• โควิดไม่ทันหาย โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือฝีดาษวานร ได้เข้ามาซ้ำเติม ทำให้ทั่วโลกวิตกกังวล ตัวเลขเมื่อวันที่ 25 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อ 309 คน ใน 22 ประเทศ ส่วนใหญ่ในยุโรป ขณะที่ไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ยังไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย

  • องค์การอนามัยโลก คาดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ผู้ติดเชื้อที่พบส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จากสัตว์ตระกูลฟันแทะ พวกหนู กระรอกดิน และติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการหายใจ ผิวหนัง เลือด หรือสารคัดหลั่ง มีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ เกิดผื่นบนผิวหนัง จนกลายเป็นแผลหนอง และตกสะเก็ดในที่สุด

  • ฝีดาษลิง เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ตระกูลเดียวกับฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ ไม่ใช่โรคใหม่ พบครั้งแรกเมื่อปี 2501 ในลิงห้องทดลอง จึงถูกตั้งชื่อว่าไวรัสฝีดาษลิง และปี 2513 ติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกในคองโก ก่อนมีการระบาดนานๆ ครั้งในแอฟริกา จากนั้นปี 2546 มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ จากการสัมผัสใกล้ชิดกับแพรรีด็อก หรือกระรอกดิน

...

แม้ ฝีดาษลิง ที่ติดในมนุษย์ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไม่ได้ติดจากลิง แต่ขณะนี้ได้เกิดความเข้าใจผิดๆ ส่งผลต่อการอยู่อาศัยของลิงในประเทศไทย เพราะถูกคนบางส่วนรังเกียจ กลัวติดฝีดาษลิง และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ให้ลิงตกเป็นจำเลยอีกต่อไป

มาฟังจากปากของ "สัตวแพทย์หญิงจุฑามาศ สุพะนาม" หรือ หมอเตย ผู้อุทิศตนคอยช่วยเหลือดูแลลิง ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี มานานกว่า 20 ปี ได้เล่าว่า จากข่าวการระบาดของฝีดาษลิง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกหวั่นไหว มีการไล่ต้อนลิงที่มาเกาะหน้าต่างตามที่อยู่อาศัย ได้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อลิงที่อยู่คู่กับลพบุรีมานาน ทั้งๆ ที่ลิงไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อนี้ 100% แต่มาจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ ไม่ได้เกิดจากลิง

“อยากบอกว่าลิงไม่ใช่สัตว์ที่เป็นสาเหตุของเชื้อโรคกลุ่มนี้ อย่าโทษลิง และการพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิง อาจถูกหนูกัด หรือกระต่ายที่ปนเปื้อนเชื้อนี้กัด เลยสรุปกันไปก่อนและตั้งชื่อฝีดาษลิง และไทยเคยเกิดโรคฝีดาษ หรือโรคห่า มานานแล้วตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนมาสมัยรัตนโกสินทร์ ระบาดหนักในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้หมอบรัดเลย์ หาวิธีด้วยการปลูกฝี จนโรคระบาดค่อยๆ ลดลงมา และคนไทยที่เกิดก่อนปี 2517 เกือบทุกคนต้องปลูกฝี”

สิ่งที่กังวลอาจเกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิงในไทย จากกลุ่มชายรักชายที่มาไทย เพราะการเปิดประเทศ มากกว่า และธุรกิจนำเข้าสัตว์ป่ามาจากแอฟริกา ถูกต้องสงสัยมากสุด ขึ้นอยู่กับกรมปศุสัตว์ จะเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวดและคัดกรองอย่างไร เพราะลิงในลพบุรี จากการดูแลมาโดยตลอดไม่พบโรคฝีดาษลิง ไม่มีลิงตัวใดมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคนี้ ไม่อยากให้คนแตกตื่น หรือตีโพยตีพาย แต่ควรคุมเข้มตั้งด่านปราบปรามคนนำสัตว์แปลกเข้ามาไทย จะดีกว่า

หรือแม้แต่โรคอีโบลาในอดีต ยังไม่เคยตรวจพบในลิง อย่าไปสงสัยลิงแสมในลพบุรี หรือลิงในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ไม่พบการระบาดของฝีดาษลิง ทั้งนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี หากลิงป่วยจะถูกส่งมารักษาที่ลพบุรีทั้งหมด พร้อมกับการรายงานไปยังกระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ แต่ที่ผ่านมามีแต่การรักษาลิงถูกรถชน ถูกรถไฟชน และลิงบาดเจ็บเพราะชกต่อยกันเอง

...

“อย่าให้ความผิดตรงนี้ไปอยู่ที่ลิงเลย เพราะแทบทุกวันนี้ลิงก็ใช้ชีวิตลำบาก ต้องไปอาศัยตามตึกเพื่อหลบแดด และขณะนี้หลายตึกทยอยขึงลวด ไม่ให้ลิงเข้าไปทำลายทรัพย์สิน แต่พอเกิดฝีดาษลิง จนลิงเดือดร้อนหนัก กลายเป็นจำเลยไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทย ทำให้ลิงไม่มีที่นอนที่กิน และภาครัฐของไทย ไม่เคยสร้างที่อยู่พาลิงเข้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย มีอาหารและน้ำให้ ปล่อยให้ทุกวันนี้เป็นลิงเร่ร่อน บางตัวโชคร้ายถูกรถชนอัดกำแพง อยากให้มองลิงเป็นสัตว์น่ารัก ได้รับความเมตตา ไม่อยากให้ลิงถูกมองเป็นผู้ร้าย”

ที่ผ่านมา มีการสื่อสาร พยายามบอกคนในประเทศว่า ฝีดาษลิง ไม่ได้เกิดจากลิง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ออกมาย้ำบอกว่า ลิงอาจเป็นผู้ป่วยจากการถูกสัตว์กัดแทะมากัด และโรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ สามารถรับมือได้ อย่าวิตกกังวล อยากฝากไปถึงกรมปศุสัตว์ ให้เข้มงวดในเรื่องการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่า


ปัจจุบันสภาพการกินอยู่ของลิงลพบุรี ยังมีชาวบ้านนำอาหารพวกเศษผักผลไม้ และอาหารเม็ดมาให้ ไม่ได้ลดลง แต่เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาคงจะเข้าใจ แต่อาจระมัดระวังมากขึ้น ยกเว้นกลุ่มคนที่ไม่รักลิง จะรังเกียจอยู่ตลอด ไม่ว่าลิงจะทำตัวน่ารักแค่ไหน คงจะฝืนความรู้สึกกันไม่ได้

...

และด้วยประชากรลิงที่เพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 5-6 มิ.ย.นี้ จะเริ่มทำหมันลิงอีก 300 ตัว จากจำนวนทั้งหมด 3 พันกว่าตัว เนื่องจากลิงแพร่พันธุ์เร็วมาก และลิงตัวเมีย ไม่สามารถจับได้ง่ายในการล่อเข้ากรง อีกทั้งการทำหมันตัวเมียต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ประชากรลิงในลพบุรี มีเพิ่มขึ้นไม่หยุด และต้องตกเป็นผู้ร้ายโรคฝีดาษลิง จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจ เปลี่ยนความคิดตรงนี้.

ผู้เขียน : ปูรณิมา