เป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ชนะอย่างขาดลอย ด้วยคะแนนเสียง 1.3 ล้านเสียง ครองตำแหน่งผู้ว่าฯ คนที่ 17 ท่ามกลางเสียงยินดี แต่เบื้องหลังชัยชนะ หลายครั้งระหว่างหาเสียง จะเห็นการแสดงออกทางภาษามือ และวิสัยทัศน์นโยบายเกี่ยวกับผู้พิการ ภายใต้รอยยิ้มอันแข็งแกร่ง ที่มีบางช่วงชีวิตต้องเสียน้ำตา จนทำให้เปลี่ยนมุมมองความคิด หลังรู้ว่า “ลูกชาย” มีภาวะหูหนวก สิ่งนี้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ก่อนทุกคนได้เห็นชัยชนะอันหอมหวานในวันนี้

บนเส้นทางชีวิตของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คนที่ 17 ภาพการวิ่งทุกเช้า กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ซ้อนทับด้วยความหมายที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เคยให้สัมภาษณ์ว่า การออกวิ่งทุกเช้าวันละ 13 กิโลเมตร เพราะต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่ออยู่ดูแลลูกชายให้นานที่สุด เพราะลูกชายผม “หูหนวก”

สิ่งนี้ทำให้คนเป็นพ่อหัวใจแทบสลาย น้ำตาที่ไหลออกมาแทนคำตอบทุกสิ่ง จากคำบอกของ "ชัชชาติ" เคยสัมภาษณ์กับ “เพจมนุษย์กรุงเทพฯ” ว่า ช่วงที่ลูกชายอายุ 1 ขวบ ร่างกายแข็งแรงปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่พอเรียก กลับไม่หัน เมื่อไปตรวจกับแพทย์หลายท่านยืนยันตรงกันว่า “หูหนวก” หัวอกคนเป็นพ่อจึงพยายามทำทุกทาง ตั้งแต่เปิดเพลงใส่หูฟังให้ลูกได้ยินเวลาหลับ เพื่อกระตุ้นประสาทหู ไปจนถึงบนบานศาลกล่าวไปทั่วสารทิศ แต่ความพยายามเป็นเพียงภาพฝันหลอกตัวเอง

...

ทุกสิ่งอย่างไม่มีวันเปลี่ยนได้ หากไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ทำให้ชัชชาติเปลี่ยนตัวเองด้วยการทำความเข้าใจกับภาวะหูหนวก ผ่านหนังสือและภาษามือ จนค้นพบว่าเด็กที่มีภาวะนี้ หากไม่มีการฝึกใช้ภาษามือเพื่อสื่อสาร โลกของพวกเขาจะหดแคบลง แต่ในอีกมุมหนึ่ง การผ่าตัดประสาทหูเทียม เป็นอีกทางออกที่น่าสนใจ แต่มีเด็กบางส่วนทำแล้ว กลับมาพูดไม่ได้

นั่นจึงเป็นทางแยกสำคัญ ที่หัวอกพ่อต้องเลือกเดิน การตัดสินใจผ่าตัดประสาทหูเทียม ความยากไม่ใช่แค่การผ่าตัด แต่หลังจากนั้นคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจการใช้เครื่องมือเพื่อให้คนไข้พักฟื้น และเครื่องมือที่ฝังไว้ในร่างกายทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โรงพยาบาลในออสเตรเลียจึงเป็นเป้าหมายของการผ่าตัดครั้งนี้

การตัดสินใจสำคัญ เมื่อมาถึงเขาได้ใช้ความพยายามทั้งหมดที่มี สอบให้ได้ทุนวิจัยของออสเตรเลีย ตามที่วางแผนไว้ เพื่อจะใช้ช่วงเวลาระหว่างว่างดูแลลูกชาย โดยหวังว่าลูกจะได้ยินเสียงพ่อชัดเจนสักครั้ง

ทุกอย่างเป็นไปตามแผน การผ่าตัดลุล่วงไปด้วยดี แต่ช่วงแรกลูกชายกลับไม่พูด ยิ่งทำให้พ่อเครียด แต่ก็ต้องฝึกการใช้เครื่องอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมง เพื่อกลับมาฝึกการได้ยินของลูกที่บ้าน จากความพยายาม ลูกชายก็ค่อยๆ เรียนรู้ ตอบสนองการได้ยิน จนตอนนี้เป็นเด็กหูหนวกไม่กี่คน ที่เรียนในโรงเรียนกับเด็กปกติได้

จากความผิดหวัง ภาพฝันของคนเป็นพ่อ วันนี้กลายเป็นแรงผลักดันสู่เก้าอี้ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ คนที่ 17 หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ การสร้างเครือข่าย การดูแลคนในครอบครัวที่พิการ ด้วยการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือ สนับสนุนเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อเกื้อหนุนให้กรุงเทพฯ ปลอดภัยกับผู้พิการ.