ถึงวันนี้ (27 พ.ค.65) ยังไม่พบการระบาด โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ในประเทศไทย แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้ใจ และต้องเฝ้าระวัง เพราะจนถึงบัดนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ยืนยันข้อมูลแล้ว และพบว่า มีคนติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว 221 คน จาก 19 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค.)

ในขณะที่ทางการไทยเอง โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็เตือนไปถึงประชาชนว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ถึงแม้ “ฝีดาษลิง” เป็นโรคติดต่อจาก “สัตว์สู่คน” และติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่การติดเชื้อโรคนี้ก็ไม่ง่าย

“คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย” นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

อย่างไรก็ตาม “ลิง” กับ “ประเทศไทย” ถือเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน และในบางพื้นที่ คนกับลิงก็มีความขัดแย้ง ในเรื่องการอยู่อาศัย ซึ่ง จากงานวิจัยของ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่มีการเก็บข้อมูลในปี 2561 โดยการใช้วิธีสอบถามไปยัง อบต. ทุกแห่ง พบว่า ทั่วไทย มีพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างลิงกับคน จำนวน 222 แห่ง แต่ที่มีการตรวจนับ นับประชากรลิง 173 แห่ง พบว่า มีประชากรลิงที่อาศัยในพื้นที่ขัดแย้ง จำนวน 53,068 ตัว

...

ซึ่ง 5 อันดับ ที่ลิงอาศัยในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับ คน ได้แก่
อันดับ 1 เขาหน่อเขาแก้ว นครสวรรค์ ประชากรลิง 5,813 ตัว
อันดับ 2 ถ้ำจอมพล ราชบุรี ประชากรลิง 2,864 ตัว
อันดับ 3 สวนรุกชาติเขาฉกรรจ์ สระแก้ว ประชากรลิง 1,798 ตัว
อันดับ 4 พระปรางค์สามยอด ลพบุรี ประชากรลิง 1,533 ตัว
อันดับ 5 สำนักสงฆ์วัดระฆังทอง ระยอง ประชากรลิง 1,276 ตัว

ส่วนประเภทของลิง ที่อาศัยในพื้นที่ ที่อาจจะเกิดความขัดแย้งกับคน 5 ชนิด ได้แก่
ลิงแสม : เพศผู้ 15,895 ตัว เพศเมีย 16,521 ไม่ทราบเพศ 12,374 ตัว เกาะอก 4,165 รวม 48,955 ตัว
ลิงกัง : เพศผู้ 99 ตัว เพศเมีย 161 ตัว ไม่ทราบเพศ 608 ตัว เกาะอก 69 ตัว รวม 956 ตัว
ลิงวอก : เพศผู้ 115 ตัว เพศเมีย 170 ตัว ไม่ทราบเพศ 887 ตัว เกาะอก 134 รวม 1,306 ตัว
ลิงไอ้เงี๊ยะ : เพศผู้ 104 ตัว เพศเมีย 68 ตัว ไม่ทราบเพศ 4 เกาะอก 39 รวม 215 ตัว
ลิงเสน : เพศผู้ 576 ตัว เพศเมีย 704 ตัว ไม่ทราบเพศ 136 ตัว เกาะอก 220 ตัว รวม 1,636 รวมลิงทั้ง 5 ชนิด 53,068 ตัว

สำหรับจังหวัดที่มีลิงมากที่สุดคือ ลพบุรี กระจายอยู่ใน 25 พื้นที่ มีจำนวนประชากรลิง รวมกัน 7,865 ตัว โดย 3 อันดับแรก อยู่ที่ พระปรางค์สามยอด จำนวน 1,533 ตัว วัดเขาสมโภชน์ 1,243 ตัว และเขาดอนดึง 705 ตัว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.สุดารัตน์ ลิจุติภูมิ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี กล่าวถึงแผนรับมือว่า “ฝีดาษลิง” จากข่าวดังกล่าว และพบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศ ก็อาจจะส่งผลต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาเที่ยว จ.ลพบุรี เพราะ ลพบุรี คือ เมืองที่มีประชากรลิงจำนวนมาก และหลายปีที่ผ่านมา ก็ทราบว่ามีจำนวนประชากรลิงเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ ศาลพระกาฬ และพระปรางค์สามยอด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่อยู่กับลิง และประชาชน

“แต่จากข้อมูลหลักฐาน เราพบไม่พบเชื้อ “ฝีดาษลิง” ในลิงที่อาศัยในจังหวัดลพบุรี แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพื่อความมั่นใจของประชาชน ทางสาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด รวมถึง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการสุ่มตรวจเลือดในลิง เพื่อหาเชื้อโรคฝีดาษ เพื่อเป็นการยืนยันในห้องปฏิบัติการให้แน่ชัด โดยจะเริ่มต้นสุ่มตรวจในสัปดาห์หน้า”

ดร.สุดารัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจาก “ฝีดาษลิง” แล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังสำหรับลิง คือ มาลาเรีย สายพันธุ์โนวไซ ซึ่งเป็นสิ่งที่ที่กรมควบคุมโรค ก.สาธารณสุข ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่... สำหรับลิง ในลพบุรี นั้น ส่วนมากไม่ได้อาศัยในเขตป่า และจากการสุ่มตรวจลิงในพื้นที่ก็ยังไม่พบการติดเชื้อ “มาลาเรีย”

**หมายเหตุ** มาลาเรียโนวไซ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Plasmodium knowlesi ซึ่งเชื้อนี้มีอยู่ในลิง แต่สามารถติดต่อและทำให้เกิดโรคในคนได้ เป็นไข้มาลาเรียที่ติดต่อจากลิงสู่คน “ผ่านยุงก้นปล่องที่ไปกัดลิงที่มีเชื้อ แล้วมากัดคน” ซึ่งมาลาเรียชนิดโนวไซสามารถแบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็วกว่าเชื้อมาลาเรียชนิดอื่นๆ ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564-31 มี.ค. 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิด “โนวไซ” แล้ว 70 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง สงขลา และตราด ที่มาข้อมูล : กรมควบคุมโรค **

...

สำหรับ “ฝีดาษลิง” เป็นพาหะนำโรค จากลิงสู่คน แต่ไม่ได้แปลว่า เชื้อโรคจากลิงจะแพร่สู่คนได้อย่างง่ายดายเสมอไป ซึ่งการติดเชื้อโรคจากลิง นั้น อาจจะติดจากสารคัดหลั่ง หรือ ผ่านเข้าทางบาดแผล กินซากสัตว์ติดเชื้อ ซึ่งช่องทางการติดเชื้อไม่ได้ง่าย จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชน จะได้ไม่ตื่นตระหนก

“ที่ผ่านมา มีประชาชน โทรเข้ามาสอบถามวันละหลายๆ สาย ซึ่ง คำถามที่ถามกันคือ “ลิงลพบุรี” มีติดเชื้อฝีดาษหรือไม่ เราระมัดระวังป้องกันตัวอย่างไร โรคจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็ได้ทำข้อมูลเผยแพร่กับประชาชนให้เข้าใจด้วย”

สำหรับการตรวจเชื้อโรคในลิงนั้น ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะแต่ละครั้งจะมีความร่วมมือจากปศุสัตว์จังหวัด โดยเราจะอาศัยการสุ่มตรวจโรคในช่วงการทำหมันลิง ซึ่งจำเป็นต้องวางยาสลบ ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มีการสุ่มตรวจบ่อยนัก โดยต้องสุ่มตรวจในช่วงที่มีโรคใดโรคหนึ่งกำลังแพร่ระบาด ซึ่งสิ่งที่ระมัดระวังมากที่สุด คือ โรคสัตว์สู่คน แต่หากไม่มีโรคดังกล่าว ก็มีการตรวจในส่วนการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่สัตว์ด้วย โดยกรมปศุสัตว์ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า

...

“สิ่งหนึ่งที่ทำเสมอ คือ การเฝ้าระวัง ซึ่งจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับหลายๆ หน่วยงาน แต่เมื่อใดก็ตาม หากมีการระบาดในวงกว้าง เกิดการเจ็บป่วย หรือ มีผู้เสียชีวิต ทุกหน่วยงาน จะต้องร่วมมือในการแก้ปัญหา” ดร.สุดารัตน์ ลิจุติภูมิ  กล่าว 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Chonticha Pinijrob

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ