เงินเฟ้อเดือน พ.ค. 2565 พุ่งทั่วโลก รวมทั้งเงินเฟ้อไทย ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งไปที่ 7.10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ลุ้นประวัติศาสตร์สงคราม และน้ำมัน ไม่ตามมาหลอน ดันเงินเฟ้อพุ่งทะยานไม่หยุด
2 สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น
ชัดเจนว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” หมายถึง “ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน” นี่คือคำนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ไว้เกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ โดยสรุปเข้าใจง่ายคือ ภาวะเงินเฟ้อสะท้อนถึงราคาสินค้า และค่าบริการสูงขึ้น จนทำให้ประชาชนชนเดือดร้อนนั่นเอง
สำหรับสาเหตุที่ราคาสินค้า และบริการสูงขึ้น จนเกิดภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไปมี 2 เหตุผล คือ
1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น โดยสินค้าและบริการในตลาดมีไม่เพียงพอ ผู้ขายจึงปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น จะเห็นว่าในข้อนี้เป็นเหตุผลหลักที่ดันเงินเฟ้อหลายประเทศในโลกขณะนี้ เพราะเกิดจากสงครามรัสเซียถล่มยูเครน จนทำให้สินค้าที่เดิมผลิตจากสองประเทศนี้ขาดแคลน มีไม่เพียงพอกับความต้องการ
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จนผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย ข้อนี้เห็นชัดจากเหตุผลปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น และความขาดแคลนของวัตถุดิบต่างๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จนต้องขึ้นราคา
สงคราม น้ำมันแพง ซ้ำร้อยดันเงินเฟ้อไทยพุ่ง
จากสาเหตุข้างต้น ที่ส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของคนไทยนั้น ทำให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปสาเหตุเงินเฟ้อไทยล่าสุด ในส่วนเงินเฟ้อทั่วไป ที่รวมราคาพลังงานและอาหาร ว่าเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 7.10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรายละเอียดราคาที่ปรับขึ้นดังนี้
...
1.กลุ่มพลังงาน ราคาสูงขึ้น 37.24 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็น
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 35.89 เปอร์เซ็นต์
- ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43 เปอร์เซ็นต์ ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565
- ราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือน เม.ย.ไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2565
2.กลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ สูงขึ้น 6.18 เปอร์เซ็นต์ เพราะราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ ประเภทของใช้ส่วนตัว เช่น แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน สินค้าเกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คือไม่รวมราคาอาหารและพลังงานนั้น อยู่ที่ 2.28 เปอร์เซ็นต์
แต่ข่าวดียังมีเล็กน้อย คือมีสินค้าที่ราคาลดลง เช่น กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.81 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มการศึกษา ลดลง 0.65 เปอร์เซ็นต์ ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น กลุ่มเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.06 เปอร์เซ็นต์
จับตาเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.พุ่งต่อ
ดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อขาขึ้นยังไม่จบแค่เดือน พ.ค. แต่เดือน มิ.ย. 2565 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วยสาเหตุเดิมที่ต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. รวมไปถึงเพราะอุปสงค์ หรือความต้องการในการบริโภค อุปโภค ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก หลังจากที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่วนปี 2565 ตลอดทั้งปี คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 4.5 เปอร์เซ็นต์
ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูง
เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงไม่หยุด จะส่งกระทบต่อคนทุกกลุ่ม ที่เห็นชัดคือ หากเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็จะมีเงินไม่พอในการซื้ออาหาร และข้าวของที่จำเป็น เพราะเงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง จนกระทบต่อธุรกิจที่ค้าขาย จะขายของได้น้อยลงไปด้วย แน่นอนว่าเมื่อโรงงานผลิตขายได้น้อยลง อาจมีการปลดคนงาน
...
ส่วนคนมีเงิน หากฝากเงินเพื่อหวังได้ดอกเบี้ยไว้มาใช้จ่าย แม้ได้ดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่ก็ยังน้อยกว่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูง หลายคนจึงเลือกถอนเงินฝากออกมาลงทุน ที่อาจมีความเสี่ยงขาดทุนได้
ย้อนดู 48 ปี เงินเฟ้อไทยพุ่ง หนีไม่พ้นเหตุสงคราม
หากย้อนดูเงินเฟ้อทั่วไปของไทย พบว่า ในปี 2517 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยทะลุไปถึง 24.3 เปอร์เซ็นต์ เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น จากเหตุการณ์สงครามอิสราเอล กับกลุ่มประเทศอาหรับ
ปีที่เงินเฟ้อที่สูงรองลงมาคือปี 2523 เพราะสงครามอิรักกับอิหร่าน จากนั้นอัตราเงินเฟ้อลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2541 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนักได้ดันเงินเฟ้อทั่วไปของไทยไปสูงถึง 7.89 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นมีการคุมเงินเฟ้อให้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มาได้ จนปี 2551 ทะลุไป 5.51 เปอร์เซ็นต์ และกลับมาคุมได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์มาตลอดอีกหลายปี จนล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 ทะลุไปถึง 7.10 เปอร์เซ็นต์ในที่สุด เพราะสงครามรัสเซียถล่มยูเครนเป็นสาเหตุหลักในขณะนี้.