จากประเด็นที่มีการดองใบสั่งมากถึง 50 ใบ โดยไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับ จนตำรวจทางหลวงต้องตามไปถึงบ้าน สะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎจราจรบนท้องถนน ที่ใบสั่งส่วนใหญ่ เป็นการกระทำความผิด ตรวจจับได้ผ่านกล้อง CCTV และส่งใบสั่งมาที่บ้าน แม้ก่อนหน้านั้นจะมีมาตรการ “งดออกป้ายภาษีประจำปี” ให้กับรถที่ไม่ยอมไปเสียค่าปรับ แต่ไม่นานมาตรการนี้ กลายเป็นช่องว่าง อาจก่อให้เกิดอันตรายบนท้องถนน
“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การเก็บสะสมใบสั่งโดยไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับ เป็นการกระทำผิดซ้ำแบบจงใจ ทำให้ผู้ที่ทำผิดได้ใจ และทำผิดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ที่ผ่านมามีการออกกฎให้ผู้ที่ไม่ยอมไปเสียค่าปรับ ไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ แต่พอผ่านไปการบังคับใช้มาตรการนี้กลับหย่อนยาน ขาดการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันของตำรวจและกรมการขนส่ง
การเก็บสะสมใบสั่งถึง 50 ใบ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไม่มีการทำโทษและบังคับใช้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากกฎหมายที่นำมาใช้บนท้องถนนประกอบด้วย กฎหมาย 2 ฉบับคือ 1.พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ตำรวจเป็นผู้บังคับใช้ ส่วน 2.พ.ร.บ.รถยนต์ ทางกรมการขนส่งฯ เป็นผู้บังคับใช้ แต่ทั้งสองหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้กระทำความผิดระหว่างกัน ทำให้มาตรการทำโทษไม่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง
ที่ผ่านมามีการลงนามข้อตกลงระหว่างกันของสองหน่วยงาน แต่พอมีการโยกย้ายตำแหน่ง โครงการนี้ไม่ถูกสานต่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า การเชื่อมต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้รถ มีขั้นตอนยุ่งยาก เสี่ยงต่อการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งที่จริงหน่วยงานที่ดูแลมีหน้าที่บังคับใช้และควบคุมอย่างเข้มงวด
...
สำหรับใบสั่งที่ผู้กระทำผิดไม่ไปจ่ายค่าปรับ ส่วนใหญ่เป็นการฝ่าไฟแดง, ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด โดยการทำความผิดจะได้จากกล้อง CCTV ที่จะส่งใบสั่งไปที่บ้าน ส่วนการตรวจจับด้วยการตั้งด่าน จะไม่มีปัญหานี้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกใบสั่งได้ทันที
การไม่มีการทำโทษผู้ที่ฝ่าฝืนจราจรอย่างเป็นระบบ จะส่งผลเสียในภาพรวม เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะประสบอุบัติเหตุและก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นบนท้องถนนเมื่อใด จากการวิจัยมีการยืนยันว่า อุบัติเหตุที่มีความเร็วแค่ 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
“พ.ต.อ.ศราวุธ จิตต์ระเบียบ” รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การบังคับใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต้องหยุดชะงัก แต่ขณะนี้หลังจากทุกอย่างคลี่คลาย ได้กำชับผู้ปฏิบัติงานให้มีความเข้มงวด และแก้ไขช่องว่างที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
จากสถิติการออกใบสั่ง พบว่า ปี 2562 มีใบสั่งกว่า 11 ล้านใบ มีการจ่ายค่าปรับแค่ 2 ล้านใบ และไม่จ่ายอีกกว่า 9 ล้านใบ แต่ในปี 2563 ข้อมูล 6 เดือนแรกพบว่า มีใบสั่ง 4.6 ล้านใบ มีจ่ายค่าปรับ 1.3 ล้านใบ และไม่จ่าย 3.3 ล้านใบ โดยมีแนวโน้มว่าคนไทยเริ่มหันมาจ่ายค่าปรับมากขึ้น เพราะการบังคับใช้กฎหมาย "งดออกป้ายภาษีประจำปี" หากไม่ชำระค่าปรับ แต่ไม่นานการบังคับใช้มาตรการนี้เริ่มหละหลวม จนกลายมาเป็นข่าวการสะสมใบสั่งมากถึง 50 ใบ.