เป็นเรื่องดราม่าข้ามประเทศ สำหรับ กรณี “ห้องเสื้อ” แห่งหนึ่งในประเทศกัมพูชา ได้นำงานออกแบบ ศิลปะภาพ “ราหูอมจันทร์” ของศิลปินไทย ไปตัดชุดให้ผู้ประกวดนางงามจักรวาลกัมพูชา 2022 หรือ Miss Universe Cambodia 2022) ซึ่งชุดที่มีปัญหาดังกล่าว เป็นชุดเดรสสีดำ สกรีนลายราหูอมจันทร์ สีทอง ซึ่งกลายเป็นลายที่โดดเด่นบนชุด

ในเวลาต่อมา ห้องเสื้อที่ออกแบบชุดดังกล่าวก็ได้ตอบคอมเมนต์อ้างว่า ไม่ได้นำรูปดังกล่าวมาจากประเทศไทย แต่นำมาจาก Pinterest จึงไม่สามารถแจ้งเจ้าของผลงานได้”

การชี้แจงดังกล่าว ส่งให้เพจ “โบราณนานมา” เรียกร้องไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้ามาตรวจสอบ และส่งหนังสือไปยังกรมลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (Department of Copyright and Related Rights) กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรมประเทศกัมพูชา และส่งหลักฐานที่แสดงถึงการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินคนไทย พร้อมแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการกระทำของห้องเสื้อกัมพูชาที่นำผลงานของศิลปินคนไทยไปใช้บนชุดผู้เข้าประกวด Miss Universe ของกัมพูชา ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และสร้างความเสียหายให้กับผู้สร้างสรรค์ชาวไทย โดยได้เรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชายุติการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายฐิติ เกตุธรรม ศิลปินอิสระ ที่ทำงานด้านประติมากรรมไม้แกะสลัก รวมถึงมีงานออกแบบศิลปะต่างๆ ตามจังหวะและโอกาสชีวิตมาหลายสิบปี เล่าว่า จากการติดตามความคืบหน้าล่าสุด ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ได้ส่ง จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา เพื่อทักท้วงเรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้ ก็ยังจะส่งจดหมายอย่างเป็นทางการตามไปอีกครั้ง ซึ่งก็คงต้องรอเรื่องความคืบหน้าต่อไป

ศิลปินอิสระ เผยเบื้องหลังการทำงาน ออกแบบ “ราหูอมจันทร์” ชุดนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากวัดแห่งหนึ่งในประเทศลาว โดยตั้งใจจะเอาไปประกอบ ทำเหรียญ “ท้าวเวสสุวรรณ” ในความตั้งใจเดิมคือ อยากให้งานออกมามีลักษณะเหมือนกราฟิก ยุคใหม่หน่อย เพื่อไม่ให้ซ้ำกับลายที่คนอื่นๆ ออกแบบ จึงร่างออกมาเป็นแบบนี้ จะได้ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นงานที่คิดขึ้นใหม่ทั้งหมด

“เมื่อทำเสร็จ งานของเรา ก็มีไปเผยแพร่ 2 ที่ ที่แรกคือในเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่วนอีก 1 ที่ คือ ใน Pinterest ซึ่งความตั้งใจในการใช้ Pinterest เพื่อต้องการนำภาพไปเก็บไว้ เผื่อวันใดวันหนี่งเฟซบุ๊กมีปัญหา จะได้เอางานออกมาจาก Pinterest ได้”

นายฐิติ ยอมรับว่า ไม่รู้ว่าภาพของตนสามารถไปเผยแพร่ที่อื่นได้ด้วย ซึ่งก็มีเพื่อนๆ เข้ามาเตือน ว่าห้องเสื้อกัมพูชา มาหยิบภาพของเราไป ซึ่งเพื่อนก็ถามว่าเขามาติดต่อขออนุญาตหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้ขออนุญาต จึงได้ทำการทักท้วงไปยังเพจนางงามดังกล่าว แต่กลายเป็นว่า เรากลับถูก “ทัวร์” คนกัมพูชา มาลง มาด่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว

“โดยปกติแล้ว เวลาผมเอางานโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็จะมีน้องๆ นักศึกษาบางคนมาขอใช้ ซึ่งเราก็อนุญาต ไม่ได้หวงงาน และไม่เคยเรียกค่าลิขสิทธิ์เลย”

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเคสนี้ เขาเอางานเราไปทำในเชิงพาณิชย์ เมื่อทักท้วงไป เขากลับเอาทัวร์มาลงเรา เหมือนกับเขาไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้รู้สึกผิด หรือ สำนึกแต่อย่างใด เรียกว่า อยากเอาภาพใครมาใช้ก็ได้...

“ลึกๆ หากมีโอกาสเป็นไปได้ คือ อยากสร้างบรรทัดฐานเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ของไทย ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเท่าที่ทราบคือ เพื่อนๆ ศิลปินหลายคนก็โดนเอาผลงานไปใช้ โดยไม่ขอลิขสิทธิ์ แล้วเอาไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แต่...เคสต่างๆ ไม่เป็นข่าว แตกต่างจากครั้งนี้ ที่ผลงานเราไปอยู่ในเวทีการประกวดนางงาม เวทีใหญ่ระดับโลก อยากที่จะปกป้องผลงานลิขสิทธิ์ของไทย”

...

เมื่อถามว่า ต้องการเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ อะไรหรือไม่ นายฐิติ ยอมรับว่ายังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ใจเราตอนนี้คือ ไม่อยากให้เขานำรูปเราไปใช้เลย อยากให้ทำงานสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง

“ผมว่าศิลปินทุกคนอยากจะสร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง เป็นที่ชื่นชมของสังคม ในฐานะคนที่สร้างสรรค์งาน มันมีต้นทุน ไม่ใช่จู่ๆ แล้วคิดได้ ทีเดียวจบ อย่างงาน “ราหูอมจันทร์” ครั้งนี้ เราใช้เวลาคิดและเขียนถึง 2 วัน แต่หมดกระดาษที่ใช้ร่างเกือบ 20 แผ่น เขียนแล้วทิ้ง เขียนแล้วทิ้ง เราต้องการออกแบบให้ดูลงตัวที่สุด ทั้งความคิดและกระดาษ ล้วนเป็นต้นทุน”

สิ่งที่อยากจะทิ้งท้าย คือ อยากให้เข้าใจเรื่อง “ลิขสิทธิ์” กับ “วัฒนธรรมร่วม” ไม่เหมือนกัน การที่อ้างว่า “วัฒนธรรมกัมพูชา” มีมาก่อน “สยาม” 1,200 ปี เขาบอกว่า ทุกอย่างที่ประเทศไทยมี เหมือนไป “ขโมย” มา ซึ่งผมก็งงๆ กับชุดความคิดนี้ ดังนั้น อยากให้เข้าใจและแยกแยะเรื่องเหล่านี้ด้วย

สำหรับ การเปรียบเทียบกฎหมายลิขสิทธิ์ จากวารสารนิติ รัฐกิจและสังคมศาสตร์ ในหัวข้อ “วิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายลิขสิทธิ์ของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบต่อบริบทท้องถิ่น ของ สว่าง กันศรีเวียง ระบุว่า ระบบการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว และจีน โดยแต่ละประเทศแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ใช้กฎหมายแบบ Civil law, เมียนมา ใช้ Common law ส่วน เวียดนาม ลาว และจีน ใช้ Socialist

แต่ในด้านการคุ้มครองลิขสิทธิ์ พบว่า กลุ่มประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยกเว้นประเทศลาว (ที่ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์) มีการคุ้มครองเหมือนกัน คือ ให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนลิขสิทธิ์ อีกทั้งยังมีระบบบันทึกข้อมูลลิขสิทธิ์ ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ทรงสิทธิ์ในการพิสูจน์ลิขสิทธิ์หากมีการละเมิดเกิดขึ้น

...

ส่วนข้อแตกต่าง คือ ระบบการคุ้มครองในประเทศเมียนมา คุ้มครองภายในประเทศเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ ยกเว้นลาว มีการคุ้มครองระหว่างประเทศด้วย...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ