เป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องการดื่มปัสสาวะ หลังมีข่าวการจับกุมชายชรา อ้างตัวเป็น “พระบิดา” ทุกศาสนา และหลังจากนั้นไม่นาน มีลูกศิษย์ พระเกจิดังในภาคอีสาน ดื่มปัสสาวะโชว์สื่อมวลชน ที่เข้าไปตรวจค้นวัด แต่ในทางการแพทย์ ยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงประโยชน์ในการดื่มปัสสาวะ และอาจสร้างผลร้ายให้กับสุขภาพได้
บุคคลรายหนึ่ง ไม่ขอเปิดเผยตัวเคยศึกษาวิจัยเรื่องการดื่มปัสสาวะ ให้ข้อมูลว่า จากการเข้าไปศึกษาการดื่มปัสสาวะของพระภิกษุในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และสันติอโศก จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานาน โดยผู้ที่เชื่ออ้างถึงแนวทางพุทธศาสนา เกี่ยวกับ “นิสัย 4” การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เพื่อรักษาโรค จากการนำฉี่มาดื่ม มีทั้งของตัวเองและของผู้อื่น
ตัวอย่างของสันติอโศก พอรุ่งเช้าจะมีขันมารองปัสสาวะคนละใบ ฉี่ที่ใช้จะเป็นช่วงกลาง หลังจากปัสสาวะแรกออกมา เพราะเชื่อว่า ฉี่ช่วงต้น มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยดื่มแบบสดๆ หรือบางคนใช้ทั้งดื่มและอาบ ด้วยการราดตั้งแต่หัวจรดเท้า ขณะที่บางคนใช้ปัสสาวะทาบริเวณผิวหนังที่มีผื่นคัน
...
กลุ่มคนที่วิจัย จะทานแต่ผักและผลไม้ โดยละเว้นเนื้อสัตว์ ที่มีความเชื่อว่า ฉี่ที่ออกมาจะไม่เหม็น แต่มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำชา ส่วนตัวได้ทดลองชิม หลังจากที่ตนเองงดทานเนื้อสัตว์ พบว่า ฉี่ที่ดื่มเป็นไปตามคำบอกเล่า
ภิกษุสายวัดป่าบางรูป นำฉี่ไปดองในโหลที่มีผลสมอ พอจะทาน ก็นำผลสมอมาทานได้เลย หรือนำผลสมอไปตากแดดก่อน แต่บางทีก็ดื่มปัสสาวะที่ดองในโหลเข้าไปด้วย รูปแบบการใช้แตกต่างกันไปตามความเชื่อ แต่มีภิกษุบางรูป ดื่มปัสสาวะของพระเกจิ ที่ตนเองนับถือ เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคล แต่ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจติดเชื้อจากผู้อื่นได้
"จึงอยากเตือนว่า การดื่มฉี่ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ข้อมูลทางการแพทย์ยังไม่มีการรับรอง ดังนั้นไม่ควรทำตาม เพราะหลังจากเผยแพร่งานวิจัยในเรื่องนี้ ก็ถูกสังคมมองถึงความเหมาะสม จนถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในยุคนั้น ตรวจสอบเนื้อหาการวิจัย และยังยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจ และไม่ได้เชิญชวนให้ผู้อื่นทำตาม"
"นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย" อธิบดีกรมอนามัย ให้ความเห็นว่า การให้ดื่มฉี่ถือเป็นการผิดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข สิ่งที่น่าห่วงคือ สุขอนามัยของผู้ที่ดื่มตามความเชื่อศรัทธา เนื่องจากการกินของเสีย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคล แม้ปัสสาวะจะผ่านการกรองออกจากร่างกาย แต่ไม่ควรนำไปดื่ม ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับเสมหะที่ขับออกมา เป็นกลไกการดักจับเชื้อโรคของร่างกาย เมื่อดื่มไปนานๆ อาจสร้างผลเสียกับร่างกายในระยะยาว
ข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ปัสสาวะมีความเป็นกรด หากดื่มขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดผลเสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้ มีโอกาสได้รับสารอนุพันธ์ของตัวยา กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เพิ่มความเสี่ยงต่อการสะสมยาในร่างกายมากเกินไป การดื่มน้ำปัสสาวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ที่สำคัญคือ ทำให้มีการสะสมของเสีย กลับเข้าไปหมุนเวียนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่แนะนำให้ปฏิบัติ.