1 มิถุนายนนี้ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในไทย และสำหรับผู้ประกอบการโลกออนไลน์ จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด หรือ Digital Marketing ให้เหมาะสมกับกรอบกฏหมาย โดยเฉพาะการเก็บข้อมูล รวมถึงรูปถ่ายของลูกค้า จึงต้องมีการทำความเข้าใจ เพื่อปรับแนวทางทำงานหลังจากนี้
แนวทาง PDPA ผู้ประกอบการต้องรู้
“รศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน” คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี และรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA เป็นมาตรฐานคุ้มครองผู้ใช้งาน ไม่ให้ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ประโยชน์ ในยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เรียกว่า GDPR ออกมาควบคุมก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดอีคอมเมิร์ซ มีการเติบโตรวดเร็ว ทำให้มีการแอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ไปใช้ประโยชน์เพื่อแสวงหากำไร
โดยเฉพาะในไทย ก่อนหน้านี้ บริษัทอีคอมเมิร์ซ ต่างชาติ สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้ เพราะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง แต่หลังจากนี้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประกอบการไทย จะต้องมีความเข้าใจ ในขอบเขตการทำการตลาด เพื่อไม่ให้ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
...
- ต้องระบุวัตถุประสงค์ชัดเจน หากต้องการนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ไปใช้ประโยชน์ในด้านใด เพราะถ้าไม่ระบุชัดเจน ลูกค้าสามารถร้องเรียน ถ้าพบว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตน ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
- การโทรศัพท์เชิญชวนเพื่อขายสินค้า ไม่สามารถทำได้ หากไม่ได้ขออนุญาตลูกค้า ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นขอเบอร์โทรศัพท์จากลูกค้า ถ้ามีความต้องการจะโทรศัพท์ เพื่อติดต่อไปในภายหลัง
- การถ่ายรูปลูกค้า เพื่อนำไปโปรโมต หรือประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะ จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า และต้องบอกวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่อย่างชัดเจน
- การถ่ายภาพเพื่อนำไปโปรโมตสินค้า ผู้ประกอบการต้องระวังเรื่องมุมกล้อง ไม่ควรถ่ายติดผู้อื่นที่ไม่ได้ขออนุญาต เพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่จะตามมา
- สำหรับชื่อ นามสกุล ของลูกค้า ต้องมีระบบการจัดเก็บเป็นความลับ ไม่ให้มีการรั่วไหล เพราะผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องได้ หากพบว่ามีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ต่อ
ข้อมูลชื่อ-เบอร์โทรฯ ต้องระวัง
“ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร” เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า การนำกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มาใช้ จะต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าผู้ประกอบการจะสามารถปรับตัวได้ทัน เนื่องจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจจะยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ในการปรับปรุงการทำงาน เห็นได้จากสิงคโปร์ มีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันยังต้องมีการผ่อนผัน ให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม
สำหรับผู้ประกอบการในโลกออนไลน์ ควรมีแนวทางทำการตลาด เพื่อไม่ให้ละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA
- ผู้ประกอบการ สามารถยิงโฆษณาได้ปกติ เมื่อลูกค้าติดต่อซื้อสินค้า สามารถขอข้อมูลผ่านกล่องข้อความได้ แต่ต้องมีการป้องกันไม่ให้ข้อมูล ถูกบุคคลอื่น นำข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์
- กรณีที่ผู้ประกอบการมีหลายเพจ ไม่สามารถนำข้อมูลของลูกค้าจากเพจหนึ่ง ไปใช้ประโยชน์ในอีกเพจ ที่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของได้ เนื่องจากลูกค้ายินยอมให้ข้อมูลเฉพาะเพจ ที่ทำการซื้อสินค้าเท่านั้น
- ในการซื้อสินค้า การขอข้อมูลที่อยู่ เพื่อจัดส่งสามารถทำได้ แต่ลูกค้าสามารถปฏิเสธไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ ในการจัดส่งสินค้าได้
- เบื้องต้นผู้ประกอบการไม่ควรกังวล กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มากจนเกินไป แต่ควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้มีรูปแบบที่ชัดเจน และไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า.
...