การชนะเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของ “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นความต้องการเปลี่ยนแปลงของคนกรุงเทพฯ แม้การหาเสียงโค้งสุดท้าย มีบางกลุ่มการเมืองยังใช้กลวิธีแบบเก่าคือ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เพื่อเรียกคะแนนเสียง แต่ความมุ่งมั่น การประกาศตัวเพื่อลงสมัครเป็นคนแรก ก็หักด่านทดสอบ จนถึงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. นี่จึงเป็นความท้าทาย ที่นักวิเคราะห์ ประเมินว่า การนั่งหัวโต๊ะครั้งนี้ เป็นการเดิมพันถึงอนาคตทางการเมือง
รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ด้วยความที่ชัชชาติ ออกมาประกาศตัวลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นคนแรก ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่น บุคลิกภาพของคนการเมือง ผ่านการแสดงออกทางภาษากาย การพูดที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมั่น บวกกับประสบการณ์ทำงาน ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และประวัติการศึกษา ทำให้ประชาชนเทคะแนนให้
การชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงถึงความต้องการนักบริหารรุ่นใหม่ เพราะชัชชาติ อายุแค่ 50 กลางๆ การลงสมัครเลือกตั้ง แบบอิสระก็เป็นอีกจุดเด่น ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจเลือก แม้จะเป็นจุดด้อย ที่ภาพลักษณ์อาจถูกผูกติดกับพรรคเพื่อไทย แต่ต้องพยายามสงวนท่าทีในการทำงาน เพื่อเลี่ยงกระแสโจมตีจากคนที่เห็นต่าง แต่โดยส่วนตัวยังมองว่า จะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
ในการทำงาน แม้ไม่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่ลงสมัครในนามพรรคการเมืองของตนเอง แต่ ส.ก. ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามการเมือง ไม่อาจสร้างปัญหาอะไรได้มากนัก เนื่องจากหลายคนกว่าจะชนะเลือกตั้งค่อนข้างสะบักสะบอม จึงต้องพยายามพยุงพาตัวเองให้รอดไปก่อน และด้วยภาวะผู้นำ จะทำให้คนที่เห็นต่าง หันมาทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น
...
สิ่งแรกที่ควรทำหลังชนะเลือกตั้ง ควรจะประกาศไทม์ไลน์การทำงานว่า เดือนแรก และตลอด 4 ปี จะทำอะไรที่เป็นรูปธรรม ให้เหมือนเป็นสัญญาประชาคม ที่ประชาชนรับรู้ร่วมกัน โดยนโยบายการทำงานช่วงแรก เริ่มจากโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินมาก แต่เน้นสานต่อจากผู้ว่าฯ คนก่อน เช่น แก้ปัญหาน้ำท่วมทันทีแบบเป็นรูปธรรม,แก้ปัญหาจราจร,ความปลอดภัยของคนกรุงเทพฯ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เมืองน่าอยู่
ด้วยความที่มีประสบการณ์ด้านคมนาคม น่าจะมีนโยบายการขอลดราคารถไฟฟ้า ภายใต้อำนาจการทำงานของกรุงเทพฯ และพัฒนาระบบขนส่งให้ดีขึ้น โดยต้องประสานกับหน่วยงาน ที่มาร่วมมือในการพัฒนาระบบ ให้การทำงานมีความคล่องตัว
สำหรับการเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพฯ อยากให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพราะที่ผ่านมาเกือบทุกผู้ว่าฯ ผู้ที่กำหนดนโยบาย ส่วนใหญ่เป็น ส.ก. ทั้งที่จริงควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยกันแก้ไข และเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
การชนะเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ของชัชชาติ ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงภาพการเมืองเวทีใหญ่ โดยเฉพาะคะแนนเสียงฝั่งรัฐบาล ที่ประชาชนเริ่มเบื่อหน่าย และอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการยอมรับคนรุ่นใหม่ ในเวทีการเมือง นี่จึงเป็นสัญญาณการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจได้เห็นนักการเมืองระดับผู้นำ ที่มีอายุน้อยได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากขึ้น
อนาคตสิ่งที่จะพิสูจน์เส้นทางการเมืองได้ ต้องมาจากการทำงานที่เป็นรูปธรรมของชัชชาติ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำงาน 4 ปี มีอะไรที่เป็นไปตามเป้าหมาย และต้องแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระบบราชการ.