เกิดความประหม่า เสียความสมาร์ทไป แต่ความเป็นจริง เขาอาจจะเก่งมากก็ได้ เรื่องนี้ต้องระวัง บางคนพูดไม่เก่ง เมื่อไลฟ์สด กลายเป็นทำร้ายเขา ฉะนั้น บางกรณี ก่อนไลฟ์ก็เปิดโอกาสให้ได้เตรียมตัวบ้าง การไลฟ์สดประชาชนอาจได้ประโยชน์ แต่อย่าทำร้ายคนที่ทำงานด้วย ถ้าเขาทำงานดีและไม่ได้ทำอะไรผิด

ผู้นำโลก น้อยนัก...จะไลฟ์สด

เมื่อถามว่า ในเวทีระดับโลก มีการไลฟ์สด กันบ้างไหม ใช้กลยุทธ์อย่างไร กูรูด้านสื่อสารมวลชนและโซเชียลมีเดีย กล่าวว่า ในความเป็นจริง ผู้นำระดับโลก เขาไม่ค่อยไลฟ์สดกัน แต่อาจจะมีบางประเทศ เช่น กัมพูชา สมเด็จ ฮุนเซน ซึ่งท่านก็มีคนติดตามเยอะ 10 กว่าล้านคน ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดีย เองก็มีการคัดเลือกใช้เครื่องมือที่หลากหลาย แต่ทุกแพลตฟอร์มก็มีทีมงาน ที่วางกลยุทธ์ในการใช้ เพื่อดึงบุคลิกภาพที่โดดเด่น ดึงความเก่งของผู้นำให้คนได้เห็น

อาจารย์ไอซ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การใช้โซเชียลฯ ของนักการเมือง หรือ ผู้นำฯ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับประชาชน แต่จะต้องไม่ใช่เรื่อง สัพเพเหระ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำยังไงก็ได้ให้สารที่จะสื่อไม่ถูกตัดทอน แล้วเกิดการเข้าใจผิด เพราะโซเชียลมีเดียให้คุณกับนักการเมืองได้ ก็ให้โทษในทางการเมืองได้หนักหน่วงและรวดเร็วเช่นกัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ