การฉีดวัคซีนเข็ม 5 ต่อจากเข็ม 4 หรือเข็ม 4 ต่อจากเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 กำลังเป็นที่สงสัยของประชาชนว่าจำเป็นหรือไม่ ซึ่งจากการสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสรุปข้อแนะนำได้ว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับการฉีดเข็ม 5 หรือเข็ม 4 ส่วนคนร่างกายปกติ ให้พิจารณาเป็นรายบุคคล
วัคซีนเข็ม 5 ยังจำเป็นในกลุ่มเสี่ยง
“ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ” หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังมีข้อมูลที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 5 ไม่มากนัก มีเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ว่า โดยปกติเมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ภูมิคุ้มกันในเลือดจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา แต่มีคำถามว่า ภูมิคุ้มกันระดับเซลล์อาจจะทำงานได้ดีจนสามารถป้องกันความรุนแรงจากการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งยังต้องรอข้อมูลการศึกษามายืนยันอีกครั้ง
สำหรับทางการแพทย์มีการวิเคราะห์ว่า กลุ่มคนที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 5 ไว้ดังนี้
- มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูงอยู่ตลอด หรือเคยปลูกถ่ายอวัยวะมาก่อน
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจต้องฉีดกระตุ้นเป็นรายกรณี ตามแพทย์เห็นสมควร เนื่องจากร่างกายแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน
- จากการเก็บข้อมูลผู้รับวัคซีน พบว่า คนที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม สูตรซิโนแวค 2 เข็มตามด้วย แอสตราเซเนกา 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะต่อต้านเชื้อโอมิครอนได้น้อยกว่าสูตร 4 เข็ม ที่เป็น ซิโนแวค 2 เข็ม แอสตราเซเนกา 1 เข็ม แล้วตามด้วย mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา อีก 1 เข็ม แต่กลุ่มดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกัน จึงไม่ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 5 ในกลุ่มคนปกติ
- ผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ อาจต้องฉีดวัคซีนตามที่ประเทศนั้นกำหนด สามารถฉีดได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวิเคราะห์ภาวะของร่างกายเป็นรายกรณี
สำหรับการฉีดวัคซีนในอนาคตจะมีการพัฒนาวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้อยู่ได้นานขึ้น และอาจมีการรวมกันระหว่างวัคซีนป้องกันโควิด กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่ในเข็มเดียวกัน เพื่อจะได้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สะดวกมากขึ้น
...
ใครไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงควรรอวัคซีนชนิดใหม่
สอดคล้องกับข้อมูลจาก “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ระบุว่า ขณะนี้ประชาชนหลายคนสับสนกับการฉีดวัคซีนเข็ม 5 ซึ่งกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนคือ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต เบาหวาน โดยแนวทางที่ต้องคำนึงมีดังนี้
- การฉีดวัคซีนเข็ม 5 ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิด แต่ช่วยให้ไม่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตหลังติดเชื้อ ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 3-4 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ไม่จำเป็นต้องฉีดเพิ่มในระยะเวลานี้
- การฉีดวัคซีนซ้ำถึง 5 ครั้งในคนปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจดจำการต่อต้านไวรัสชนิดเดิม และอาจทำให้ร่างกายมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าปกติ จึงควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนประมาณ 1 ปี เพื่อให้การฉีดวัคซีนครั้งต่อไปร่างกายกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนซ้ำทุก 3 เดือน
- การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับคนปกติ ควรเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่กำลังมีการวิจัย ให้สามารถต่อต้านเชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 ได้ตรงตามเป้าหมาย มากกว่าวัคซีนที่มีการผลิตขึ้นในขณะนี้ โดยคาดว่า วัคซีน mRNA ชนิดใหม่ จะผลิตขึ้นได้ในปลายปีนี้
- สำหรับคนที่ได้รับวัคซีน และติดเชื้อโควิด ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 เพิ่ม เพราะมีภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นเองตามธรรมชาติ หากฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังจากหาย อาจทำให้การฉีดวัคซีนครั้งถัดไปภูมิคุ้มจะขึ้นน้อยกว่า การเว้นระยะการฉีดวัคซีนไว้ประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี
แนะคนฉีด mRNA เข็ม 3-4 ไม่ต้องซ้ำด้วยเข็ม 5
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่รายหนึ่ง กล่าวว่า ทางการแพทย์ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนที่ต้องฉีดทุก 3 เดือน จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เคยฉีดวัคซีน mRNA มาแล้วในเข็มที่ 3 และ 4 แต่ในคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนเชื้อตายมาก่อนหน้านี้ อาจต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยป้องกันความรุนแรง หากมีการติดเชื้อ ส่วนคนที่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 5 มีดังนี้
- คนที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกามาแล้ว 2 เข็ม และเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน mRNA มาแล้ว 2 เข็ม
- คนที่ฉีดวัคซีน mRNA มาแล้ว 3 เข็ม เพราะปกติวัคซีนประเภท mRNA เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง และอยู่ได้ประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะตกลง แต่ยังมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ประมาณ 6 เดือน
- การฉีดวัคซีนเข็ม 5 สำหรับคนปกติ ไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ อาจต้องเว้นระยะเวลาหลังจากนี้ เพื่อรอวัคซีนชนิดใหม่ที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ยาวนาน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า
- แนวทางการป้องกัน หลังจากมีการฉีดวัคซีนเข็ม 4 แล้ว ต้องป้องกันตัวตามมาตรการอย่างเคร่งครัด