กลายเป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเชียลมีเดีย กับกรณี สาวคนหนึ่งตกคอนโด จากชั้น 26 ทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด และร่างกายหลายส่วน ซึ่งหลังเกิดเหตุ ราว 5 นาทีก็มีหน่วยกู้ภัยมาถึงที่เกิดเหตุ กระทั่งต่อมา ก็มีหน่วยกู้ชีพ จากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ให้การช่วยเหลือ และพยายามประสานงานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งก็มีกระแสข่าวว่า โรงพยาบาลบางแห่งไม่รับตัวผู้ป่วย โดยอ้างว่าเครื่องมือไม่เพียงพอ กระทั่งใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ถึงจะประสานงานส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ

จากประเด็นที่เกิดขึ้น จึงเป็นคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน... ในเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อธิบายกรณีนี้ว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ไม่ได้นิ่งเฉย เราพยายามหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเหตุการณ์นี้มีปัญหาเรื่องการประสานงานในด้านข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้บาดเจ็บมีอาการระดับใด ซึ่งต่อมาก็มีการส่งทีมแพทย์ปฏิบัติการที่มีความเหมาะสมเข้าไปทำงานในจุดเกิดเหตุ หลังจากทีมแพทย์ ทีมนี้เข้าไปช่วยเหลืออาการเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องประสานงานไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อ

นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ โดยปกติ การนำตัวคนเจ็บส่งโรงพยาบาลนั้น ก็จะติดต่อ ศูนย์แจ้งเหตุและสั่งการในแต่ละจังหวัด ซึ่งใน กทม. ก็คือ ศูนย์เอราวัณ ซึ่งก็จะมีการพิจารณาว่า ณ จุดเกิดเหตุ มีโรงพยาบาลใดที่ศักยภาพพอที่จะรับผู้ป่วยไปรักษาต่อโดยพิจารณา

...

1. ศักยภาพโรงพยาบาลและอาการบาดเจ็บ
2. ระยะทางและระยะเวลาในการนำส่งโรงพยาบาล ตรงนี้มีความสำคัญกับผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บสาหัส เพราะหากส่งช้าอาจจะมีผลถึงชีวิต
3. ปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ คือ ในโรงพยาบาลที่ได้รับการติดต่อ มีความพร้อม ณ เวลานั้นๆ หรือไม่ ยกตัวอย่าง ห้องฉุกเฉิน ผ่าตัด มีคนไข้รออยู่ ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาด้วยเลือกโรงพยาบาลที่ 2 หรือ ที่ 3

“ปัญหาที่ควบคุมไม่ได้นี้ หากมีการประสานไป แต่พบว่าในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยหนาแน่นอยู่ ถึงนำตัวคนเจ็บมาส่งก็ไม่มีคนรักษาอยู่ดี ฉะนั้น ศูนย์เอราวัณ จึงต้องเลือกประสานไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ เรื่อยๆ จนได้มีการส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ”

คนป่วย อาการคงที่ ได้รักษาต่อเนื่องในห้อง ICU

รองเลขาฯ สพฉ. กล่าวว่า เวลานี้ผู้ป่วยที่ตกคอนโดฯ มีอาการคงที่ ได้รับการรักษาต่อเนื่องในห้อง ICU ในแผนกศัลยกรรมกระดูก หมอให้การรักษาต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ถือว่าล่าช้าไปหรือไม่ และมีผลกับขาที่ขาดหรือไม่ นาวาเอก นพ.พิสิทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากไม่ใช่แพทย์ผู้รักษา แต่ถ้ามองในมุมแพทย์ หากผู้ป่วยขาขาดจริง การต่อขาถือเป็นการยาก ยิ่งหากเป็นลักษณะแผลขาดแบบรุ่งริ่ง นี่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

เมื่อถามว่า ระยะเวลาที่ล่าช้ากว่า 2 ชั่วโมง มีผลแค่ไหน หมอพิสิทธิ์ บอกว่า หากเป็นแผลแบบโดนมีดตัดนิ้วขาด ทางการแพทย์เรียกว่า cut wound (ลักษณะบาดแผลแม้มีขอบเรียบ) ปัจจัยการต่ออวัยวะได้ ทีมกู้ชีพที่ไปถึงต้องมีการเก็บรักษาเป็นอย่างถูกวิธี และต้องไปส่งยังสถานที่พยาบาลที่ศัลยแพทย์เฉพาะทาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เชื่อว่าการรักษาขาดังกล่าว อาจจะเป็นประเด็นรอง แต่ประเด็นหลัก คือ การต้องรักษาชีวิต เพราะต้องพยุงการรักษาระดับอวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ ปอด เพื่อให้อยู่ในระดับรักษาแรงดันเลือดได้

“ทีมที่ลงพื้นที่ ถือเป็นทีมแพทย์กู้ชีพขั้นสูง ซึ่งตามประกาศของ สพฉ. บุคลากรที่อยู่ในทีม อย่างน้อยต้องเป็นพยาบาลวิชาชีพที่จบการแพทย์ฉุกเฉินโดยตรง หรือ นักฉุกเฉินการแพทย์ (paramedic) หรือ เป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งจากสเปกดังกล่าวเชื่อว่า ทีมกู้ชีพที่เข้าไปจะมีองค์ความรู้เพียงพอในการช่วยเหลือชีวิต หรือเก็บรักษาอวัยวะอย่างถูกวิธี และจากเวลาที่ปรากฏ ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยลบ 100% ในการต่ออวัยวะ แต่กรณีที่เกิดขึ้น การขาดของขา น่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการต่ออวัยวะที่ส่งผลให้ทำไม่ได้”

รถกู้ชีพกู้ภัย ต้องถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที แต่ส่งโรงพยาบาลในกี่นาที...ตอบได้ยาก

ทีมข่าวถามถึงกรอบระยะเวลาการกู้ชีพกู้ภัย และการส่งตัวให้ถึงโรงพยาบาล มีกรอบระยะเวลาหรือไม่ รองเลขาฯ สพฉ. กล่าวว่า กรอบดูแลรักษานอกโรงพยาบาล สพฉ. มีข้อกำหนดคือ อยากให้หน่วยกู้ชีพ เข้าไปตอบสนองผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุ ภายใน 8 นาที

“แต่ในสเตปต่อไป คือ การนำส่งโรงพยาบาล มีปัจจัยต่างๆ เกี่ยวข้องเยอะ ถามว่า ตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตนั้น ตอบได้ยาก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงการเจ็บป่วย และศักยภาพของทีมที่เข้าไปด้วย ซึ่งบางครั้งระดับทีมกู้ชีพที่เข้าไปก็มีหลายระดับ ซึ่งบางครั้งเป็นทีมกู้ภัย แต่...หากเป็นทีมกู้ชีพขั้นสูง ก็จะสามารถนำส่งไปย้งจุดรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการนำส่งอย่างถูกต้อง โดยมีการรักษาเบื้องต้น ต่อการเจ็บป่วย ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลต่อโอกาสรอดของคนเจ็บ”

...

ทุกปี คนไทยโทรหาระบบฉุกเฉิน ต่อปี 1.8-19 ล้านครั้ง

สำหรับแต่ละปี มีคนไทยโทรหาในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นตัวเลขกว้างๆ ราว 1.8-1.9 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งขั้นตอนแรก คือการคัดแยกระดับความเจ็บป่วยทางโทรศัพท์ จากนั้นก็ประสานจับคู่กับหน่วยทางการแพทย์ใกล้เคียง ที่มีศักยภาพเพียงพอ หลังจากนั้นก็มีการประสานงานเพื่อส่งโรงพยาบาล ส่วนเหตุที่แจ้งเข้ามามากที่สุด คือ การขอความช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วไป


อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางรัฐบาลพยายามทำให้ ระบบการช่วยเหลือเป็นเบอร์เดียว (single emergency number) โดยประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเจอเหตุฉุกเฉิน เพียงเบอร์เดียวคือ 191 โดยเมื่อโทรแล้ว ก็จะมีการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที ซึ่งทาง สพฉ. เอง ก็กำลังทำระบบการเชื่อมต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จากระบบระยะสนเทศที่มีการพัฒนาขึ้น เราก็เตรียมที่จะขยายช่องทางอื่นๆ เช่น แอปพลิเคชัน หรือ auto device ต่างๆ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนอัตโนมัติ ก็จะทำให้แจ้งเข้าสู่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ดีขึ้น

ไม่ว่าประชาชนคนไทย พบเจอคนเจ็บป่วยฉุกเฉิน การแจ้งเหตุเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การช่วยเหลือขั้นต้นเป็นสิ่งจำเป็น ส่งผลต่อการรอดชีวิตได้ โดยอยากให้คนไทยสนใจเข้าใจการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น การใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญ คือ หากทีมที่เข้าช่วยเหลือประสบปัญหา ก็สามารถร้องเรียนมาได้ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะเป็นหน้าที่ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกคน

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ